รู้ทัน!! ภัยใกล้ตัวเด็กช่วงฤดูฝน

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
         เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัวสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับความชุ่มฉ่ำของสายฝนที่โปรยปรายลงมาสู่ผืนดิน คืออันตรายที่มักแฝงมาอย่างคาดไม่ถึง ทั้งอันตรายที่เกิดจากฟ้าผ่า ไฟรั่ว ไฟดูด ถนนลื่น น้ำท่วม และการขุดบ่อกักเก็บน้ำ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่สามารถสร้างอันตรายแก่เด็กทุกช่วงวัยได้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถึงภัยอันตรายเหล่านี้     
          เรื่องนี้มีคำแนะนำและข้อห่วงใยที่น่าสนใจจาก รศ.นพ.อดิศักดิ์  ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนจัดการความปลอดภัยในเด็ก สสส. และ ผอ. ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โดยรศ.นพ.อดิศักดิ์  กล่าวว่า ช่วงหน้าฝนนั้นมักมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้บ่อย ซึ่งสาเหตุการตายของเด็กอันดับหนึ่งยังคงเป็นปัญหาเรื่องการจมน้ำ โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งนอกจากอันตรายจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติแล้ว น้ำฝนที่ตกมาในปริมาณมากก็อาจกลายเป็นบ่อน้ำขังตามที่ต่างๆ กลายเป็นแหล่งน้ำใหม่ใกล้ชุมชนขึ้นมา ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองควรเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลบุตรหลานให้มากยิ่งขึ้น เพราะเด็กยังแยกแยะเองไม่ได้ว่าจุดไหนควรหลีกเลี่ยงโดยเฉพาะแหล่งน้ำใหม่ๆ ที่เด็กไม่รู้จัก
  5 วิธีป้องกันเหตุเด็กจมน้ำ
          หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ยังแนะนำวิธีการป้องกันเหตุเด็กจมน้ำเสียชีวิตด้วยการจัดสอนทักษะความปลอดภัยทางน้ำให้กับเด็ก ซึ่งมี 5 วิธี คือ 1.รู้จุดเสี่ยง สอนให้เด็กสามารถสังเกตและทราบถึงจุดเสี่ยง อาทิ บ่อน้ำที่ไม่ทราบความลึก แหล่งน้ำไหลเชี่ยว 2.ฝึกการลอยตัวให้ได้อย่างน้อย 3 นาที 3.ว่ายน้ำให้ได้ 15 เมตร 4.ช่วยเพื่อนถูกวิธีด้วยการ ตะโกนให้ผู้ใหญ่ช่วยโยนสิ่งของให้เกาะ ยื่นสิ่งของให้จับเพื่อดึงเข้าฝั่ง และ 5.การใช้ชูชีพกรณีที่เดินทางน้ำ โดยควรให้เรียนรู้ทักษะเหล่านี้ไว้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับเด็กได้
อุบัติเหตุการขับขี่มหันตภัยของเด็กโต
          รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกต่อว่า สาเหตุต่อมาของการตายของเด็กอันดับ 2 ที่พบมากในช่วงหน้าฝนคือ อุบัติเหตุจากการจราจรบนท้องถนน เนื่องจากเป็นช่วงที่พื้นผิวถนนเฉอะแฉะและลื่นง่ายทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะอาจเสียหลักในการควบคุมรถจนเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ โดยในกรณีนี้นั้นมักเกิดขึ้นกับเด็กโตเป็นส่วนใหญ่คือ ตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งผู้ปกครองมีส่วนที่จะป้องกันได้โดยต้องไม่ยอมให้เด็กนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไปขับทั้งที่อายุยังไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุอีกทางหนึ่ง
“ไฟดูดไฟรั่ว”อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
          รศ.นพ.อดิศักดิ์ บอกอีกว่า อันตรายที่เกิดจากไฟดูด ไฟรั่ว และไฟฟ้าลัดวงจรนั้น ถือเป็นสาเหตุอันดับ 3 ที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งมักจะเกิดกรณีกระแสไฟรั่วตามเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น ตู้ทำน้ำเย็นสแตนเลสในโรงเรียน ที่จะต้องมีการต่อสายดินเอาไว้ด้วยเสมอ เพื่อป้องกันเหตุไฟดูดเมื่อเด็กไปดื่มน้ำ นอกจากนี้ควรติดตั้งเครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติเพิ่มเติมทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านด้วย
เรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองจาก“ฟ้าผ่า”
          รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับสาเหตุอื่นที่ผู้ปกครองควรพึงระวังนั้น ได้แก่อุบัติเหตุจากฟ้าผ่าซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในช่วงหน้าฝน โดยสถิติการเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่าในแต่ละปีพบว่า มีจำนวนกว่า 50 คนซึ่งเป็นเด็กถึง 10-15 คนต่อปีเลยทีเดียว ดังนั้นเด็กจะต้องได้รับการสอนเพื่อเตือนภัยตัวเองว่า หากช่วงฝนตกหนักแล้วเกิดมีฟ้าแลบหรือฟ้าร้อง เด็กจะต้องหยุดเล่นกิจกรรมกลางแจ้งทุกอย่างทันทีและจะต้องรีบหลบเข้าไปอยู่ภายในตัวอาคารหรือภายในบ้าน และไม่ควรไปหลบตามใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือกระต๊อบกลางทุ่งนาเพราะไม่ใช่ที่หลบภัยที่ถูกต้อง
          นอกจากนี้ขณะที่ฝนกำลังตกอยู่นั้นแม้จะอยู่ภายในบ้านก็ยังต้องคอยระวังเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องที่ทำจากวัตถุที่เป็นโลหะแล้วมีส่วนที่ต่อยื่นออกไปนอกตัวบ้าน ซึ่งเด็กต้องรู้ว่าไม่ควรไปหยิบหรือสัมผัส เพราะอาจได้รับกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายได้หากเกิดมีฟ้าผ่าลงมาพอดี
          ขอเพียงผู้ปกครองใส่ใจคอยหมั่นย้ำเตือนให้บุตรหลานได้รู้เท่าทันภัยอันตราย ไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยง เพียงเท่านี้ก็เป็นการลดความเสี่ยงของอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงหน้าฝนนี้ลงไปได้ไม่มากก็น้อย...
 
 
          เรื่องโดย : นายฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th


  View : 3.12K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 98
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 6,765
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 43,482
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 836,133
  Your IP : 3.144.48.72