ไอโอดีนกับหญิงตั้งครรภ์

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

         ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย.2557 นี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศจะเก็บตัวอย่างปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ที่ฝากครรภ์ครั้งแรกมาตรวจวิเคราะห์ ซึ่งจะทำให้ทราบสถานการณ์การขาดสารไอโอดีน และกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบต่อสติปัญญาของเด็กไทยต่อไป
        เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า ไอโอดีนมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญของระบบประสาทของทารกตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึง 2 ขวบ หญิงตั้งครรภ์ต้องการไอโอดีนมากกว่าคนปกติ ซึ่งอาจทำให้ไอโอดีนในต่อมไทรอยด์ลดลงถึง 40% เนื่องจากร่างกายต้องผลิตไทรอกซินเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้อยู่ในช่วงปกติ และส่งฮอร์โมนไปยังทารก ซึ่งทารกต้องการไอโอดีนในการผลิตไทรอยด์ฮอร์โมน โดยเฉพาะในระยะท้ายของการตั้งครรภ์ และหญิงตั้งครรภ์ที่มีการกำจัดไอโอดีนทางไตเพิ่มขึ้น ดังนั้นในพื้นที่ที่ขาดสารไอโอดีน อาจพบหญิงตั้งครรภ์มีขนาดต่อมไทรอยด์โตผิดปกติ ขณะที่พื้นที่ปกติขนาดของต่อมไทรอยด์ไม่เปลี่ยนแปลง
         การขาดไอโอดีนรุนแรง จะทำให้ทารกที่คลอดมาเสี่ยงพิการและเสี่ยงปัญญาอ่อน ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดทำโครงการเฝ้าระวังระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ในพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดไอโอดีนในทุกจังหวัดของประเทศไทย โดยสุ่มเลือกโรงพยาบาลระดับอำเภอ จังหวัดละอย่างน้อย 10 แห่ง และเก็บตัวอย่างแห่งละ 30 ราย หรือ จังหวัดละ 300 ราย ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศมาตรวจวิเคราะห์ไอโอดีน
        ข้อมูลที่ได้จะชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ใดมีไอโอดีนเพียงพอหรือไม่เพียงพอ เป็นการชี้เป้านำไปสู่แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งการแก้ไขปัญหามีหลายวิธี คือ 1.เกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้า ทำให้เกลือทั้งประเทศเป็นเกลือเสริมไอโอดีนแต่ประเทศไทยกรณีนี้ยังทำไม่สำเร็จ นายกฯเคยนำเข้า ครม. 2 ครั้งแต่ยังไม่สำเร็จเพราะยังมีข้อสงสัยจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมทำให้เรื่องนี้ยังไม่จบ 2.การรับประทานวิตามินเสริมไอโอดีน แต่ปัญหาคือการเข้าถึง หรือบางคนได้รับไปแล้วไม่รับประทาน อาจมีสาเหตุจากหมอไม่ได้อธิบายละเอียด หรือคนไข้เข้าใจผิดนึกว่าเป็นยาบำรุง กลัวว่ารับประทานเข้าไปแล้วลูกจะตัวโต คลอดยาก บางคนรับประทานแล้วท้องอืด มีปัญหา สุดท้ายหลายคนก็ไม่รับประทาน เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีโครงการไข่แลกยา พบว่ายาที่มีการนำมาแลกไข่มากที่สุดคือวิตามินเสริมไอโอดีนที่ให้ไปบำรุงครรภ์เหลือมากมายมหาศาล
         วิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เป็นทางเลือกซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดย นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อธิบดีกรมอนามัยในขณะนั้นดำเนินการคือให้หญิงตั้งครรภ์ครั้งแรกรับประทานยาเสริมไอโอดีน 2 แคปซูล สามารถอยู่ในร่างกาย 1 ปี ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าตลอดการตั้งครรภ์และตอนให้นมบุตรแม่มีไอโอดีนเพียงพอ
         ก่อนหน้านี้ในระดับโลกที่มีปัญหาขาดไอโอดีนรุนแรงไม่ได้มีการให้ยาเสริมไอโอดีนชนิดแคปซูล แต่ใช้ชนิดฉีดมีฤทธิ์ 3 ปีแต่ปัจจุบันไม่เป็นนิยมฉีดเพราะอาจทำให้ผิวหนังอักเสบ ติดเชื้อได้ จึงนิยมให้รับประทาน เพราะเป็นวิธีที่ราคาถูกสุด ต้นทุน 2 แคปซูลต่อปีมีค่าใช้จ่าย 120 บาท แต่การรับประทานไอโอดีนผสมวิตามินในปัจจุบัน ต้นทุนตกประมาณ 400-600 บาทต่อปี ที่ผ่านมามีการดำเนินการนำร่องอยู่ในภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้ประเมินและให้การสนับสนุนงบประมาณ ตรงนี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวจะทำไปจนกว่ามาตรการเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้าดำเนินการได้ทั่วประเทศ
         จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิตเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ภาคอีสานไอคิวต่ำที่สุดในประเทศ ใน 19 จังหวัดมี 17 จังหวัดไอคิวต่ำกว่า 100 มี 2 จังหวัดไอคิว 100 พอดี จึงมีความพยายามจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ ข้อมูลที่น่าตกใจคือ ผลการสำรวจของกรมอนามัยแสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก คือ ระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ในภาคอีสานต่ำกว่าภาคเหนือ 3 เท่า ภาคเหนือเด็กมีระดับสติปัญญาสูงขึ้น ตอนนี้เป็นที่ 2 ของประเทศ แต่ภาคอีสานยังไม่ขยับ
         นอกจากการดูแลหญิงตั้งครรภ์และเด็กแล้ว ยังมีผู้ชาย ผู้หญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ จะไม่ได้รับการปกป้องจากยาแคปซูลไอโอดีน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นนโยบายเกลือเสริมไอโอดีนถ้วนหน้าต่อไป ไม่ได้ทิ้ง เมื่อนโยบายนี้ยังไม่สำเร็จก็ต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กที่เกิด 5-10 ปีข้างหน้าได้รับการปกป้องเท่าที่ทำได้
         เรื่องอาหารทะเลหลายคนคิดว่ามีไอโอดีนเพียงพอ ต้องเรียนว่า ในปัจจุบันอาหารทะเลมีไอโอดีนมากกว่าอาหารทั่วไปแต่ไม่ได้มากขนาดนั้น เพราะไอโอดีนที่มีอยู่ในธรรมชาติถูกชะล้างและเจือจางไป ดังนั้นทั่วโลกจำเป็นต้องเสริมไอโอดีน หลายคนเข้าใจว่าไอโอดีนเกี่ยวกับโรคเอ๋อ คอพอก เมื่อไม่มีคนเป็นโรคเอ๋อ ไม่มีคนเป็นคอพอก ก็นึกว่าปัญหาจบแล้ว จึงไม่ตระหนักทั้งที่เรื่องนี้เกี่ยวพันกับสติปัญญา ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะร่วมกับกรมอนานัย กรมสุขภาพจิตทำเรื่องนี้ต่อไป.

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน


  View : 7.49K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 453
 เมื่อวาน 1,828
 สัปดาห์นี้ 7,120
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 43,837
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 836,488
  Your IP : 18.117.78.87