การตั้งครรภ์ตลอดจนการดูแลลูกน้อยตั้งแต่วัยทารกจนเติบโตพอที่จะดูแลตัวเองได้นั้นเป็นหน้าที่รับผิดชอบอันใหญ่หลวงของพ่อแม่ ด้วยเหตุนี้หญิงหลังคลอดจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า
เป้าหมายในชีวิตของคุณผู้หญิงหลาย ๆ คนนอกเหนือจากการเรียนจบและมีหน้าที่การงานที่ดี คงหนีไม่พ้นการสร้างครอบครัวที่มั่นคง และการมีลูกก็เป็นของขวัญสุดล้ำค่าที่หลายคนมองว่าเป็นการเติมเต็มความสุขของครอบครัว
อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ตลอดจนการดูแลลูกน้อยตั้งแต่วัยทารกจนเติบโตพอที่จะดูแลตัวเองได้นั้นเป็นหน้าที่รับผิดชอบอันใหญ่หลวงของพ่อแม่ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ต้องปรับตัวอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วงหลังคลอด ที่ต้องดูแลลูกที่ยังเป็นทารกอย่างใกล้ชิดจนแทบไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ด้วยเหตุนี้หญิงหลังคลอดจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า
เมื่อรู้ว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและเตรียมการรับมือจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณแม่และคุณพ่อมือใหม่ทุกคนเพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงของอาการซึมเศร้า โดย พญ.จันทร์อาภา สุขทัพภ์ จิตแพทย์สถาบันราชานุกูล บอกว่าผู้ป่วย “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” มีอาการไม่ได้แตกต่างจากโรคซึมเศร้าทั่วไป คือ มีอาการเบื่อหน่าย ท้อแท้ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายอย่าง คือ 1. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ 2. พื้นฐานด้านจิตใจของมารดา เช่น เป็นคนวิตกกังวลกับเรื่องต่าง ๆ ง่าย ความเครียด ทัศนคติ ความคาดหวังต่อการตั้งครรภ์ 3. สิ่งแวดล้อมและคนใกล้ชิด เช่น สถานภาพการสมรส ความสัมพันธ์กับคนรัก เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือไม่ ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวญาติ พี่ น้อง รวมถึงระดับเศรษฐานะเป็นอย่างไร ซึ่งในกลุ่มประเทศประชากรมีรายได้ต่ำจะมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้มากกว่าประเทศที่รายได้สูงประมาณ 4 เท่า
“ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นภาวะที่พบได้ประมาณ 10-20% ของหญิงหลังคลอด ส่วนใหญ่มีอาการในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ช่วงที่อาการรุนแรงที่สุดอยู่ในช่วง 3 เดือนแรก โดยเสี่ยงทำร้ายตัวเอง รวมถึงการฆ่าตัวตายด้วย”
อย่างไรก็ตาม ภาวะซึมเศร้าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคนเป็นแม่เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อลูกที่เพิ่งเกิดด้วย โดยสถิติพบว่าคุณแม่ซึมเศร้าหลังคลอดมีความคิดทำร้ายลูกตัวเองสูงถึง 41% และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กมาก โดยเฉพาะพัฒนาการทางด้านภาษา เนื่องจากว่าแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าจะมีอาการเบื่อหน่าย อ่อนเพลียหรือรู้สึกวิตกกังวลง่าย
พญ.จันทร์อาภา ระบุว่า ที่กล่าวมานั่นคือปัญหาและสาเหตุ แต่เมื่อเรารู้อย่างนั้นแล้วจึงสามารถป้องกันความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการวางแผนครอบครัว ดูแลซึ่งกันและกันก่อนจะตั้งครรภ์ก็จะดีมาก เมื่อตั้งครรภ์แล้วต้องมีการฝากครรภ์และดูแลครรภ์อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้มีต้นทุนหลังคลอด
ครอบครัวและคนรอบข้างจะเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยให้คุณแม่สามารถก้าวผ่านความซึมเศร้าหลังคลอดได้โดยเข้าใจว่าอารมณ์ของคุณแม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงนี้ ช่วยดูแลลูกเพื่อให้คุณแม่มีเวลาพักผ่อนและดูแลสุขภาพของตัวเองบ้าง ตัวคุณแม่ก็สามารถดูแลตัวเองได้โดยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง การพูดคุยหรือเล่นกับลูกจะช่วยส่งเสริมสัมพันธภาพกับลูกแล้วยังลดปัญหาพฤติกรรมของเด็กได้อีกด้วย นอกจากนี้คุณแม่ควรหาเวลาพูดคุยหรือทำกิจกรรมกับคนอื่นๆในครอบครัวบ้าง เพื่อระบายความรู้สึกและเปิดโอกาสให้คนรอบข้างได้ช่วยเหลือ แบ่งเบาความกังวลของคุณแม่
อย่างไรก็ตามถ้าสังเกตพบมีอาการสุ่มเสี่ยง เช่น หงุดหงิดง่าย อารมณ์เปลี่ยนแปลง ต้องมีการดูแลพิเศษ หรืออาจจะต้องพบจิตแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยา หรือให้การรักษาเพิ่มเติม.
--------------------------------------
อภิวรรณ เสาเวียง.... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/650926