สร้างสื่อดี-เท่าทันสื่อร้าย เพื่อสุขภาวะทางเพศ

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

         สังคมปัจจุบันมีความเจริญทางด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ จนทำให้คนเราสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว และทำให้วัยเด็กหรือวัยรุ่นเข้าไปเกี่ยวข้องกับสื่อทางเพศด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องเพศกับวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
       “สื่อทุกประเภทมีทั้งข้อดีข้อเสีย ซึ่งสื่อดีจะต้องมุ่งพัฒนาสุขภาวะทั้งในด้านจิตใจและปัญญา ขณะเดียวกัน ต้องโน้มนำสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตสื่อ และสร้างสื่อกระตุ้นให้พูดคุยเรื่องเพศในครอบครัวให้มากขึ้นอีกด้วย” สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “สื่อสร้างสรรค์ สร้างสุขภาวะทางเพศ” ในงาน “การประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 1
        สุพัฒนุช อธิบายเพิ่มเติมว่า เยาวชนในปัจจุบันเข้าถึงสื่ออย่างง่ายดาย การทำสื่อสร้างสรรค์เรื่องเพศ ถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายเพราะเป็นเรื่องที่มีหลายมุมมองทั้งจากเยาวชน, ผู้ปกครอง, ครู-อาจารย์ ฯลฯ ซึ่งแต่ละบริบทล้วนมีมุมมองที่แตกต่างกัน จึงมีข้อถกเถียงกันค่อนข้างมากว่า สื่อที่จะผลิตออกมาสอนเรื่องเพศแก่วัยรุ่นควรจะมีรูปแบบอย่างไร เพราะคนทำสื่อสามารถสร้างสรรค์ “สื่อ” ที่ให้ผลด้านบวกกับสังคมได้
         การสร้างสรรค์สื่อต้องให้ความสำคัญเข้าใจความสนใจของเด็กตามวัยว่ามีอะไรบ้าง ควรเป็นสื่อที่มีความบันเทิงควบคู่ไปกับสาระ แต่ต้องไม่รุนแรง ช่วยเสริมศักยภาพการพัฒนา เด็กทั่วไปอยากรู้ว่าร่างกายทำงาน เปลี่ยนแปลงไปตามวัยอย่างไร เรื่องเพศและระบบสืบพันธุ์ การป้องกัน หรือผลกระทบจากการมีเพศสัมพันธ์คืออะไรบ้าง สื่อที่ดีจะต้องให้คำตอบที่เหมาะกับวัยและวุฒิภาวะของเด็ก หลีกเลี่ยงการทำให้เพศให้เป็นเรื่องลึกลับ น่าอับอาย หรือสร้างความสับสน
        “เราต้องปลูกฝังวิจารณญาณในการรู้เท่าทัน และเปิดช่องทางให้เด็กได้คิดและแสดงความเห็น อีกประเด็นคือการให้ความรู้เรื่องสิทธิส่วนบุคคล และขอบเขตการสื่อสารตามกฎหมายว่าการผลิตตัดต่อและเผยแพร่เนื้อหาลามกอนาจารล้วนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย”
        สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันสื่อทางเพศกับเยาวชน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม ให้มุมมองว่า ควรเริ่มจากพ่อแม่ที่ต้องให้เวลากับลูกมากขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้พวกเขามีวิจารณญาณในการคัดสรร และตัดสินใจเลือกเสพสื่อในสิ่งที่ควร
       “พ่อแม่ควรใส่ใจและให้ความสำคัญกับพวกเขาในโลกแห่งความเป็นจริง ต้องเปิดใจพูดคุยด้วยเหตุผล และให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศศึกษา รวมถึงปรับเปลี่ยนทัศนคติว่า “เพศศึกษา” ไม่ใช่ “เพศสัมพันธ์” เป็นเรื่องที่พูดคุยกับลูกได้ ไม่จับผิด แสดงท่าทางหรือพูดกดดันให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ผิด นอกจากนี้ พ่อแม่ยังควรเป็นแม่แบบในเรื่องการวางตัวที่ดีให้แก่ลูกด้วย เพราะพฤติกรรมการปฏิบัติตัวของพ่อแม่มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก”
        ท้ายสุด สุพัฒนุช ย้ำว่า การสอนเด็กให้เท่าทันสื่อเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และซับซ้อนมาก พ่อแม่ควรนั่งวิเคราะห์ร่วมกับลูกอยู่เสมอ
       “การรับสื่อจะต้องหาข้อมูลจากหลายๆ ด้านอย่ารับข้อมูลเพียงด้านเดียว และควรติดตามสื่อและเปิดรับสื่ออย่างหลากหลายทั้งสื่อดี และไม่ดีเพื่อให้เห็นความแตกต่าง รู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะอย่างเหมาะสม”
        อาจเปรียบได้กับสำนวน เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม อยู่ในยุคของการสื่อสารที่ “สื่อ” มีบทบาทมาก ก็ต้องเรียนรู้ให้เท่าทัน และรู้ป้องกันตัวเอง
        เพราะไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ “พ่อแม่” ก็ได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน
 
 
    เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th


  View : 13.60K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 455
 เมื่อวาน 1,566
 สัปดาห์นี้ 10,508
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 47,225
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 839,876
  Your IP : 173.252.127.113

ookie.notice.js">-->