เด็กไทยอ่านหนังสือไม่ออก แก้อย่างไรดี?

เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

             สะเทือนความรู้สึกพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ และผู้ใหญ่กันถ้วนหน้า เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า เด็กไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 6 จำนวนไม่น้อย ยังอ่านหนังสือภาษาไทยไม่ออก!
 โดยประเด็นดังกล่าวถูกเปิดเผยขึ้นวานนี้ (23 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เผยความคืบหน้าหลังจากสพฐ. ได้สั่งให้โรงเรียนทั่วประเทศใช้แบบทดสอบคัดกรองนักเรียนที่อ่านไม่ออกในระดับชั้น ป.3 และ ป.6 ระหว่างวันที่ 9-20 กันยายนที่ผ่านมา และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารายงานผลมายังสพฐ. ซึ่งการคัดกรองนี้ เป็นไปตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เรื่องมาตรการเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและการสื่อสาร เพื่อทำให้สถานศึกษาปลอดการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
 ทว่าขณะนี้ มีเขตพื้นที่การศึกษาประมาณ 80 เขต จากทั้งหมด 183 เขตได้ส่งผลข้อมูลการคัดกรองนักเรียนด้านการอ่านมายังสพฐ.แล้ว และทำให้พบว่า...
 ในระดับชั้น ป.3 มีจำนวนนักเรียนที่ยังอ่านไม่ได้ ประมาณร้อยละ 8 หรือประมาณ 64,000 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมดประมาณ 800,000 คน ส่วนนักเรียนชั้น ป.6 อ่านไม่ได้ร้อยละ 4 หรือประมาณ 32,000 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมดประมาณ 800,000 คน
 สำหรับนักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์ดี ในระดับชั้นป.3 มีร้อยละ 56 และ ป.6 มีร้อยละ 60 โดยที่เหลืออยู่ในระดับพอใช้และปรับปรุง ทั้งนี้จำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออกในปีที่ผ่านมามีประมาณร้อยละ 2-3
 เมื่อเป็นเช่นนี้ ดร.ชินภัทร เผยแนวทางการแก้ไขว่า นักเรียนที่อ่านไม่ออกจะต้องมีการจัดการเรียนการสอนแบบเข้มข้น การใช้นวัตกรรม หรือใช้วิธีการจัดการสอนเพิ่มเติมในช่วงเย็นก็ได้ขึ้นอยู่กับสถานศึกษา ซึ่งสพฐ.และเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศจะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ตั้งแต่ปิดภาคเรียนเดือนตุลาคมและพร้อมจะให้โรงเรียนและครูผู้สอนได้มีแผนการช่วยเหลือฟื้นฟูสมรรถนะการอ่านให้แก่นักเรียน โดยจะมีเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ถึงกุมภาพันธ์ 2557 และจะมีการติดตามความคืบหน้าทุกเดือน
 อย่างไรก็ตาม อาจารย์อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือพิมพ์เอ็มทูเอฟ ฉบับวันนี้ (24 ก.ย.) ใจความว่า ผลสำรวจที่ออกมา ไม่รู้สึกแปลกใจ เป็นที่ชัดเจนว่าการศึกษาของไทยที่ผ่านมาล้มเหลวมาก เด็กตั้งแต่ชั้น ป.1-2 เจอหลักสูตรเสมือนยัดเยียดให้เด็กเรียน เช่น วิทยาศาสตร์ สุขศึกษา ทั้งที่เด็กอายุเท่านั้นยังไม่มีความจำเป็น ซึ่งพื้นฐานที่ดีควรให้เด็กเรียนภาษาไทย เพื่อให้อ่านออกเขียนได้คล่องเสียก่อน
นอกจากนี้ อาจารย์อนันต์ ยังแนะอีกว่า เบื้องต้นเด็ก ป.1-2 ควรเรียนอย่างน้อยเพียง 4 วิชา คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ศิลปะ และพลศึกษา ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญ เด็กจะสามารถอ่านออกเขียนได้ มีสมาธิดีจากการเรียนศิลปะ อย่างไรก็ตาม หากเด็กไม่มีพื้นฐานที่ดี ก็จะส่งผลต่อไปยังมัธยม มหาวิทยาลัย รวมทั้งปริญญาโท ที่ทุกวันนี้ทำวิทยานิพนธ์โดยไม่มีการคิดวิเคราะห์เอง.


  View : 8.47K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 133
 เมื่อวาน 1,566
 สัปดาห์นี้ 10,186
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 46,903
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 839,554
  Your IP : 193.186.4.155