โฆษก.สธ.แนะประชาชนปิดมือถือก่อนนอนป้องกันละเมอแชท

โฆษกกระทรวงสาธารณสุขแนะประชาชนที่ติดแชท ปิดมือถือ ปิดเสียง หรือปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตก่อนนอน อยู่ห่างจากสมาร์ทโฟน ป้องกันอาการละเมอแชท เผยคนไทยเล่นเฟซบุ๊ค 18 ล้านคนทั่วประเทศ จัดอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก
           แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำรวจพฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนไทยในปี 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 10,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่า แต่ละบ้านมีทีวีอย่างน้อย 1 เครื่อง โดยร้อยละ 99.7 มีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตอย่างน้อย 1 เครื่อง รองลงมาคือโน้ตบุ๊ค ร้อยละ 89 และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ร้อยละ 79 ทำให้มีการชมรายการโทรทัศน์ออนไลน์ผ่านจออื่นๆ ที่ไม่ใช่ทีวีเพิ่มขึ้น
          นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ดูทีวี เมื่อมีโฆษณา ประชาชนจะละสายตาจากจอทีวี แล้วก้มใช้มือถือเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่นการเล่นเฟสบุ๊ค หรือแชทผ่านโปรแกรมวอทแอพ (WhatsApp) วีแชท (WeChat) หรือไลน์ (Line) เป็นต้น เพราะมีอุปกรณ์สื่อสารติดตัวตลอดเวลา อีกทั้งยังพบว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่มีคนเล่นเฟซบุ๊คมากที่สุดในโลกหรือราว 12 ล้านคน จากผู้ใช้เฟซบุ๊ค 18 ล้านคนทั่วประเทศ จัดอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก ซึ่งนอกจากนอกจากความทันสมัย ฉับไว ด้านข้อมูลข่าวสารแล้ว ยังพบว่าผู้ที่ติดโปรแกรมแชทหรือคลั่งแชท อาจจะมีอาการละเมอแชท (Sleep Texting) ถือเป็นอาการที่เกิดจากการใช้สมาร์ทโฟน เพราะอาการดังกล่าวจะทำให้ลุกขึ้นมาแชทขณะหลับ เมื่อได้ยินเสียงข้อความส่งมา
          ปัญหาที่ตามมาก็คือ ร่างกายจะอ่อนแอจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดโรคอ้วน ภาวะซึมเศร้า โรควุ้นในตาเสื่อม โนโมโฟเบีย สมาร์ทโฟนเฟซ และอาจส่งผลกระทบในการเรียนหรือการทำงาน ขอแนะนำว่า การเล่นโปรแกรมแชทควรทำแต่พอดี หากติดมากควรลองอยู่ห่างจากสมาร์ทโฟน ตัดใจปิดมือถือ ปิดเสียง หรือปิดสัญญาณอินเตอร์เน็ตก่อนนอน วิธีนี้จะช่วยให้ห่างไกลจากการละเมอแชท และฟื้นฟูสุขภาพการนอนหลับให้เต็มอิ่ม ตื่นเช้ามาพร้อมความสดชื่นแจ่มใส ร่างกายแข็งแรงขึ้น
          โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อาการละเมอแชท (Sleep Texting) เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เราแล้วจริงๆ สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟน รวมไปถึงอาการติดโซเชียลเน็ตเวิร์กทุกชนิด ทำให้มุ่งความสนใจไปที่เครื่องมือสื่อสารเหล่านี้แทบจะทุกนาที จนกลายเป็นความวิตกกังวลต่อข้อความที่ถูกส่งมา แม้กระทั่งเวลาจะหลับก็ยังเอามือถือไปจิ้มเล่นเรื่อยเปื่อย และหลับไปพร้อมกับโทรศัพท์ที่ยังคามือ หรือวางนิ่งอยู่ข้างตัว ดังนั้นเมื่อมีเสียงแจ้งเตือนข้อความเข้ามา สมองที่ยังยึดติดกับโทรศัพท์อยู่ทุกขณะจิต ก็จะปลุกร่างกาย ที่หลับใหลให้อยู่ในสภาวะละเมอ แล้วกดส่งข้อความไปโดยอัตโนมัติ และในช่วงนี้ร่างกายก็จะนอนหลับไม่สนิทเต็มที่ เป็นเหตุให้พักผ่อนไม่พอ กระทบมาถึงระบบการทำงานของร่างกาย ทำให้สะสม ความเครียด เสี่ยงเป็นโรคอ้วน ฝันร้าย กระทบต่อการเรียนและการทำงาน  อีกทั้งการติดแชทมากเกินไป ยังอาจส่งผลกระทบถึงความสัมพันธ์ได้ เนื่องจากข้อความที่ส่งผ่านกันไปมา ไม่สามารถนำเอาความรู้สึกนึกคิดในขณะที่พิมพ์ข้อความของเราแนบไปด้วยได้ บางทีก็อาจจะก่อให้เกิดการเข้าใจผิดกันได้ ทำลายความรู้สึกโดยไม่เจตนาด้วย              
                                                              ****************** 24 กรกฎาคม 2559
 
 

  View : 1.55K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 139
 เมื่อวาน 997
 สัปดาห์นี้ 4,312
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 28,247
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 877,415
  Your IP : 18.223.172.243