SELECTIVE MUTISM ในเด็ก

 

 

SELECTIVE MUTISM ในเด็ก

แปลโดย  นางสาวสุชาวดี  พัฒนผลสุขุม  นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย

 

          เด็ก selective mutism พูดได้เหมือนเด็กปกติ แต่จะไม่พูดกับคนที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะเมื่ออยู่นอกบ้าน (Black & Uhde 1995; Dummit et al. 1997; Ford et al. 1998; Steinhausen & Juzi 1996) เด็กรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกันมากกว่าพูดคุยกับผู้ใหญ่ (Black & Uhde 1995; Kolvin & Fundudis 1981) เด็กที่ไม่มีความมั่นใจในการพูด พูดตะกุกตะกัก หรือพูดเบามากแทบไม่ได้ยิน ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม selective mutism ด้วย

          เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่เป็น selective mutism มากกว่าเด็กผู้ชาย (Black & Uhde 1995; Dummit et al. 1997; Kristensen 2000; Steinhausen et al. 2006) เมื่อเริ่มต้นเข้าสังคม เด็กอาจจะไม่พูดเพราะรู้สึกเขินอายจนถึงอายุ 3 ปี (Black & Uhde 1995; Dummit et al. 1997; Ford et al. 1998; Kolvin & Fundudis 1981; Kristensen 2000; Steinhausen & Juzi 1996)

          ในประเทศอังกฤษ เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า " elective mutism " เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา  แต่ต่อมาประเทศสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนชื่อเรียกกลุ่มอาการนี้เป็น “selective mutism” เพราะเด็กเขินอายและกังวลมาก จึงเลือกไม่พูดกับบางคนและในบางสถานที่ (Steinhausen & Juzi 1996)

          คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการที่เด็กกลุ่มนี้ไม่พูดเพราะโกรธที่ถูกตำหนิหรือถูกลงโทษ (Kristensen 2000) เมื่อบังคับให้พูด ก็ดูเหมือนเด็กยิ่งไม่ให้ความร่วมมือ ทั้งๆที่การไม่พูด ก็เป็นเพียงแค่วิธีหนึ่งที่เด็กใช้เพื่อลดความเขินอายและความวิตกกังวลในการเข้าสังคม

 

ประเภทของ SELECTIVE MUTISM

selective mutism มี 4 ประเภท ได้แก่ 
1. transient mutism (ไม่พูดชั่วคราว)
          เด็กไม่พูดในสัปดาห์แรกๆ (หรือเดือนแรกๆ) เมื่อเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ โรงเรียน แต่อาการเหล่านี้จะค่อยๆลดลง และหายไปเองในที่สุด (Kolvin & Fundudis 1981)

2. migrant children (เด็กย้ายที่อยู่อาศัยใหม่)
          เด็กที่ใช้ 2 ภาษา (bilingual children) มักจะขาดความมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษ แต่อาการเหล่านี้จะค่อยๆลดลงเมื่อทักษะการพูดภาษาอังกฤษพัฒนาขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กย้ายที่อยู่อาศัยใหม่บางคน อาการอาจจะพัฒนาไปเป็น persistent mutism (ไม่พูดอย่างถาวร)ได้ ด้วยอัตราที่อาจจะสูงถึง 7.9 ต่อ 1000 ซึ่งสูงกว่าในคนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เกือบ 8 เท่าตัว (Dummit et al. 1997) Porter(2008) ไม่ได้ใส่ใจในอุบัติการณ์ข้างต้นนัก แต่กังวลว่าในเด็กที่พัฒนามาเป็น persistent mutism (ไม่พูดอย่างถาวร) อาจจะปลีกตัวออกจากสังคมเพราะเครียดและจิตใจบอบช้ำ

3. secondary to other conditions (เป็นอาการรองลงมา ซึ่งเป็นร่วมกับกลุ่มอาการอื่น)
          เด็ก selective mutism ร้อยละ 20 – 30 จะเป็นร่วมกับกลุ่มอาการอื่น เช่น Asperger syndrome (Ford et al. 1998; Kolvin & Fundudis  1981; Kristensen  2000; Steinhausen & Juzi 1996) การหลีกเลี่ยงการพูด ทำให้เด็กรู้ตัวว่าตนเองมีปัญหาในการเข้าสังคม

4. persistent mutism (ไม่พูดอย่างถาวร)
          เด็กกลุ่มนี้ มักไม่พูดเลยอย่างน้อย 3 ปี ในเด็กอายุ 7 ปี อัตราอยู่ที่ประมาณ 0.8 ต่อ 1000 และจะลดลง ในเด็กที่อายุมากขึ้น (Dummit et al. 1997; Kolvin & Fundudis 1981; Kristensen 2000; Steinhausen & Juzi 1996) แม้ว่าเด็กกลุ่มนี้จะพบได้น้อย เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่ม transient mutism (ไม่พูดชั่วคราว) แต่เด็กกลุ่มนี้มักจะวิตกกังวลมากกว่าปกติอยู่ตลอดเวลา (มากกว่าปกติเมื่อต้องเข้าสังคม) และมักจะไม่ยอมออกห่างจากพ่อแม่เลย แต่อย่างไรก็ตาม เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีผลการเรียนที่ดี แม้ว่าครูมักจะตีตราไปก่อนว่าเขามีความสามารถต่ำ

 

การรักษา
          การรักษาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของ selective mutism  โดยมีวิธีการรักษา ดังนี้
- แนะนำให้เด็กมารับการประเมิน
          เมื่อเด็กไม่พูดมากกว่า 2 เดือน ควรพาเด็กมาพบนักแก้ไขการพูด เพื่อรับการประเมิน และพบนักจิตวิทยาในกรณีที่เด็กมีความบกพร่องทางพัฒนาการร่วมกับการไม่พูด (Kristensen 2000) การประเมินต้องเน้นเรื่องการแก้ไขความวิตกกังวลของเด็ก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไม่พูด (Dummit et al. 1997)

- เลือกงานให้เหมาะสมกับเด็ก
          ถ้าเด็กหลีกเลี่ยงการฝึก อาจเป็นเพราะเขาคิดว่างานนั้นยากเกินไป จึงควรปรับเปลี่ยนงานให้ง่ายขึ้น โดยให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน เพื่อเด็กจะได้มีความมั่นใจในการทำงานนั้นให้สำเร็จ (Kristensen 2000)

- หลีกเลี่ยงการให้รางวัล/การลงโทษ
          เด็กselective mutism ไม่จำเป็นต้องมาปรับพฤติกรรม (Kristensen 2000) ฉะนั้นการลงโทษเด็กโดยการเพิกเฉย หรือ ใช้เวลานอก (time out) หรือการลงโทษวิธีอื่น จึงไม่มีผลต่อการรักษา (Ford et al. 1998)
          นอกจากห้ามลงโทษเด็กแล้ว  ก็ห้ามชมเด็กว่า "หนูเก่งมาก" เมื่อเด็กพูดต่อหน้าสาธารณชน และห้ามให้รางวัลที่เป็นลักษณะการสะสมแต้ม เช่น การวาดดาวให้เมื่อเด็กพูดได้ (star charts) เพราะจะทำให้เด็กเข้าใจว่าเราสนใจแต่การแสดงออกภายนอกของเด็กมากกว่าที่อารมณ์ความรู้สึกภายในของเด็ก
          การให้รางวัลแก่เด็กอาจทำให้เด็กบางคนต่อต้านได้ เช่น เด็กที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง(spirited  children) เขาจะคิดว่าที่เรานำเสนอรางวัลหรือขู่ลงโทษ เป็นการควบคุมเขา เขาก็จะยิ่งต่อต้าน และอาจนำไปสู่จุดที่เด็กปฏิเสธการพูดในที่สุด และเด็กจะต่อต้านมากขึ้นเมื่อเราพยายามควบคุมทุกด้านของเด็ก ส่งผลให้เด็กไม่อยากพูดอีกเลย ฉะนั้นเราควรให้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองและแนะนำให้ค่อยๆฝึกสอนเด็กมากกว่าการสั่งบังคับให้เด็กทำ เพราะจะช่วยให้เด็กลดความวิตกกังวลลงได้ แต่ในเด็กบางคนเมื่ออายุมากขึ้น อาจจะต้องรักษาด้วยยาระงับอาการซึมเศร้าหรือยาคลายกังวลร่วมด้วย (antidepressant or anti-anxiety  medication) (Ford et al. 1998)

- พาเด็กออกจากจุดสนใจของผู้คน
          เมื่อเด็กเข้าไปในห้องครั้งแรก เรามักให้เด็กยืนอยู่ในตำแหน่งที่ทุกคนจะมองเห็นได้และทำให้เด็กเป็นจุดสนใจของทุกคน ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดและไม่อยากพูด ดังนั้นเราควรให้อิสรภาพแก่เด็กที่จะเข้าไปในห้องและพูดทักทายกับคนอื่นเมื่อเด็กพร้อม

- ใช้การสนทนาทางอ้อม
          ให้เด็กพูดคุยผ่านของเล่น อาจจะเป็นตุ๊กตา หรือหุ่นมือ ผ่านมายังของเล่นของคุณ หรือนั่งหันหลังชนกันในขณะที่เขากำลังคุยกับคุณ วิธีการนี้เป็นการฝึกให้เขาพูดคุยกับผู้ใหญ่
 
- อนุญาตให้เด็กรักษาภาษาท้องถิ่นของตัวเองได้
          Porter(2008) เคยพบกับเด็กที่มีสองวัฒนธรรม (bicultural children) ที่กังวลในการพูดภาษาอังกฤษแม้ว่าเขาจะเข้าใจและพูดภาษาอังกฤษกับคนในครอบครัวที่บ้านก็ตาม ถ้าคุณเคยเจอเด็กในลักษณะนี้ ให้คุณให้ความมั่นใจกับเขาว่า คุณมีความสุขที่เขาจะพูดได้ทั้งสองภาษา มันไม่ได้เป็นการทรยศวัฒนธรรมดั้งเดิมของเขา

- ให้เด็กลองคิดวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
          พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับความกลัวอื่นๆที่เด็กต้องจัดการเพื่อที่จะเอาชนะให้ได้ เช่น ต้องยืนนิ่งๆขณะเข้าแถวเคารพธงชาติ หรือเป็นเวรประจำวันต้องทำความสะอาดห้องเรียน แล้วให้ถามเด็กว่าเขาจัดการมันได้อย่างไร และถ้าเด็กไม่ตอบ ให้เราบอกเด็กว่าเขาสามารถใช้วิธีการเดียวกันนั้นจัดการกับปัญหาเรื่องการพูดของตนเองได้

- การให้คำปรึกษา
          Porter(2008) ชื่นชอบการให้คำปรึกษาโดยวิธีการให้เด็กเล่าเรื่อง เพราะจะทำให้ทราบถึงตัวตนที่แท้จริงของเด็ก นอกจากนี้การเปลี่ยนชื่อเรียกของคำว่า”ไม่พูด” ไปเป็นคำอื่น (เช่น ความกังวลเกี่ยวกับความเงียบ) ก็จะทำให้เด็กตำหนิในสิ่งที่เขาเป็นลดลง และเราก็ควรให้ความมั่นใจแก่เด็กว่าเขาสามารถเอาชนะความกลัวได้

........................................................................

Porter, L. (2008). ‘Selective mutism’, an extract from Young children’s behaviour, (3rd ed), Sydney,Elsveier.
แปลโดย...นางสาวสุชาวดี  พัฒนผลสุขุม  นักเวชศาสตร์การสื่อความหมายปฏิบัติการ   สถาบันราชานุกูล

  View : 15.73K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Rett's Syndrome
14 ม.ค. 2556

 วันนี้ 656
 เมื่อวาน 1,069
 สัปดาห์นี้ 2,505
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 19,146
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 868,314
  Your IP : 13.59.88.42