หนังสือ อาหารสมอง สร้างสรรค์ปัญญา

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

       ‘การอ่านหนังสือ’ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสร้างสรรค์ และส่งเสริมการเรียนรู้ รวมทั้งช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางความคิด อารมณ์ และจิตใจ ให้กับผู้อ่านได้ทุกช่วงวัย

“หนังสืออาหารสมอง”
       นางสุดใจ พรหมเกิด  ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน พูดถึงความสำคัญของการอ่านหนังสือว่า ‘การอ่าน’เป็นรากฐานของกระบวนการทางความคิด และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ซึ่งการสร้างวัฒนธรรมการอ่านเป็นสิ่งที่สมควรปลูกฝังให้กับเด็กและเยาวชน โดยพ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เด็กๆ หันมาสนใจการอ่านหนังสือ ซึ่งการคัดเลือกหนังสือและสร้างเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมกับลูกน้อย พ่อแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการของลูกแต่ละช่วงวัย โดยใช้‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ ที่หมายถึง โอกาสทองในการพัฒนาสมองและลักษณะที่เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งมีความสำคัญต่อลูกน้อยเช่นกัน

“หน้าต่างแห่งโอกาส”    
       นางสุดใจ อธิบายว่า ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ ที่พ่อแม่ช่วยเสริมสร้างของเด็กในช่วงวัย 0-2 ปี จะเป็นเรื่องของความรักความผูกพัน ความไว้วางใจผู้อื่น เมื่อเข้าสู่วัย 3-5 ปี สามารถเสริมสร้างเรื่องของการควบคุมอารมณ์ และรู้จักถูกผิด ส่วนวัย 6-9 ปี ควรเสริมสร้างด้านการเรียนรู้ การเห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัย ประหยัด และรู้จักคุณค่าของสิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์ต่อสังคม
       เมื่อเข้าสู่ช่วงวัย 9-12 ปี เป็นวัยที่เหมาะสมแก่การพัฒนาคุณภาพของสมอง ความคิด ทักษะการใช้ชีวิต การตื่นรู้ทางปัญญา และเมื่ออายุ 12 ปีขึ้นไป สามารถเสริมสร้างด้านค่านิยมเชิงบวก ค่านิยมทางสังคมและทางเพศ ซึ่งการเสริมสร้างหน้าต่างแห่งโอกาสให้กับเด็กอย่างเหมาะสม จะทำให้ลูกน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพและความสุข

“หนังสือกับช่วงวัยที่เหมาะสม”
        “การคัดเลือกหนังสือให้เหมาะสม และเสริมสร้างหน้าต่างแห่งโอกาสให้กับเด็กตั้งแต่  0-6 ปี จะเริ่มจากช่วงวัย 8-10 เดือน สายตาเริ่มทำงานได้แล้ว ควรเลือกหนังสือที่มีลักษณะนุ่ม ปลอดสารพิษ เพราะเด็กวัยนี้จะมองหนังสือเป็นของเล่น จนมีอายุถึง 2 ขึ้นไป จนถึง 6 ปี ควรให้เด็กได้สัมผัสหนังสือที่เป็นรูปเล่ม เลือกหนังสือที่มีภาพมากกว่าคำบรรยาย พ่อแม่อาจสังเกตความชอบของลูกๆ ว่าเขาให้ความสนใจกับอะไรเป็นพิเศษ และหาหนังสือให้สอดคล้องกับสิ่งนั้น” ผู้จัดการแผนงานฯ แนะนำ
         ผู้จัดการแผนงานฯ เสริมว่า พอเด็กถึงวัย 9-12 ปี จะชอบการสืบค้น และสนุกกับการตอบคำถามปริศนาคำทายต่างๆ สามารถเลือกหนังสือที่เกี่ยวข้องกับภาษา คณิตศาสตร์ และความคิดให้อ่านได้ หนังสือที่มีความสำคัญต่อเด็กวัยนี้ คือ หนังสือประเภทวรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมคลาสสิค และวรรณกรรมใหม่ หนังสือการ์ตูนคอมมิค หรือ หนังสือภาพการ์ตูน หนังสือประเภทสาระความรู้ ที่มีเนื้อหาทำให้เกิดความเกื้อกูล เห็นคุณค่า ทัศนคติเชิงเพศและสังคม จะมีความเป็นเรื่องราวที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ซึ่งเป็นวัยที่ชอบค้นหาและช่างสังเกต

“อ่านหนังสือกันเถอะ”
           ผู้จัดการแผนงานฯ บอกว่า การอ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอนเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย  ลูกจะเกิดจินตนาการตามสิ่งที่พ่อแม่อ่าน และจะมองเห็นว่าสิ่งที่เขาชอบมาจากตัวหนังสือที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง และจะส่งเสริมให้เด็กเริ่มอยากอ่านหนังสือตาม พ่อแม่สามารถอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ทุกวัน วันละ 10-15 นาที ลูกน้อยจะมีพฤติกรรมทางไอคิว และอีคิวแตกต่างจากเด็กที่ไม่ได้อ่านหนังสืออย่างชัดเจน เริ่มแรกอาจเลือกหนังสือที่มีเนื้อหาเบาๆ  สบายสมอง ช่วยให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อ
           “ที่สำคัญคือ เด็กช่วงวัย 9-12 ปี จะมีความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น   มีความสามารถในการเรียนรู้สูงมาก จะจดจำคำได้เยอะ อ่านหนังสือได้อย่างรวดเร็ว”
            เพราะเมื่อเด็กได้มีโอกาสพัฒนาด้านการอ่านอย่างเต็มที่ จะทำให้เขากล้าเข้าไปสู่การเรียนรู้ที่ไร้ขอบเขตและพรมแดนได้ตลอดชีวิต
 
เรื่องโดย พิมพ์ชนก ศรเพชร Team Content www.thaihealth.or.th

 


  View : 2.46K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 397
 เมื่อวาน 1,589
 สัปดาห์นี้ 5,249
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 41,966
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 834,617
  Your IP : 52.167.144.168