ความเป็นมาพิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลราชานุกูล
คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลราชานุกูลพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินท โดยพลเอกวันชัย เรืองตระกูล ประธานกรรมการ มูลินิธิฯ และแพทย์หญิงชวาลา เธียรธนู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชานุกูล ในขณะนั้นได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กขึ้นที่อาคารอำนวยการของโรงพยาบาล โดยมีนายแพย์ปรีชา อินโท อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๑ ต่อมาพลเอกวันชัย เรืองตระกูล ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และนายแพทย์อุดม เพชรสังหาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชานุกูล จึงได้พิจารณาว่าอาคารที่ทำการหลังแรกของโรงพยาบาล เคยเป็นอาคารผู้ป่วยนอกหลังแรกของโรงพยาบาลราชานุกูล เป็นบ้านพักของผู้อำนวยการคนแรก ประกอบกับในปี ๒๕๔๓ ครบรอบ ๑๐๐ ปี วันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งในขณะที่ดำรงพระชนม์ชีพนั้นได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อโรงพยาบาลและผู้พิการทางสติปัญญาเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนี้พลเอกวันชัย เรืองตระกูล ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลราชานุกูลฯ จึงได้ขอความอนุเคราะห์สำนักโยธาธิการกลาโหม ในการออกแบบและประมาณราคา โดยในชั้นแรกสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ ทรงพระกรุณาพระราชทานเป็นกองทุนเริ่มต้น จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาได้พระราชทาน จาก "ทุนการกุศลสมเด็จย่า" อีกจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ และมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลราชานุกูลฯ ได้ให้เงินกองทุนเพิ่มเติมอีก ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินเพื่อร่วมโครงการ เป็นเงิน ๑,๗๙๖,๖๙๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๓,๘๙๖,๖๙๐ บาท มอบหมายให้ พลตรีนิรันดร พัฒนพงศ์พานิชนาวาตรีสันติ พรหมสุนทร เรืออากาศโท อัศวิน ผิวเกลี้ยง
และร้อยตรี จิทัศ ศรสงคราม เป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบประมาณราคาและควบคุมการก่อสร้าง บริษัท ดำรงค์ก่อสร้างวิศว จำกัด เป็นผู้ทำการบูรณะซ่อมแซมและกรมศิลปากรได้มอบหมายให้นางวิสันธนี โพธิสุนทร นายปราโมทย์ กำทรัพย์ เป็นผู้ออกแบบตกแต่งและจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ จึงทำให้อาคารหลังนี้เป็น "พิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลราชานุกูล"
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของบรมราชจักรีวงศ์ ที่มีต่อผู้พิการทางสติปัญญาและโรงพยาบาลราชานุกูล เป็นที่แสดงถึงวิวัฒนาการและนวัตกรรมต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสติปัญญาและพัฒนาการ เป็นสถานที่ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้พิการ ประชาชนทั่วไป นิสิต นักศึกษาได้มีกิจกรรมร่วมกันเรียนรู้ศึกษาซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจต่อกัน และนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ปราศจากการรังเกียจเดียดฉัน นำไปสู่สังคมที่ยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันต่อไป
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลราชานุกูล” เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาต่อการพัฒนาผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญาในประเทศไทย เหนือสิ่งอื่นใดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้บอกเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณอันเอนกอนันต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ อีกทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์อีกหลายพระองค์ที่ทรงมีต่อผู้พิการทางสติปัญญา
พิพิธภณฑ์โรงพยาบาลราชานุกูลเปิดให้เข้าเยี่ยมชมได้ในเวลาเช้า ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาบ่าย ๑๓.๐๐ - ๑๔.๐๐ น.
ข้อแนะนำและข้อปฏิบัติในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์
๑. ลงชื่อในสมุดเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ก่อนทุกครั้ง
๒. สังเกตป้าย เครื่องหมาย สัญลักษณ์ที่ช่วยในการแนะนำ บอกทิศทาง และอธิบายตามจุดต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ และโปรดปฏิบัติตามข้อแนะนำเหล่านั้น
๓. กรุณาถนอมใช้ชิ้นงานสื่อสัมผัส เพื่อการศึกษาเรียนรู้โดยทดลองหรือเล่นอย่างเบามือ หรือปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ติดประกาศไว้
๔. หุ่น แบบจำลอง อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จัดแสดง เป็นส่วนประกอบที่มิได้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าชมสัมผัสจับต้อง กรุณาอย่าจับชิ้นงาน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้
๕. ไม่อนุญาตให้นำอาหาร เครื่องดื่ม เข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตนำสัตว์เลี้ยง เข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์
๖. ห้ามส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น
๗. ห้ามพกพาอาวุธมีคม
๘. ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารผิดกฎหมาย เข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์
๙. ห้ามสูบบุหรี่ หรือสิ่งเสพติดอื่นๆ ภายในพิพิธภัณฑ์
๑๐. ห้ามเล่นการพนัน
๑๑. ห้ามขีดเขียนฝาผนัง
๑๒. ห้ามนำกระเป๋าหรือสัมภาระขนาดใหญ่ เข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์
๑๓. ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากสถาบันราชานุกูล