พิธีเปิดคลินิกวอยตา (Vojta Therapy)

พิธีเปิดคลินิกวอยตา (Vojta Therapy)
วันนี้ (22 ส.ค. 59) เวลา 13.30 น. นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานในพิธีเปิด “คลินิกวอยตา (Vojta Therapy) พร้อมด้วย แพทย์หญิงพรรณ พิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต แพทย์หญิงรัชนี  ฉลองเกื้อกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสารทไวทโยปถัมภ์ และ แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  ร่วมเป็นเกียรติในงานดังกล่าว โดยมีแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลกล่าวรายงาน หลังจากนั้น Mrs. Fionn Bayley จาก สมาคม Inter national Vojta Society ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการบำบัดด้วยเทคนิควอยตา ได้มาถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการบำบัดฟื้นฟูด้านกายภาพด้วยเทคนิควอยตาให้แก่บุคลากรของสถาบันราชานุกูล พร้อมชมวิดีทัศน์และเยี่ยมชมนิทรรศการการให้บริการเกี่ยวกับคลินิกวอยตาของสถาบันราชานุกูล 
เทคนิควอยตา (Vojta Therapy) เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ตรวจประเมินและรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวและการทำงานประสานสัมพันธ์กันของระบบประสาทส่วนกลาง นิยมใช้อย่างแพร่หลายในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  
งานกายภาพบำบัด สถาบันราชานุกูล ให้บริการทางกายภาพบำบัดแก่เด็กที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวเฉลี่ยประมาณ   25 - 30  รายต่อวัน  โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มโรคหลักที่มารับบริการที่สถาบัน ได้แก่ กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม กลุ่มเด็กซีรีบราลพัลซี่  กลุ่มพัฒนาการล่าช้าไม่สมวัย เป็นต้น มีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตและเปิดโอกาสให้เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ได้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ  ทั้งนี้ คลินิกวอยตาจะเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ ถึง พฤหัสบดี  เวลา 8:30 ถึง 15:00 น. และ วันศุกร์ เวลา 08:30 ถึง12:00 น. 
(เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดต่อเนื่อง)
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 02-248-8900 ต่อ งานกายภาพบำบัด 70387-70388
www.rajanukul.go.th
การรักษาด้วยเทคนิควอยตา (Vojta Therapy)
เทคนิควอยตา (Vojta Therapy) เป็นเทคนิคหนึ่งที่ใช้ตรวจประเมินและรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหวและการทำงานประสานสัมพันธ์กันของระบบประสาทส่วนกลาง นิยมใช้อย่างแพร่หลายในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและประเทศในแถบยุโรป และเริ่มเข้ามามีบทบาทในการรักษาเด็กกลุ่มที่มีความบกพร่องของพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2554 โดยมีหลักในการรักษาคือ กระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้การเคลื่อนไหวของร่างกายแบบอัตโนมัติโดยใช้กลไกลที่เรียกว่า “การเคลื่อนไหวแบบรีเฟล็กซ์ (Reflex Locomotion)” เพื่อนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวพื้นฐานของมนุษย์ เช่น การกำมือ การเอื้อม การพลิกตัว การคืบ การคลาน การยืน และการเดิน เป็นต้น โดยไม่ต้องฝึกฝน สามารถกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยความตั้งใจของผู้ถูกกระตุ้น แต่ต้องอาศัยสิ่งเร้าที่ถูกต้องตรงตามเทคนิคการกระตุ้น ประกอบไปด้วยชุดการเคลื่อนไหวอยู่ 2 ชุด เรียกว่า
 “การคืบแบบรีเฟล็กซ์ (Reflex Creeping)” และ “การพลิกตัวแบบรีเฟล็กซ์ (Reflex Rolling)” 
การรักษาด้วยเทคนิควอยตา สามารถทำได้ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ แต่ด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ในทารกแรกเกิด เด็กเล็ก เด็กนักเรียน และวัยรุ่น การรักษามีผลดีต่อกระบวนการเจริญเติบโตโดยสมบูรณ์ของระบบประสาท ในผู้ใหญ่ การรักษาจะชักนำให้ร่างกายดึงท่าทางการเคลื่อนไหวของเดิมที่ปกติมาใช้ โดยมีจุดประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยงผลอื่นที่ตามมา เช่น ความปวด ข้อติด หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง การรักษาผู้ป่วยต้องรักษาให้เหมาะสมกับพื้นฐานโรค ศักยภาพ รวมทั้งข้อจำกัดของแต่ละคนด้วย  
การร้องไห้ของทารกและเด็กเล็กขณะทำการรักษาด้วยเทคนิควอยตา (Vojta Therapy) เป็นเครื่องมือ ของการแสดงออกของเด็กเพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นที่ไม่คุ้นเคยและก่อให้เกิดความเครียด ซึ่งเป็นการแสดงออกที่สำคัญและเหมาะสมของเด็กในช่วงอายุนี้ การกระตุ้นถึงระดับที่ได้ผลดีมักจะทำให้เด็กร้องไห้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเด็กได้รับการกระตุ้นอย่างสมำ่เสมอและต่อเนื่องการร้องไห้จะลดลงและจะหยุดร้องในช่่วงสั้นๆ ก่อนจะจบการรักษา ในเด็กโตที่สามารถพูดแสดงความรู้สึกได้มักพบว่าเด็กไม่ร้องไห้
 
การรักษาด้วยเทคนิควอยตาเหมาะสำหรับ
- ในทารกที่มีปัญหาการประสานสัมพันธ์ของระบบประสาทส่วนกลาง (Central Coordination disturbance)
- ในผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวจากความบกพร่องที่สมอง เช่น ภาวะสมองพิการ (Cerebral Palsy)
- ในผู้ที่แขนขาอ่อนแรงเหตุจากประสาทส่วนปลายผิดปกติ (เช่น Spina bifida, Plexus injury)
- ในผู้ที่มีโรคจากความบกพร่องของกล้ามเนื้อ
- ในผู้ที่มีโรคของกระดูกสันหลัง หรือการเคลื่อนไหวภายในโพรงไขสันหลังถูกจำกัด เช่น สันหลังคด
- ในโรคทางกระดูกที่มีความบกพร่องที่หัวไหล่ แขน ข้อสะโพก และขา โดยเฉพาะในผู้ที่กำลังเจริญเติบโต เช่น โรคเท้าปุก 
- ในผู้ที่มีปัญหาความผิดรูปของข้อสะโพก (ใช้รักษาร่วมกับวิธีอื่น)
- ในผู้ที่มีปัญหาของการหายใจ การเคี้ยว และการกลืน
- ในกลุ่ม Congenital malformation เช่น Osseous scolilsis, Muscle aplasia, Arthogryposis
- โรคคอเอียงในเด็ก (Muscular และ Neurogenic Torticollis)
- ในกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมและความผิดปกติทางโครโมโซมอื่นๆ ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและการทรงท่า
 
กรณีห้ามทำการรักษาด้วยเทคนิควอยตา
- ช่วงที่มีไข้เฉียบพลัน หรือมีอาการอักเสบ
- โรคเฉพาะ เช่น กระดูกเปราะ (Osteogenesis Imperfect)
- โรคมะเร็ง
- หญิงตั้งครรภ์
- หลังจากได้รับวัคซีน ควรหยุด  3-10 วันหรือพักจนกระทั่งอาการที่เกิดขึ้นภายหลังการรับวัคซีนหายไป
- โรคหัวใจ
- ช่วงการให้ยากลุ่มสเตอร์รอยและช่วงปรับยาควบคุมอาการชักในเด็กลมชัก (Epilepsy) เช่น ในกลุ่ม West syndrome
 
ทำการรักษาด้วยเทคนิควอยตาได้แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง
- เด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจ ควรได้รับการเห็นชอบจากแพทย์ผู้ทำการรักษา/แพทย์เจ้าของไข้ก่อนทำการรักษา
- กลุ่มที่ได้รับยา warfarin พบว่ามีเลือดออกง่ายขณะทำการรักษา
- โรคกระดูกบาง (Osteopenia) เช่นผู้ที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวนานๆ พบว่ามีกระดูกเปราะแตกหักง่ายขณะทำการรักษา
- โรคลมชัก (Epilepsy) เมื่อเด็กชักระหว่างทำต้องหยุดทันที ในโรคลมชักที่ถูกการกระตุ้นด้วยการสัมผัสแล้วมีอาการชักห้ามทำการรักษาด้วยเทคนิควอยตา
- เด็กหลับ จะไม่ปลุกขึ้นมารักษา โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นโรคลมชัก

 


Vojta Therapy.pdf

  View : 6.46K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,658
 เมื่อวาน 1,949
 สัปดาห์นี้ 3,656
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 23,063
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 815,714
  Your IP : 54.36.149.58