พีดีดี เอ็นโอเอส
PDD NOS (Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified)
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
พีดีดี เอ็นโอเอส (PDD NOS - Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified) เป็นการวินิจฉัยโรคในกลุ่มพีดีดี (PDDs - Pervasive Developmental Disorders) หรือ ที่เรียกในชื่อเดิมว่า โรคออทิสติก สเป็กตรัม (Autistic Spectrum Disorders) หมายถึง ความผิดปกติของพัฒนาการรูปแบบหนึ่ง ที่มีความบกพร่องทางด้านทักษะสังคม ด้านการใช้ภาษาและการสื่อความหมาย หรือมีกิจกรรม ความสนใจ ค่อนข้างจำกัดเฉพาะเรื่อง แต่ไม่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคอื่นๆ ในกลุ่มพีดีดี
ระบบการจำแนกโรคตามแบบ DSM-IV ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ได้จัดความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน พีดีดี (PDDs) ออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
1. ออทิสติก (Autistic Disorder)
2. แอสเพอร์เกอร์ (Asperger's Disorder)
3. เรทท์ (Rett's Disorder)
4. ซีดีดี (CDD - Childhood Disintegrative Disorder)
5. พีดีดี เอ็นโอเอส (PDD-NOS - Pervasive Developmental Disorder, Not Otherwise Specified)
การวินิจฉัย พีดีดี เอ็นโอเอส ประกอบด้วยหลากหลายอาการ หลากหลายความรุนแรง แต่มีลักษณะอาการร่วมบางอย่างคล้ายคลึงกัน และไม่ครบตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคชนิดเฉพาะใดๆ ในกลุ่มพีดีดี 4 โรคแรก เช่น เริ่มมีอาการเมื่ออายุมากกว่า 3 ปี มีอาการไม่ครบตามจำนวนข้อที่กำหนด มีความรุนแรงน้อย มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่าง เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ในกรณีที่ยังไม่แน่ใจในการวินิจฉัย เนื่องจากเวลาที่ใช้ในการสังเกต และวิเคราะห์พฤติกรรมยังไม่เพียงพอ ซึ่งในกรณีนี้อาจเปลี่ยนการวินิจฉัยได้ เมื่อมีการประเมินอย่างละเอียดแล้ว
การนำมาจัดรวมอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า พีดีดี เอ็นโอเอส เพื่อให้เกิดความสะดวกในการศึกษา วิจัย การดูแลรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และสามารถสื่อสารได้เข้าใจตรงกันทั่วโลก
การดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ เป็นการรักษาตามอาการ แก้ไขความบกพร่องตามพฤติกรรมต่างๆ ของเด็กที่แสดงออกมา ใช้แนวทางเดียวกับ พีดีดี กลุ่มอื่นๆ โดยยึดหลักการดูแลช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ทันทีที่ได้รับการวินิจฉัย และทำอย่างต่อเนื่อง
การวินิจฉัยว่าเด็กเป็นอะไรก็ตาม ไม่ใช่การตีตราประทับที่จะสร้างความทุกข์ใจให้กับผู้ปกครอง หรือการบอกข้อจำกัดในความสามารถของเด็กให้เกิดความสิ้นหวัง แต่เป็นการบอกว่าเด็กควรจะได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างไร แนวทางใด เพื่อแก้ไขความบกพร่องให้ตรงจุด เพราะถ้าพวกเขาได้รับการดูแลช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ถูกแนวทาง และทำอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นโอกาสที่เขาจะมีการพัฒนาจนเต็มศักยภาพที่เขามี
ถึงแม้ว่ากระบวนการดูแลช่วยเหลือจะผ่านความยากลำบาก และความเจ็บปวดของพ่อแม่ แต่ก็มีหลักประกันได้ว่า กระบวนการเหล่าสามารถช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้มาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือแต่เริ่มแรก พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ปกครองควรทำ คือ ช่วยให้เด็กพัฒนาได้เต็มศักยภาพที่เขามีมากที่สุด โดยการส่งเสริมจุดแข็ง และแก้ไขจุดบกพร่องที่มีในตัวเด็ก
การเรียนรู้ให้เข้าใจในภาวะความบกพร่องเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถเข้าใจเด็กมากที่สุด และดูแลได้อย่างเหมาะสม พีดีดี เอ็นโอเอส จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ ออทิสติก หรือแอสเพอร์เกอร์ ดังนั้นการเรียนรู้แนวทางการดูแลช่วยเหลือจากเรื่องออทิสติก หรือแอสเพอร์เกอร์ ก็สามารถช่วยทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น
…………………………………………………………..