โรคภูมิแพ้ในเด็ก-หลอดลมอักเสบเฉียบพลันทุกเพศทุกวัย

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

โรคภูมิแพ้ คืออะไร
        โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา เยื่อบุทางเดินหายใจ หรือเยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น
        สารก่อภูมิแพ้ได้แก่อะไรบ้าง
        สารก่อภูมิแพ้ มี 2 ประเภท ได้แก่
1.สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสุนัข ขนแมว เกสรหญ้า หรือเชื้อรา เป็นต้น
2.สารก่อภูมิแพ้ประเภทอาหาร เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ อาหารทะเล หรือแป้งสาลี เป็นต้น
       ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะมีอาการอย่างไรบ้าง
       ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะมีอาการตามอวัยวะที่เกิดการอักเสบจากการกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้ เช่น
ผิวหนัง จะทำให้เกิดโรคผื่นภูมิแพ้ ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการผื่นคันเรื้อรัง บริเวณใบหน้า ข้อพับ แขนขา หรือลำตัว เป็นต้น
เยื่อบุจมูก จะทำให้เกิดโรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการน้ำมูกเรื้อรัง ร่วมกับอาการจาม คันหรือคัดจมูก
เยื่อบุตา จะทำให้เกิดโรคเยื่อบุตาอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการคัน หรือเคืองตาเรื้อรัง แสบตา หรือน้ำตาไหลบ่อย ๆ
เยื่อบุทางเดินหายใจ จะทำให้เกิดโรคหืด ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หรือหายใจได้ยินเสียงวี้ด
เยื่อบุทางเดินอาหาร จะทำให้เกิดโรคแพ้อาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการอุจจาระร่วงเรื้อรัง อาเจียน น้ำหนักตัวลดร่วมกับอาการผื่นเรื้อรังและภาวะซีด
     ทำไมถึงเป็นโรคภูมิแพ้
              ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ได้ แต่เชื่อว่าพันธุกรรมเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้มักจะมีบิดา หรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จากสังคมชนบทสู่สังคมเมือง ทำให้มีสารมลพิษในบรรยากาศที่อาจจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้กันมากขึ้น
     ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ควรดูแลรักษาตัวเองอย่างไร
ผู้ป่วยสามารถที่จะดำเนินชีวิตได้ตามปกติไปพร้อม ๆ กับโรคเพียงแต่รู้จักปฏิบัติตนให้ถูกต้องเท่านั้น หลักสำคัญในการปฏิบัติตนมีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ คือ
      1.หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งสามารถทราบชนิดของสารก่อภูมิแพ้ ได้จากการทำการทดสอบผิวหนัง เพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ การปฏิบัติตนข้อนี้ นับว่าสำคัญมาก สามารถทำให้ผู้ป่วยลดปริมาณการใช้ยาให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อควบคุมอาการของโรค
      2.การใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงสามารถใช้ยาพ่นผ่านทางจมูกหรือปากได้ถูกต้องตามขั้นตอน
     3.การดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่อาจกระตุ้นให้มีอาการของโรคมากขึ้น เช่น ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือจากการประกอบอาหาร เป็นต้น

หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
       เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งมักพบหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งจะมีอาการไอ มีเสมหะขาว บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะมีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการถูกสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการเรื้อรังได้
อาการ
      มีอาการไอซึ่งจะเป็นมากตอนกลางคืน ระยะแรกจะไอแห้ง ๆ อาจมีเสียงแหบ และเจ็บหน้าอกเพราะไอมาก 4-5 วันต่อมาจะมีเสมหะเหนียวเป็นสีขาว (เชื้อไวรัส) หรือขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว (เชื้อแบคทีเรีย) ในเด็กอาจไอจนอาเจียน อาจจะมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีก็ได้ ถ้าเป็นมากจะมีอาการหอบร่วมด้วย เหนื่อย หายใจเสียงดังหวีด
สิ่งที่ตรวจพบ
     ส่วนมากจะไม่พบสิ่งผิดปกติ บางคนอาจมีไข้ การใช้เครื่องฟัง ตรวจปอดอาจได้ยินเสียงหายใจกรอบแกรบ (Coarse breath sound) หรือเสียงครืดคราด (Rhonchi) คนที่มีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย การฟังปอดอาจได้ยินเสียงหวีด (Wheezing)
อาการแทรกซ้อน
        โรคนี้มักหายได้ภายใน 1-3 สัปดาห์แต่อาการไออาจเป็นอยู่นานถึง 2-3 เดือน ที่เรียกว่าไอร้อยวันและบางรายอาจเกิดภาวะแทรก ซ้อน ที่พบได้บ่อยได้แก่ ไอออกเลือด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หลอดลมโป่งพอง
การรักษา
       1.แนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มากขึ้นอย่าทำงานหนัก ควรดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ เพื่อช่วยให้เสมหะออกได้ง่ายขึ้น ไม่ควรดื่มน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง อาจทำให้ไอมากขึ้น ควรงดสูบบุหรี่ อย่าอยู่ในที่ ๆ มีอากาศเสียหรือฝุ่นละอองมาก
       2.ให้ยาขับเสมหะ ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ไอชนิดกดการไอ เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ ยาแก้ไอน้ำเชื่อม ยาแก้แพ้หรือโคเดอีน (Codeine) เพราะอาจทำให้เสมหะอุดกั้นหลอดลมเล็ก ๆ ทำให้ปอดบางส่วนแฟบได้
       3.ยาปฏิชีวนะ ถ้าเสมหะขาว (เกิดจากเชื้อไวรัสหรือการระคายเคือง) ไม่ต้องทานยา ถ้าเป็นเสมหะสีเหลืองหรือเขียว (เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย) ควรให้ยาปฏิชีวนะ
       4.ถ้ามีอาการหอบหืด (ฟังเสียงปอดได้ยินเสียงหวีด) ให้ยาขยายหลอดลม
       5.ถ้าไอนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือน้ำหนักลด ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะหาสาเหตุและรักษาตามเหตุ
ข้อแนะนำ
      โรคนี้มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และอาจไออยู่นาน 2-3 สัปดาห์ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี แต่ถ้าพบว่ามีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้เรื้อรัง อาจเป็นจากสาเหตุอื่น เช่น วัณโรค หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล

ข้อมูลจาก ศูนย์ภูมิแพ้ (Allergy Center) แผนกกุมารเวช / คลินิกโรคระบบทางเดินหายใจและโรคปอด โรงพยาบาลพญาไท 1 / http://www.phyathai.com
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์


  View : 21.40K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 540
 เมื่อวาน 971
 สัปดาห์นี้ 3,729
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 27,664
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 876,832
  Your IP : 3.138.123.240