แถลงข่าวชี้แจงกรณีจากกระแสสังคมออนไลน์เกี่ยวกับความเข้าใจผิดในบุคคลออทิสติก

ผลิตและเผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

 height=

      จากเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา มีการส่งต่อข้อความรูปภาพทางสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook)  โดยมีข้อความ "พี่คะ พี่ตัวโต ก้นใหญ่ แต่ใจเล็กมากๆๆ น้ำใจหาไม่ได้ในสังคมไทยแล้ว คนยืนกันเต็ม BTS พี่นั่งคนเดียว 2 ที่เลย ขนาดบอกแล้วนะว่า ขยับที่ให้หน่อย พี่ตอบกลับมาว่า ขยับไม่ได้แล้ว วางของอยู่  เงิบเลยค่ะ ยืนดูเค้านั่งคุยโทรศัพท์กับเพื่อนต่อไป.....สวัสดี"
ซึ่งทางสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต  ประกาศแจ้งผ่าน
Fanpage Facebook : Rajanukul Institute เพื่อชี้แจ้งและขอความร่วมมือให้หยุดแชร์ภาพและข้อความดังกล่าว เนื่องจากบุคคลนั้นเป็นผู้ป่วยออทิสติกที่รับการรักษา อยู่ที่สถาบันราชานุกูล
      ต่อมาได้เกิดคำถามมากมายจากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการแสดงออกทางทัศนคติส่วนบุคคลและความเข้าใจผิดในกลุ่มอาการออทิสติก
      วันนี้(7ส.ค.57) เวลา 13.30 น. สถาบันราชานุกูล จัดแถลงข่าวชี้แจง “กรณีจากกระแสสังคมออนไลน์เกี่ยวกับความเข้าใจผิดในบุคคลออทิสติก”
      แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากความไม่เข้าใจในบุคคลที่มีภาวะออทิสติกเนื่องจากการแสดงออกบางครั้งของเด็กพิเศษดูไม่เหมาะสม  สถาบันราชานุกูลขอเรียนให้ทุกท่านได้ทราบว่าบุคคลออทิสติกมีความบกพร่องทางด้านทักษะทางสังคม และการต่อว่าโดยตรงกับบุคคลออทิสติกนั้นไม่เหมาะสม ควรสื่อสารทางบวกกับเค้า เช่น หนูค่ะเก้าอี้มี 2 ตัว หนูนำของมาวางไว้บนตัก แล้วเขยิบให้พี่นั่งนะคะ และชื่นชมว่าเก่งจังเลย เป็นเด็กดีมีน้ำใจ ให้บุคคลออทิสติกรู้สึกมีความภาคภูมิใจ และเกิดการจดจำในสิ่งดีๆที่ควรปฏิบัติเนื่องจากเกิดการยอมรับ
       แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อถึงประเด็นทางกระแสสังคมออนไลน์ที่ว่า ผู้ป่วยออทิสติกจะทำร้ายผู้อื่นหรือไม่นั้น โอกาสที่บุคคลออทิสติกจะก่อความรุนแรงมีน้อยกว่าคนปกติ  มีหลักฐานทางวิชาการพบว่าบุคคลออทิสติกเคารพกฎหมายมากกว่าบุคคลปกติ  โดยอยู่ภายใต้บุคคลที่คอยดูแล อบรม เฝ้าระวัง และคอยให้คำแนะนำว่าสิ่งไหนดี-ไม่ดี หรือ ควรทำ-ไม่ควรทำ
        ในประเด็นที่ว่า “ผู้ป่วยพิเศษ” น่าจะมีสัญลักษณ์แสดง เช่น ป้ายคล้องคอ สายรัดข้อมือ พญ.อัมพร ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การให้สังคมรับรู้ว่าบุคคลนี้เป็นเด็กพิเศษจะเป็นตราบาปกับผู้ป่วยเองที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้การยอมรับในสังคม
        อาจารย์ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้สังคมมองเด็กพิเศษใน 4 ประเด็นนี้
 ประเด็นแรก มองว่าไม่มีใครอยากเป็นเด็กพิเศษ แต่เมื่อเป็นแล้วเด็กพิเศษก็ต้องการการพัฒนาตนเองรวมถึงการเรียนทักษะต่างๆในการดำรงชีวิตในสังคม
ประเด็นที่สอง ปัจจุบันเกิดความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการช่วยเหลือดูแลบุคคลที่มีความพิการ/เด็กพิเศษ เช่น การอำนวยความสะดวกในเรื่องของการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น
ประเด็นที่สาม ในฐานะพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ เกิดความกังวลที่ลูกต้องใช้ชีวิตในสังคมได้ ไม่ใช่ในพื้นที่จำกัด ห้องที่มีแต่เด็กพิเศษอยู่รวมกัน ต้องการส่งเสริมให้บุคคลพิเศษพึ่งพาตัวเองได้เช่นเดียวกับบุคคลปกติ

ประเด็นที่สี่ การสร้างโอกาสในการจ้างงานให้เด็กมีรายได้จากการประกอบอาชีพ เมื่อเปรียบเทียบกับคนพิการทางร่างกายแล้ว เด็กพิเศษจะได้รับโอกาสการจ้างงานน้อยกว่าคนพิการทางร่างกาย จึงเห็นด้วยกับโครงการจ้างงานบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาของสถาบันราชานุกูลที่ให้โอกาสเด็กพิเศษได้เรียนรู้สังคมของการทำงาน การมีรายได้ และฝึกทักษะทางสังคมให้กับเด็กพิเศษ นำไปสู่การจ้างงานในอนาคต ซึ่งปัจจุบันเด็กโครงการจ้างฯของสถาบันราชานุกูล ได้รับโอกาสในการเข้าทำงานจากหน่วยงานเอกชน
      
      สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของบุคคลที่มีความบกพร่องไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย หรือสติปัญญา คือ การที่สามารถใช้ชีวิตในสังคมโดยการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่สถาบันราชานุกูล รวมถึง มูลนิธิออทิสติกไทย รวมถึงกลุ่มศักยภาพพลังบวกออทิสติก และอีกหลายหน่วยงานที่ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคคลพิเศษ
   

   สุดท้ายนี้ฝากถึงสังคมทุกสิ่งทุกอย่างอยากให้ดูที่เจตนา และเรียนรู้จักการให้อภัยกันดังนั้นเราก็ต้องส่งเสริมให้บุคคลเหล่านี้พึ่งพาตัวเองให้ได้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ

 

 ข่าว

 ผู้จัดการ  http://w3.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000089638

รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ช่อง 3 http://morning-news.bectero.com/social-crime/06-Aug-2014/22288

  View : 4.41K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 74
 เมื่อวาน 1,346
 สัปดาห์นี้ 136
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 24,071
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 873,239
  Your IP : 51.222.253.1