โรค SLE ในเด็ก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

         โรค SLE เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มแพ้ภูมิตนเอง สาเหตุโดยรวมเกิดจากกระบวนการอักเสบที่ไม่ใช่การติดเชื้อ แต่เกิดจากภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยเอง ส่งผลไปต่อต้านเนื้อเยื่อร่างกายตนเอง การอักเสบสามารถเกิดกับอวัยวะใดก็ได้ และการรักษามักจะแตกต่างกันออกไปตามอวัยวะที่เกี่ยวข้อง
         สาเหตุยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากผลรวมของพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น แสงอัลตราไวโอเลตที่ส่งผลกระทบทำให้โรค SLE กำเริบได้ หรืออาจเกิดจากการที่ร่างกายได้รับยาประเภทต่าง ๆ เช่น ยาในกลุ่มลดความดันโลหิตสูง ยาหัวใจ และยากันชักบางตัว เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวเอเชียมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าชาวตะวันตก
          ความแตกต่างระหว่างโรค SLE ในเด็กและในผู้ใหญ่ จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า ผู้ป่วย SLE ที่เป็นเด็กมีอยู่ร้อยละ 15-20 จะมีอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ซึ่งจะมีอาการของโรคได้ตั้งแต่หลังคลอดจนถึงวัยผู้ใหญ่ ส่วนมากพบในช่วงอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ อายุ 15-19 ปี และ 5-9 ปี ตามลำดับ โดยทั่วไปอาการของโรคตามระบบจะพบว่า อาการทางข้อ ผิวหนัง ไต และอาการทางประสาทจะพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งโรค SLE ในเด็กพบว่ามีอาการรุนแรงมากกว่า และอาการจะกำเริบเร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ช่วงระยะเวลาในการรักษาจะต้องเร็วกว่าผู้ใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงผลร้ายในระยะยาว
           ส่วนการรักษานั้น การใช้ยาจะมีความแตกต่างจากในผู้ใหญ่ เพราะต้องคำนึงถึงผลระยะยาวที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก โดยเฉพาะผลทางด้านการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ตลอดจนผลข้างเคียงที่แก้ไขไม่ได้หากเกิดขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยเด็กจะมีการตอบสนองต่อการรักษาและผลข้างเคียงของยากดภูมิคุ้มกันแตกต่างจากผู้ใหญ่ การตอบสนองต่อยาบางชนิดดีกว่าถ้าได้รับการบำบัดในระยะแรก ๆ ของโรค ก็จะสามารถลดผลข้างเคียงของโรคและยาได้ดีกว่า
        เมื่อใดจึงจะสงสัยว่าบุตรหลานเป็นโรค SLE
1. มีไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ และอ่อนเพลียมากผิดปกติเป็นเวลานาน
2. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
3. มีผื่นขึ้นโดยเฉพาะที่หน้า และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งไม่ได้เกิดจากอาการแพ้ นอกจากนี้ยังมีอาการปวด บวมตามข้อ ตามตัว โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน
4. ผมร่วงมากผิดปกติ
5. เป็นโรคที่แพทย์ยังไม่สามารถให้การวินิจฉัยอาการที่แน่นอน
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเป็นโรค SLE
1. เอาใจใส่ต่ออาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้ป่วยมากกว่าเด็กปกติ
2. หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดให้มากที่สุด
3. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่ควรลดหรือเพิ่มขนาดของยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้
4. เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที และควรมีวิธีที่จะติดต่อแพทย์เจ้าของไข้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
5. ไม่ควรจำกัดการเล่น เข้าสังคม หรือกิจกรรมของผู้ป่วย ควรให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติที่สุด เว้นแต่ในกรณีที่แพทย์สั่ง
6. หากผู้ป่วยมีอาการทางไตร่วมด้วย หรือได้รับยาสเตียรอยด์ อาจจะต้องมีการจำกัดอาหารบางประเภท ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำ
7. สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น เมื่อจำเป็นต้องใช้ยาคุมกำเนิดควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน เนื่องจากยา คุมกำเนิดบางประเภทสามารถทำให้โรค SLE กำเริบและควบคุมได้ยากขึ้น
          โรค SLE เป็นโรคที่เรื้อรังรักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมได้ และผู้ป่วยสามารถมีชีวิตได้อย่างปกติหากได้รับการรักษาทันท่วงทีและถูกต้องก่อนที่จะมีการทำลายของอวัยวะโดยถาวร.


พญ.ศิริสุชา โศภนคณาภรณ์
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

 


  View : 10.01K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,971
 เมื่อวาน 1,702
 สัปดาห์นี้ 5,031
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 24,947
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 906,625
  Your IP : 61.19.73.130