ทำอย่างไรไม่ให้ลูกพูดโกหก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
          ถ้าหากมีใครบอกว่าลูกของคุณเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ชอบโกหก พูดปด พูดไม่จริง มีนิสัยพูดโกหกแบบนี้คงได้รับมาจากต้นแบบจากที่บ้าน ได้ยินแบบนี้แล้วคงมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยต้องเดือดเนื้อร้อนใจว่าเพราะอะไรทำไมลูกถึงชอบพูดโกหก ทั้งๆที่ก็ได้ดูแล อบรมสั่งสอนเป็นอย่างดี
          การพูดโกหกนี้หากเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวอาจถือเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าทำบ่อยๆอาจบ่งบอกได้ว่าลูกกำลังมีปัญหา เช่น ปัญหาทางอารมณ์ และเมื่อเริ่มเป็นวัยรุ่นก็อาจมีพฤติกรรมที่ร่วมกับการโกหกอีกหลายอย่าง เช่น ลักขโมย หลอกลวง ทำ ลายของสาธารณะ ทำร้ายผู้อื่น กลายเป็นเด็กมีปัญหาหรือเด็กเกเร และอาจเติบโตขึ้นมาเป็นโจรในที่สุด ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้เด็กกลุ่มนี้อาจก่อความเดือดร้อนและความเสียหายต่อสังคมอย่างมากมาย
          การที่เด็กมีพฤติกรรมโกหกหรือพูดไม่จริงนั้นอาจมีสาเหตุที่ต่างกันขึ้นอยู่กับช่วงอายุ เช่น ในเด็กช่วงอายุ 2-6 ปี อาจพูดไม่จริงได้เนื่องจากความคิดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เด็กยังไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรจริง อะไรคือจินตนาการ หรือเด็กบางคนอาจโกหกเพื่อทดสอบว่าพ่อแม่จะรู้หรือไม่ว่าเขาพูดไม่จริง เพราะเด็กมักมองว่าพ่อแม่รู้ทุกอย่าง แต่บางครั้งก็ไม่แน่ใจ
          ดังนั้น หากลูกในวัยนี้พูดสิ่งที่เกินความจริงไปบ้าง พ่อแม่ไม่ควรตำหนิหรือกังวลมากเกินไป เพราะเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ สิ่งที่ควรทำคือรับฟังลูก และแก้ไขความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ลูกต่อไป
          สำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป สามารถแยกแยะความจริงได้แล้ว หากเด็กพูดโกหกอาจมีสาเหตุ คือ
          1.เพื่อหลีกหนีจากสิ่งที่ไม่ต้องการ กลัวว่าจะถูกทำโทษเมื่อทำผิด เช่น ลูกขโมยเงินพ่อแม่เพื่อเอาไปซื้อของเล่นยอดฮิตเหมือนเพื่อนๆที่โรงเรียน แต่กลัวพ่อแม่จับได้เลยต้องโกหก
          สำหรับวัยรุ่นปัญหาที่มักจะเจอส่วนใหญ่ก็คือการคบเพื่อน การมีกลุ่มเพื่อนที่อาจจะชักจูงกันไปทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยถูกต้องหรือถูกใจผู้ปกครองมากนัก ก็พยายามหาวิธีการหลบหลีกด้วยการโกหก บ่อยครั้งที่ผู้ปกครองจับไม่ได้ และบ่อยครั้งที่ผู้ปกครองก็จับได้ ดังนั้น สิ่งที่จะตามมาก็คืออาจจะถูกตำหนิ ดุด่า ในที่สุดพฤติกรรมเหล่านั้นแทนที่จะหายไปกลับยิ่งถูกส่งเสริมให้รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการตำหนิยิ่งทำให้สถาน การณ์ของปัญหาการโกหกแย่ลง เพราะวัยรุ่นจะยิ่งห่างจากครอบครัวมากขึ้น
          2.เพื่อให้ได้รับสิ่งที่ต้องการ เช่น เด็กที่รู้สึกเบื่อ เหงา อาจสร้างเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่จะได้สนใจตนมากขึ้น หรือเด็กที่รู้สึกว่าตนเองไม่เก่งไม่ดีก็อาจเล่าเรื่องโกหกให้ตัวเองดูดี เพราะอยากให้พ่อแม่ชื่นชม
และ 3.เด็กมีความผิดปรกติทางด้านจิตเวช เช่น เด็กที่มีปัญหาเรื่องสติปัญญาบก พร่อง มีปัญหาด้านภาษา เด็ก ที่ป่วยเป็นโรคจิต บางครั้งก็ดูเหมือนว่าจะพูดเรื่องไม่จริงตามความคิดที่เกิดขึ้นในโลกส่วนตัวจากการที่มีสติปัญญาบกพร่องอยู่ หรือเด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า อาจจะไม่ได้แสดงออกทางอารมณ์ แต่มาแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น พูดโกหก หนีเรียน ลักขโมย เป็นต้น ก็สามารถพบเห็นได้บ่อยทั้งที่บ้านและโรงเรียน
          หากไม่อยากให้ลูกกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือและ ดูแลได้ 5 ข้อหลักๆดังนี้
          1.พ่อแม่ควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกอยู่เสมอ ลูกจะได้มั่นใจในความรักและความ หวังดีของพ่อแม่ เพื่อเวลาที่ลูกทำผิด หรือทำสิ่งไม่ดีลงไป ลูกจะได้กล้าปรึกษาพ่อแม่ ซึ่งจะช่วยไม่ให้ลูกตัดสินใจผิดพลาดจนเกิดผลเสียร้ายแรงตามมา
          2.ไม่ควรมีอารมณ์โมโห หรือตำหนิตัวตนของลูกเมื่อลูกทำความผิด แต่ควรจัดการเฉพาะพฤติกรรมที่ผิดเท่านั้น ควรใช้เหตุผลพูดคุยกัน เพื่อลูกจะได้กล้ายอมรับความจริงในสิ่งที่ตนทำ ควรชื่นชมที่ลูกกล้าสารภาพผิด และแนะนำว่าเขาควรทำอย่างไรต่อไป เพราะการที่ลูกถูกตำหนิและตราหน้าอยู่เรื่อยๆว่าเป็นเด็กไม่ดีจะทำลายความรู้สึกดีที่ลูกมีต่อตนเอง ยิ่งทำให้ลูกมีพฤติกรรมชอบโกหก และบางครั้งพฤติกรรมเหล่านี้อาจรุนแรงมากขึ้นอีก
          3.ควรมีความไว้วางใจไม่จับผิดหรือระแวงลูกมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนเป็นนักโทษ เช่น บางครั้งลูกกลับบ้านดึก แม่ก็คอยซักถาม จับผิดว่าลูกไปไหน ไปทำอะไร ซึ่งบางทีลูกอาจแค่ไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อน แต่การที่พ่อแม่ซักถามเหมือนไม่ไว้ใจลูกและไต่สวนเหมือนเป็น ผู้กระทำความผิด เด็กก็อาจ ใช้วิธีการโกหกเพื่อให้พ่อแม่ หยุดซักถาม หรือหลบหลีกด้วยการโกหก
          4.ควรหลีกเลี่ยงการลง โทษที่รุนแรงเมื่อลูกทำผิดหรือจับโกหกได้ เพราะการลงโทษเป็นเพียงการแก้ไขที่ปลายเหตุ ยังมีทางออกที่ดีกว่าวิธีการลงโทษคือ การพูดจาเพื่อทำ ความเข้าใจถึงเหตุผลบางประ การของลูก ซึ่งพ่อแม่ต้องมีอารมณ์ที่สงบเพื่อจะรับฟังลูกอย่างจริงใจ
          5.เป็นแบบอย่างที่ดี ไม่พูดโกหกให้ลูกเห็น เพราะลูกอาจเลียนแบบจนติดเป็นนิสัย เข้าใจผิดว่าการโกหกเป็นเรื่องปรกติที่สามารถทำได้ ที่สำคัญพ่อแม่จะต้องพยายามสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า ความบกพร่องทางสติปัญญา หรือมีปัญหาเรื่องภาษาหรือไม่ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อาจโกหกโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำไปเพราะพวกเขาป่วย หากสงสัยว่าลูกมีภาวะดังกล่าวควรพามาพบจิตแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
"ช่วง 2-6 ปี อาจพูดไม่จริงได้เนื่องจากความคิดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เด็กยังไม่สามารถแยกแยะว่าอะไรจริง อะไรคือจินตนาการ  หรืออาจโกหกเพื่อทดสอบว่าพ่อแม่จะรู้หรือไม่ว่าเขาพูดไม่จริง"
 
         ที่มา : โลกวันนี้วันสุข


  View : 8.56K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,111
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 7,134
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,775
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 872,943
  Your IP : 3.23.101.241