อย่าคิดสั้นเมื่อโรครุมเร้า

 เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่ิอสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์

          เมื่อไหร่ก็ตามที่คนป่วยเริ่มปิดตัวเอง คิดแต่อยู่กับตัวเอง ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ข่าวคนคิดสั้นฆ่าตัวตาย โดยมีสาเหตุมาจากโรคทางกายรุมเร้าปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ  ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดซ้ำรอยเดิมอีก  พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีคำแนะนำดี ๆ มาบอกกล่าวกัน
          พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ร่างกายของคนเราเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ คนที่มีโรคมักจะรู้สึกว่าไม่เหมือนเดิม ส่งผลต่อความรู้สึกของตัวเองว่า เมื่อก่อนทำโน่น นี่ นั่นได้ กินอาหารแบบนั้นได้ แบบนี้ได้ แต่มาวันหนึ่งต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง บางคนรับได้ แต่บางคนก็รับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
          จากข้อมูลพบว่า คนที่เป็นโรคทางกาย โดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่าง ๆ มีปัญหาซึมเศร้าเพิ่มขึ้น  เช่น คนที่เป็นโรคหัวใจหลายคนมีปัญหาซึมเศร้า แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นโรคเรื้อรังและมีปัญหาซึมเศร้าจะตัดสินใจฆ่าตัวตายทุกคน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
          การเจ็บป่วยอาจจะส่งผลข้างเคียง เช่น ทำให้ลางานบ่อยขึ้น ทำงานได้ไม่เต็มที่ ต้องให้คนอื่นทำแทน แม้เพื่อนร่วมงานจะเต็มใจ แต่บางคนอดคิดไม่ได้ ในครอบครัวก็เหมือนกัน คนในครอบครัวอาจเต็มใจดูแลทุกอย่าง แต่บางทีคนป่วยอาจรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าลงจากเดิม จนอดคิดไม่ได้ว่า ทำให้คนอื่นต้องมายุ่งยากลำบากด้วย ตรงนี้เป็นความคิดทางลบที่เกิดขึ้นในคนป่วย
          พอเกิดความคิดทางลบเมื่อถึงจุดหนึ่งจะทำให้เกิดอารมณ์เศร้า ถึงขั้นที่เรียกว่า “กู่ไม่กลับ” ยิ่งเศร้าก็ยิ่งคิดในมุมลบมากขึ้น ยิ่งคิดในมุมลบก็ยิ่งเศร้ามาก และรู้สึกหมดหวัง ไม่รู้สึกต่ออนาคตที่จะดำเนินต่อไป จนไปถึงจุดที่ว่าเมื่อไม่มีอะไรดีขึ้น คนป่วยอาจคิดยุติชีวิตตัวเอง
          ปกติการฆ่าตัวตายมักจะมีสัญญาณเตือน แต่บุคลิกของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนอาจส่งสัญญาณด้วยการพูด บางคนไม่ได้พูดแต่ทำอะไรบางอย่างแตกต่างไปจากเดิม ในขณะที่บางคนไม่ส่งสัญญาณอะไรเลย เก็บอารมณ์ ความรู้สึกไว้ข้างใน ตรงนี้ก็ต้องเห็นใจคนอยู่ใกล้ชิดเหมือนกันที่ไม่สามารถช่วยได้เพราะคนป่วยไม่แสดงอาการอะไร ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้บริหาร เวลามีปัญหามักจะไม่แสดงออก เพราะ โดยบุคลิกพื้นฐานไม่ต้อง การความช่วยเหลือจากใคร

      หนทางที่ดีที่สุด ซึ่งคนในครอบครัว คนใกล้ชิดสามารถช่วยได้ คือ การพูดคุยกับคนป่วยอย่างเข้าใจ เพราะยังไงคนในครอบครัวก็เป็นหน่วยสำคัญที่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่มีปัญหาสุขภาพมากที่สุด แต่เวลาพูดคุยอาจจะต้องกลับไปดูบุคลิกเดิมของคนป่วยด้วย เพราะมันไม่เหมือนเรายื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเขา แต่มันเหมือนเราอยู่เป็นเพื่อนข้าง ๆ อย่าให้เขารู้สึกว่าเขาต้องรอคอยความช่วยเหลือจากเรา เช่น สามีป่วย ภรรยามักจะพูดว่า แม่ช่วยทำนี่ให้ไหม ทำโน่นให้ไหม ในความเป็นจริงคนป่วยเขาอาจจะไม่ได้อยากได้ยินคำช่วยเหลือ ให้คนมาช่วยทำโน่นทำนี่ให้ก็ได้
      สำหรับผู้ป่วยที่มีโรครุมเร้าอยู่ ต้องทำความเข้าใจกับภาวะโรคที่ตัวเองเป็น ในช่วงแรกพอหมอบอกว่าป่วย คนไข้อาจไม่เข้าใจ ไม่รู้จะปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งในทางการแพทย์ขณะนี้มีการสนับสนุนให้คนป่วยดูแลตัวเองมากขึ้น ไม่ได้พึ่งระบบเพียงอย่างเดียว เป็นการเพิ่มพลังให้กับคนป่วย ทำให้เขารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องรอความช่วยเหลืออย่างเดียว สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้หลายอย่าง
       คนป่วยต้องกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เพราะส่วนใหญ่มักกังวลไปล่วงหน้าว่าจะเกิดอย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้ จะเป็นโน่น เป็นนี่ ตรงนี้เป็นความกังวลที่มากดดัน ดังนั้นคนป่วยควรทำวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่ต้องไปคิดว่าวันพรุ่งนี้จะแย่ลงหรือจะเกิดอะไรขึ้น ในแต่ละวันเราสามารถปฏิบัติหน้าที่ ทำอะไรด้วยตัวเองได้ อยากให้ทุกท่านที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ อยู่ ไม่ให้โรคมารบกวนศักยภาพของเราในการทำกิจกรรมในแต่ละวัน    
       นอกจากนี้คนป่วยควรคงกิจกรรมอะไรบางอย่างเอาไว้ เพื่อให้มีกิจกรรมเชื่อมโยงกับคนอื่น เมื่อไหร่ก็ตามที่คนป่วยเริ่มปิดตัวเอง คิดแต่อยู่กับตัวเอง ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าเอาเวลาไปทำกิจกรรมที่เพลิดเพลินและมีคุณค่า เช่น ไปเป็นอาสาสมัครทำประโยชน์ช่วยเหลือคนอื่น ป่วยแล้วยังออกไปช่วยคนอื่นได้  ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกว่าป่วยแล้วไม่จำเป็นต้องอ่อนแอ สิ่งเหล่านี้ช่วยทำให้คนป่วยเข้มแข็งขึ้น.


                                                                                            นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน
 


  View : 6.26K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 457
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,124
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 43,841
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 836,492
  Your IP : 18.218.76.193