แนวคิดการเลี้ยงดูด้วยวิธีทางบวก

เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์

    “ลูก” เป็นรางวัลชีวิตที่มีค่าสำหรับพ่อแม่ แต่การเป็นพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่หลายคนรู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าจากความกดดันที่เกิดขึ้นจากการดูแลลูก พ่อแม่ส่วนมากไม่ได้เตรียมตัวต่อสิ่งเหล่านี้มาก่อน ในขณะที่พ่อแม่ปรารถนาที่จะเลี้ยงดูลูกให้มีความสุข เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีความสามารถในการดำเนินชีวิต ทำให้บ่อยครั้งพ่อแม่รู้สึกว่าตนเองหมดหนทางในการดูแลลูกและเกิดความกดดัน จนต้องใช้วิธีที่รุนแรงในการจัดการลูก
ในกระบวนการเรียนรู้เพื่อที่จะทำหน้าที่พ่อแม่ พ่อแม่ต้องการการสนับสนุนข้อมูล การฝึกฝนตนเองและกำลังใจจากคนรอบข้างในครอบครัว ชุมชนและสังคม พ่อแม่ต้องการวิธีการและทักษะการเลี้ยงดูลูกที่เหมาะสม เป็นไปได้ไม่ยากเกินไปสำหรับพ่อแม่ที่จะพัฒนาทักษะให้กับลูก กระตุ้นพฤติกรรมที่เหมาะสมให้เกิดขึ้น และมีทักษะในการจัดการพฤติกรรมที่เป็นปัญหา รวมทั้งช่วยให้พ่อแม่รู้สึกสนุกในการเลี้ยงดูลูก และยังช่วยให้พ่อแม่ลดการดูแลลูกด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมลง

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องตระหนัก 5 ประการ
1.การจัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยและน่าสนใจ  สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยมีลักษณะของความปลอดภัยทางกายภาพ และความรู้สึกปลอดภัยด้านจิตใจ บรรยากาศในครอบครัวที่เต็มไปด้วยความรักความเอาใจใส่ การดูแลตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสมตามวัย สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยช่วยให้เด็กมีความมั่นคง อบอุ่นใจ กระตือรือร้นที่จะค้นหาเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมต้องมีความน่าสนใจด้วย จะช่วยสนับสนุนให้การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวาง ความน่าสนใจของสิ่งแวดล้อมเกิดจากความหลากหลายของกิจกรรมที่พ่อแม่ทำร่วมกับลูก
2.การกระตุ้นการเรียนรู้ที่เหมาะสม  ด้วยการใส่ใจในการเรียนรู้ของลูกทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์และสังคม พ่อแม่ควรช่วยให้ลูกเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นเหล่านี้ โดยการสังเกตลูก ส่งเสริมให้ลูกประสบความสำเร็จในการเรียนรู้
3.การฝึกวินัยด้วยความรัก  ในการฝึกวินัย พ่อแม่ต้องมีความสม่ำเสมอในการฝึก สนใจพฤติกรรมที่แสดงปัญหาและรีบแก้ไขตั้งแต่ต้น มีวิธีการสอนการปฏิบัติตนที่เหมาะสม การใช้วิธีฝึกที่จริงจังแต่นุ่มนวลทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะมีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมตนเองและสามารถควบคุมดูแลตนเองได้
4.การตั้งความหวัง  พ่อแม่มักมีความคาดหวังต่อตัวลูก ซึ่งพ่อแม่ที่เข้าใจจะสามารถยอมรับลูกตามพัฒนาการตามวัย นอกจากอายุและพัฒนาการตามวัย เด็กอาจมีลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างบุคคล การยอมรับและเข้าใจช่วยให้พ่อแม่ฝึกลูกเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เช่น การขับถ่าย การรับประทานอาหาร การแต่งตัว แต่ถ้าความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีต่อลูกเป็นความคาดหวังที่มากเกินไป เช่น ความคาดหวังว่าลูกจะเรียบร้อย เชื่อฟังตลอดเวลา เมื่อลูกไม่เป็นไปตามที่หวัง ทำให้พ่อแม่ผิดหวังและเกิดความขัดแย้งในการดูแลลูก และใช้อารมณ์ในการเลี้ยงดูลูก

5.การดูแลตนเองของพ่อแม่ การเป็นพ่อแม่เป็นเรื่องยาก หากพ่อแม่อยู่ภายใต้อารมณ์ที่เครียด และกังวลใจ แต่พ่อแม่จะพบว่าการดูแลลูกง่ายขึ้น สนุกขึ้น เมื่อพ่อแม่ดูแลตนเองด้วยโดย
5.1การทำงานเป็นทีม การเป็นพ่อแม่จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น ถ้าพ่อแม่เห็นพ้องต้องกันในการฝึกวินัยลูก และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พ่อแม่ควรได้พูดคุยปรึกษาหารือเรื่องการเลี้ยงดู
5.2หลีกเลี่ยงการทะเลาะกันต่อหน้าลูก เด็กจะอ่อนไหวต่อความขัดแย้งของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการทะเลาะกันบ่อย ๆ ที่ไม่มีข้อยุติ หากมีปัญหาพ่อแม่ควรมีเวลาปรึกษาหารือกันตามลำพัง
5.3 หากำลังใจ พ่อแม่ทุกคนต้องการกำลังใจจากคู่สมรส ครอบครัว เพื่อนหรือแม้แต่เพื่อนบ้าน การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกจะช่วยได้มาก
5.4 หาเวลาพัก การหาเวลาส่วนตัวเพื่อพักผ่อนเป็นเรื่องที่ทำได้ ควรหาคนดูแลลูกที่ไว้ใจได้และใช้เวลาพักร่วมกันระหว่างพ่อแม่

เคล็ดลับในการเลี้ยงดูลูก
การเลี้ยงดูลูกเป็นศิลปะ ซึ่งพ่อแม่แต่ละคู่เป็นเจ้าของชิ้นงานศิลปะ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงดูบุตร อาจมีเคล็ดลับต่าง ๆ ที่ทำให้เด็กเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น
1.พ่อแม่ลูกควรมีกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันในวันหยุด และควรมีเวลาแสดงความรักต่อกัน เรียนรู้จากกันและกัน
2.การลงโทษเด็ก ควรชี้แจงเหตุผลที่เด็กต้องถูกทำโทษ ไม่ควรลงโทษโดยใช้อารมณ์กับเด็กหรือลงโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ
3. พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เจรจา สื่อสาร โต้แย้ง ให้เหตุผลแสดงความรู้สึกและความคิดเห็น เพื่อเด็กจะได้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังและผู้พูดที่ดีมีเหตุผลและมีความหมาย
4.พ่อแม่ไม่ควรปกป้องเด็กจากโลกแห่งความเป็นจริงตลอดเวลา เด็กจะกลายเป็นคนอ่อนแอ ไม่สามารถทนความทุกข์ความไม่สมปรารถนาได้
5.ไม่ควรเร่งรัดเด็ก ให้รับผิดชอบหรือประสบความสำเร็จเร็วเกินความพร้อมทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม
6.อย่าตีตราเด็ก เป็นการสร้างสัมพันธ ภาพทางลบกับลูก อาจจะทำให้ลูกเรียนรู้ที่จะเป็นแบบอย่างที่พ่อแม่ตีตราให้เขาเช่นนั้น
7.อย่ารุนแรงกับเด็ก ทั้งทางกาย ทางอารมณ์ หรือโดยการทอดทิ้งอย่างรุนแรง ทำให้เด็กไม่สามารถสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ ไม่รักตนเองและไม่รักผู้อื่น
 
ข้อมูลจาก ข่าวสารกรมสุขภาพจิต ISSN 0125-6475

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์


ขอขอบคุณที่มา : http://www.dailynews.co.th/article/1490/163247


  View : 26.17K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 40
 เมื่อวาน 1,566
 สัปดาห์นี้ 10,093
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 46,810
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 839,461
  Your IP : 199.47.82.21