สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับสถาบันรามจิตติ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุน
การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำ “โครงการติดตามสภาวการณ์ไอคิวและอีคิวของเด็กไทย หรือ IQ/EQ Watch)” เพื่อศึกษาปัจจัยที่นำมาสู่ระดับไอคิวและอีคิวที่แตกต่างกันของเด็กไทย ซึ่งผลที่ได้รับจากงานในโครงการนี้จะสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงวางแผนการดำเนินงาน เพื่อเสริมสร้างเชาวน์ปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทยในแผนพัฒนาทางวิชาการของกรมสุขภาพจิตต่อไป
โครงการวิจัยการติดตามสภาวการณ์ไอคิวและอีคิวของเด็กไทย (IQ/EQ Watch) ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลกับกลุ่มนักเรียนที่กรมสุขภาพจิตสำรวจสถานการณ์ไอคิว อีคิว ปี 2550 ใน
พื้นที่นำร่อง 15 จังหวัด ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี อยุธยา ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคเหนือ ได้แก่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ ขอนแก่น หนองคาย และภาคใต้ ได้แก่ พังงา ตรัง สงขลา โดยแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 6 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 นักเรียนที่มี IQ สูง กลุ่มที่ 2 นักเรียนที่มี IQ ต่ำ กลุ่มที่ 3 นักเรียนที่มี EQ สูง กลุ่มที่ 4 นักเรียนที่มี EQ ต่ำ กลุ่มที่ 5 นักเรียนที่มี IQ สูง EQ สูง กลุ่มที่ 6 นักเรียนที่มี IQ ต่ำ EQ ต่ำ และทางโครงการฯ ยังได้ทำการสำรวจกลุ่มผู้ปกครองของเด็กทุกกลุ่มข้างต้น และยังได้สำรวจกลุ่มครูเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมในการอธิบายปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระดับไอคิวและอีคิวของเด็กไทย
ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อไอคิวอีคิวของนักเรียน โดยสะท้อนข้อมูลจากผู้เรียนพบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจที่ส่งผลต่อการพัฒนาไอคิว อีคิว 8 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับปัจจัยด้านครอบครัวและการเลี้ยงดูเป็น 4 ประเด็น ได้แก่ 1) การได้รับการกอดจากพ่อแม่บ่อยๆ 2) การที่พ่อแม่ที่ชอบเล่นกับลูก 3) การที่ลูกมักมีคำถามมาถามพ่อแม่ 4) การที่พ่อแม่มักจะสอนให้ลูกรู้จักวางแผนก่อนเสมอ เป็นประเด็นเกี่ยวกับปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลต่อไอคิว 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การที่นักเรียนชอบเล่นเกม ประเภทค้นหาความแตกต่างของรูปภาพ 2) การที่นักเรียนชอบเล่นเกมตอบปัญหาโดยจับเวลา เป็นประเด็นปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งผลต่ออีคิว 1 ประเด็น ได้แก่ การที่นักเรียนเป็นคนที่การชอบปลอบใจเพื่อนเวลาเพื่อนไม่สบายใจ และปัจจัยส่วนบุคคลที่ส่งต่อทั้งไอคิวและอีคิว 1 ประเด็นได้แก่ การที่นักเรียนชอบเรียนคณิตศาสตร์
เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างระดับไอคิวอีคิวนักเรียนกับพฤติกรรมการเลี้ยงดูของผู้ปกครองก็พบว่า มีความสอดคล้องกับประเด็นข้อค้นพบข้างต้น โดยระดับไอคิวอีคิวกับพฤติกรรม
การเลี้ยงดูมีความสัมพันธ์กันในทางบวก หมายถึง ถ้าผู้ปกครองสนับสนุนและเสริมปัจจัยด้านต่างๆ ให้กับเด็กอย่างเหมาะสม เด็กมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไอคิวอีคิวที่สูงขึ้นได้ และเมื่อพิจารณาข้อมูลจากผู้ปกครอง กับข้อมูลจากนักเรียน พบว่ามีประเด็นที่สอดคล้องกัน 2 ประเด็น คือ การที่ผู้ปกครองของเด็กที่ไอคิวอีคิวสูง ไอคิวสูง และอีคิวสูง มักจะกอดลูกบ่อย ๆ กับการที่ผู้ปกครองมีคำถามให้ลูกคิดอยู่เสมอ นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ปกครองที่ลูกไอคิว อีคิว หรือทั้งไอคิวและอีคิวสูงในรายละเอียดพบว่ามีประเด็นอื่นๆ อีกที่เกี่ยวกับปัจจัยทางครอบครัวที่ช่วยส่งเสริมไอคิวอีคิวของเด็กอีก 7 ประเด็น ได้แก่ 1) การที่ผู้ปกครองให้ลูกดื่มนมเป็นประจำ 2) การที่ผู้ปกครองให้ลูกออกกำลังกายเป็นประจำ 3) การที่บ้านมีหนังสือจำนวนมาก 4) ผู้ปกครองซื้อหนังสือหรือสื่อที่เสริมการเรียนวิชาต่างๆ ให้ลูก 5) การที่ผู้ปกครองชอบให้ลูกเขียนบันทึก 6) การที่ผู้ปกครองชอบให้ลูกเล่นเกมที่ส่งเสริมความคิดและการวางแผน เช่น เกมเศรษฐี เกมหมากรุก และ7) การที่ผู้ปกครองชอบเล่นเกมตอบปัญหากับลูก
นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลครูที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ครูปัจจุบันมีการจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมต่อสภาวการณ์ไอคิวอีคิวอยู่ในระดับมาก ซึ่งมีข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นเด่นชัดมาก 5 ด้าน ได้แก่ 1) การให้เหตุผลเสมอเวลาที่ครูสั่งงานหรือบอกให้นักเรียนทำอะไร 2) การเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่นักเรียน 3) การพูดคุยกับนักเรียนทุกคนอย่างสนิทสนม 4) การให้เวลากับการเป็นที่ปรึกษาหรือรับฟังปัญหาของนักเรียนแต่ละคน และ 5) การดูแลให้นักเรียนทุกคนทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างครูชายและครูเพศหญิง ไม่มีความแตกต่างในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีผลต่อสภาวการณ์ไอคิวและอีคิว อายุของครูที่จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีผลต่อสภาวการณ์ไอคิวและอีคิวของเด็กไทยมีความแตกต่างกัน โดยครูที่มีช่วงอายุระหว่าง 46 – 55 ปี สามารถจัดประสบการณ์เรียนรู้ได้ดีที่สุด และเมื่อเปรียบเทียบระดับชั้นการสอนของครูที่จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีผลต่อสภาวการณ์ไอคิวและอีคิวของเด็กไทยพบว่า ครูที่สอนในระดับอนุบาลจะมีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมไอคิวอีคิวมากกว่าช่วงชั้นอื่น
จากผลการศึกษาดังกล่าว ชี้ถึงความจำเป็นในการรณรงค์ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าใจถึงบทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองและครอบครัวในการส่งเสริมพัฒนาการของไอคิวอีคิวของบุตรหลาน
อย่างถูกทาง ทั้งการให้ความรักความอบอุ่น การมีปฏิสัมพันธ์กับลูก การส่งเสริมความคิด การเรียนรู้ตลอดจนการดูแลโภชนาการและการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการมีเวลาพูดคุยให้ความเอาใจใส่แก่กัน นี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ควรรณรงค์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของโรงเรียน สถานศึกษา แม้ครูส่วนใหญ่จะเชื่อมั่นว่าตนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องไอคิวอีคิว และมีพฤติกรรมการสอนหลายด้านที่สอดคล้องกับการส่งเสริมไอคิวอีคิว แต่ก็ยังมีจุดที่สามารถพัฒนาหรือเน้นหนักให้มากขึ้นอีกหลายด้าน เช่น การส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์แต่วัยเยาว์ที่น่าจะส่งผลดีต่อทั้งไอคิวอีคิวเด็ก การเรียนผ่านการเล่นเกม การส่งเสริมระบบเพื่อนช่วยเพื่อนในชั้นเรียน ตลอดจนการช่วยเหลือฝึกอบรมให้ครูรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาวที่ยังมีประสบการณ์น้อยได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้น