รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
“เด็กกินยาก” ไม่ค่อยยอมกินข้าว เลือกกินเฉพาะอาหารบางประเภท สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าเป็นปัญหากังวลใจของพ่อแม่หลายคน
นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกน้อยที่ “กินยาก” ไว้ในงานเสวนา "กินอย่างไร สดใส-ไกลโรค" โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไว้ว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกน้อยที่ “กินยาก” ให้กินง่ายขึ้นนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีการฝึกวินัยการกินตั้งแต่เริ่มแรก และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ โดยฝึกวินัยเชิงบวก และส่งเสริมให้ลูกช่วยเหลือตนเองอย่างจริงจัง ไม่ใจอ่อน ที่สำคัญไม่ควรแสดงออกให้ลูกรู้ว่า คุณพ่อคุณแม่กังวล หรือหงุดหงิดเรื่องการกินของเขา
ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนำการกินอาหารมาเป็นเงื่อนไขต่อรอง จนอาจกลายเป็นพฤติกรรมทางด้านอารมณ์ขึ้นมา คุณหมอพงษ์ศักดิ์ ได้แนะนำ 3 วิธี ในการช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกน้อย “กินยาก” ดังต่อไปนี้
1.หิว...เมื่อถึงเวลา
คุณพ่อหรือคุณแม่ต้องให้ลูกกินเป็นเวลา โดยกำหนดเวลากินอาหารแต่ละมื้อให้ชัดเจน ควรทำให้เด็กหิว โดยการไม่ให้เด็กกินอาหารที่ไม่จำเป็น ลดอาหารหวาน ขนม หรือของว่างที่ไม่มีประโยชน์ก่อนมื้ออาหารหลัก เพราะจะทำให้ลูกอิ่ม และไม่อยากกินข้าว ถ้าลูกเกเรไม่ยอมกินภายใน 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ให้เก็บรอในอีกมื้อถัดไป พอลูกหิวก็จะกินเอง โดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญ แต่คุณแม่ต้องไม่ใจอ่อน เห็นว่าลูกไม่กินข้าว กลัวว่าจะขาดสารอาหาร จึงให้กินขนมอื่นๆ แทน นั่นจะทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมจดจำได้ว่า ถ้าไม่กินข้าว จะได้กินขนมแทน เป็นต้น
ควรเน้นให้ลูกกินอาหารหลักและเสริมด้วยผลไม้ เพราะจะไม่ทำให้ลูกอิ่มจนแน่นท้องเกินไป ทำให้สามารถกินข้าว หรืออาหารหลักได้พอดีเมื่อถึงมื้ออาหาร ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติต่อพฤติกรรมการกินอาหารของลูก ด้วยความหนักแน่น สม่ำเสมอ และอดทน จะสามารถช่วยให้ลูกปรับตัวและลดปัญหาการกินอาหารได้
2.หลากหลาย ไม่จำเจ
การฝึกการกินของลูก ช่วงแรกควรเตรียมแต่อาหารที่ลูกชอบ กินง่าย ตกแต่งให้น่ากิน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกอยากกินเอง แล้วค่อยๆ เพิ่มอาหารชนิดอื่นๆ ที่สำคัญควรปรับเปลี่ยนรูปแบบ เมนูอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้เด็กเกิดความอยากอาหารมากขึ้น โดยแนะนำสังเกตว่า เด็กชอบอาหารประเภทใด อย่างเช่น เด็กชอบกินไก่ชุบแป้งทอด ก็ลองเอาผักหลากสีมาชุบแป้งทอด หรือ เด็กชอบกินฟักทอง อาจเป็นเพราะว่าเด็กชอบสีเหลือง ก็ให้เด็กลองกินพริกเหลือง ถ้ากินได้ หรือให้ลองกินพริกเขียวที่มีรสชาติคล้ายกันแต่สีต่างกัน และหากเด็กกินได้ ก็แสดงว่าเด็กกินสีเขียวได้
จากนั้น จึงเปลี่ยนไปเป็นผักเขียวมากขึ้น จะทำให้เด็กที่กินอาหารยาก สามารถกินอาหารได้หลากหลายมากขึ้น จากความใกล้เคียงของอาหารที่เด็กชอบ นอกจากนี้ หากคุณแม่ที่กินอาหารหลากหลายขณะตั้งครรภ์ ถึงแม้ลูกจะไม่ได้รับรสชาติอาหารโดยตรงจากแม่เมื่ออยู่ในท้อง แต่ก็พบว่ามีแนวโน้มทำให้ลูกที่เกิดมา กินอาหารหลากหลายไปด้วย ดังนั้นพฤติกรรมการกินของแม่ขณะตั้งครรภ์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
3.สร้างบรรยากาศ..ใครว่ากินข้าวต้องน่าเบื่อ
คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างบรรยากาศการกินอาหาร อาจจัดที่นั่งให้เหมาะสม ไม่มีสิ่งของใดมาเบี่ยงเบนความสนใจของลูก เช่น ทีวี หรือของเล่น นอกจากนี้ควรร่วมวงพร้อมหน้า สนทนาแต่เรื่องดีๆ และจัดบรรยากาศขณะกินให้ลูกสนุก จนเกิดความสบายใจ นั่นจะทำให้ลูกสนใจ และอยากกินอาหารขึ้นมาได้ คุณพ่อคุณแม่ควรตักอาหารครั้งละน้อยๆ ให้ลูกมีกำลังใจว่ากินได้หมด รวมทั้งควรให้ลูกตักด้วยตัวเอง ถ้าหมดแล้วจึงค่อยเติม เพื่อที่ลูกจะได้ไม่เคยชินกับการกินเหลือ หรือต้องถูกบังคับให้กินจนหมดจาน
พยายามสร้างความรู้สึกที่ดีกับอาหารที่ลูกปฏิเสธ เช่น กินอาหารเหมือนลูก อาจกินผักให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วให้ลูกลองชิมดูบ้าง ทำให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่กินผักได้ เพราะมันเป็นอาหารเท่ๆ ที่ผู้ใหญ่เขากินกัน ซึ่งครอบครัวควรเป็นต้นแบบการกินในแต่ละมื้อ อยากให้เด็กกินอะไร คนในครอบครัวก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยถือเป็นเรื่องสำคัญ
สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ที่จะพิชิตใจลูกน้อย ชวนกันมาร่วมสร้างบรรยากาศปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใส่ใจดูแลสุขภาพ ทำจิตใจให้สดชื่น พร้อมมีกำลังกายและกำลังใจ เตรียมต้อนรับปี 2559 ที่จะถึงนี้นะคะ
เรื่องโดย : เสาวลักษณ์ พิสิษฐ์ไพบูลย์ Team Content www.thaihealth.or.th