สอนเด็กรู้ทันสื่อ พ่อแม่คือจุดเริ่มต้น

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

           ใช่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่เป็น “มนุษย์ก้มหน้า” ติดโทรศัพท์มือถือ และติดโทรทัศน์ หากแต่ลูกหลานเยาวชนไทยปัจจุบัน ต่างก็กำลังเจริญรอยตามกันมาติดๆ
           และนั่นคงไม่ดีแน่ หากพวกเขา รู้ไม่เท่าทัน “สื่อ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตลาดในรูปแบบ “โฆษณา” ตามสื่อต่างๆ
         ชวนทำความเข้าใจ “สื่อ” คือ?
           โดยทั่วไป เมื่อพูดถึง “สื่อ” เรามักจะเข้าใจว่าเป็นสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรืออินเทอร์เน็ต แต่ความเป็นจริงแล้ว นัยความหมายของ “สื่อ” มีมากกว่านั้นมาก
           “สื่อ” มีความหมายกว้าง ไม่ได้หมายถึงโทรทัศน์ วิทยุ หรืออินเทอร์เน็ตเท่านั้น หากแต่หนังสือ นิทาน เพลง ตัวกิจกรรม ตัวบุคคล พื้นที่ดีๆ สิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก ก็ล้วนแต่เป็น “สื่อ” กระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้ คือคำเกริ่นอธิบายสั้นๆ ของ เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.)
          “ฉะนั้น อันดับแรกจึงจะต้องดูว่า ในแต่ละช่วงวัยของเด็ก มีอะไรบ้างที่จะดึงดูดความสนใจ และสามารถสร้างการเรียนรู้ที่สมองของเด็กจะรับรู้และเรียนรู้ได้ อย่างการหาเพลง รายการโทรทัศน์ ถ้ามันสอดคล้องกับวัย มีความน่าสนใจ เด็กๆ ก็จะเปิดการเรียนรู้ ทีนี้เนื้อหาของ “สื่อ” ที่มี ช่วยส่งเสริมการคิด และสร้างจินตนาการการเรียนรู้ให้กับเด็กอย่างไรบ้าง หาก “สื่อ” นั้นทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ แยกแยะ การแสวงหาสิ่งดีๆ เพิ่มขึ้นได้ สื่อนั้นก็นับเป็นสื่อสร้างสรรค์” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) อธิบาย
  
      ผลกระทบจาก “สื่อ” ปัจจุบัน
           เข็มพร ให้ข้อมูลต่อว่า ทุกวันนี้เด็กใช้เวลาอยู่กับสื่อวันละ 3-5 ชั่วโมง บางกรณีถ้าเป็นวันหยุดก็อาจจะวันละ 5-8 ช.ม. เมื่อนำมารวมกัน จะพบว่าเด็กใช้เวลาอยู่กับ “สื่อ” มากกว่าอยู่ในห้องเรียนหรือครอบครัว และเมื่อ “สื่อ” เข้าถึงวิถีชีวิตของเด็กได้มากเช่นนี้  ย่อมมีผลกระทบในหลายด้าน
           “การที่เด็กนั่งอยู่กับโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือมือถือเป็นเวลานานๆ จะทำให้พวกเขาขาดกิจกรรมทางกาย ซึ่งเป็นเหตุให้มีปัญหาทางด้านสุขภาพ ส่วนทางด้านจิตใจและทัศนคติจะทำให้เด็กมีปัญหา เริ่มขาดการเข้าสังคมเพราะเขาจะอยู่กับตัวเอง ทำให้ขาดกิจกรรม และขาดการสร้างจินตนาการ นานไปจะพบว่าเด็กเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะขาดความตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ โดยมีงานวิจัยของอเมริกาเห็นได้ชัดว่า เด็กที่ใช้เวลาอยู่กับสื่อ การรู้คุณค่าของตัวเองจะต่ำลง เกิดอาการกังวลในความสวยงาม รูปลักษณ์และรูปร่างของตัวเอง จนต้องวิ่งตามสื่อตลอดเวลา ทำให้เด็กไม่มีความสุข”
ด้าน นงนุช ใจชื่น นักวิชาการแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวเสริมว่า หลักฐานทางวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศพบว่า ร้อยละ 31.2 ของเยาวชนใช้ช่วงเวลาดูโทรทัศน์เป็นช่วงเวลาที่บริโภคขนมขบเคี้ยวมากที่สุด
          “ใน 1 ช.ม. หากเด็กพบเจอภาพซ้ำกัน 4 ครั้ง จะมีผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมทำให้เด็กเกิดความอยากได้ โดยเด็กที่สามารถจดจำยี่ห้ออาหารได้ จะมีความชื่นชอบ ความต้องการซื้อ และบริโภคอาหารเพิ่มมากขึ้นด้วย การโฆษณาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคของเด็กซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพตามมา เช่น การติดหวานจนกลายเป็นโรคอ้วน ส่งผลให้เด็กหงุดหงิดง่าย สมาธิสั้น การทำงานของหัวใจและปอดล้มเหลว เกิดความผิดปกติของระบบเผาผลาญซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคข้อเสื่อม” นงนุชให้ข้อมูล
เปลี่ยน “สื่อ” หรือ “ใคร” ที่ต้องร่วมแก้ไข
         “ทุกคนในสังคมต้องร่วมมือและช่วยกันแก้ไขปัญหา” นักวิชาการสาวให้ความเห็น พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พ่อแม่มีบทบาทสำคัญมากที่เป็นแบบอย่างสำหรับเด็ก ดังนั้น ควรใช้เวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกับลูก เช่น ไปปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือมีเวลาสำหรับการพักผ่อนร่วมกัน พากันไปเที่ยว ไปสวนสนุก สวนสัตว์ พิพิธภัณฑ์ หรือหากเด็กดูโทรทัศน์ พ่อแม่ผู้ปกครองควรนั่งดูร่วมกับลูกด้วย
          “ด้านครูหรืออาจารย์ ก็ควรจะจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับสื่อ โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และกลยุทธ์ของการโฆษณา เพื่อส่งเสริมให้เด็กรู้เท่าทันการโฆษณา ส่วน “สื่อ” เองก็ไม่ควรอาศัยความอ่อนประสบการณ์ของเด็กมาเป็นเครื่องมือทำการตลาด และภาครัฐเองควรการเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจสอบโฆษณาก่อนทำการตลาด มีกลไกกำกับดูแลการโฆษณาที่ปฏิบัติได้จริง” นงนุชอธิบาย
         พ่อแม่รู้ใช้ “สื่อ” อย่างเท่านั้น
          การมีสื่อดีย่อมมีประโยชน์และประโยชน์นั้นย่อมเพิ่มขึ้นทบทวีคูณ หากรู้จักเลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสมตามช่วงวัยของเด็ก“ครอบครัว” สถาบันทางสังคมที่เล็กที่สุด จึงไม่อาจหลีกหนีจาก “หน้าที่” ในการสร้างและร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้
          แม้เราจะเดินตามความทันสมัย แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “สื่อ” กลุ่มสมาร์ทเทคโนโลยีและสื่อบันเทิงต่างๆ เป็นสิ่งที่ควรจะนำมาใช้เลี้ยงดูลูกหลานอย่างระมัดระวัง และไม่ควรอย่างยิ่ง หากจะนำมาใช้เพียงเพื่อหลอกล่อให้เด็กอยู่นิ่งๆ กินข้าวง่ายๆ
          “ถ้าเข้าใจธรรมชาติของเด็ก เราจะทราบว่าการเล่นคือการเรียนรู้ที่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการครบทุกด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จินตนาการ และการอยู่ร่วมกับคนอื่น ฉะนั้นจึงควรจะต้องจัดเวลาให้เด็กๆ ได้เล่นอย่างเหมาะสม เพราะอาการที่เขาดื้อ ซน  หรือมีกิจกรรมทางกาย ก็นับเป็นหนึ่งการเรียนรู้ที่ผู้ปกครองไม่ควรคิดหาวิธีแค่ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กนิ่ง แต่ควรจะต้องส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ หรือมีวิธีที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเขา
           การใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กคือ เป็นการปัดพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ดีหลายอย่างในเด็กออกไป เด็กเล็กๆ ไม่ควรจะอยู่กับเทคโนโลยี ยิ่งเด็กเล็กที่ต่ำกว่า 3 ขวบ ควรจะต้องได้ฟังนิทาน ได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ ได้เล่นกับพ่อแม่ ได้ออกไปสัมผัสธรรมชาติแล้วเรียนรู้จากของจริง ถ้าพ่อแม่บอกว่าไม่มีเวลา ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างก็มีเวลาเท่ากัน เพียงแต่เรามักจะให้เวลากับสิ่งสำคัญ ซึ่งถ้าพ่อแม่หรือผู้ปกครองคิดว่าการพัฒนาลูกหลานเป็นสิ่งสำคัญ ก็น่าจะจัดสรรเวลามาทำให้ช่วงเวลาสั้นๆ ที่มี เป็นเวลาคุณภาพสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้กับลูก” ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนกล่าวสรุป

 

 เรื่องโดย : ชัชวรรณ ปัญญาพยัตจาติ


  View : 2.69K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,991
 เมื่อวาน 3,587
 สัปดาห์นี้ 9,536
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 28,943
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 821,594
  Your IP : 3.133.108.48