KM นักจิตวิทยาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กับการเยียวยาและพัฒนาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ_2554

          ในช่วงเวลากว่า 4 - 5 ปีมานี้ จากการรวบรวมและวิเคราะห์เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่โดยศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศวชต.) พบว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเฉลี่ยวันละ 3 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดเหตุในช่วงเวลา 06.00 - 08.00 น.

และ 19.00 - 20.00 น. ผู้ได้รับผลกระทบฯ ทั้งสิ้น 4,063 คน บาดเจ็บร้อยละ 47 เสียชีวิตร้อยละ 29 ปลอดภัยร้อยละ 9 และไม่ระบุร้อยละ 15 ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย พื้นที่จังหวัดนราธิวาสมีผู้ได้รับผลกระทบฯ มากที่สุด รองลงมาคือ ปัตตานี ยะลา และสงขลา ข้อมูลส่วนบุคคลในเวลานั้นมีความสมบูรณ์เพียงร้อยละ 52 ส่วนสถิติการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 84 เดือน (4 มกราคม 2547 - 28 ธันวาคม 2553) พบว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 10,498 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4,524 ราย และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจำนวน 7,320 ราย
          เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งผู้ตกเป็นเหยื่อจากความรุนแรงทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร พนักงานรัฐวิสาหกิจ อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา ตลอดจนประชาชนทั่วไป แม้กระทั่งเด็ก ถือเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ต่อเนื่องและยาวนาน ส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ ทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ความหวาดระแวง วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ หวาดผวา ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็กซึ่งเป็นกลุ่มที่บอบบางและช่วยเหลือตนเองได้น้อย การที่ต้องเผชิญเหตุการณ์ที่น่ากลัวและรุนแรง หรือได้เห็นความรุนแรงและความสูญเสียต่อหน้านั้น รวมทั้งการอยู่ท่ามกลางความหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ อาจส่งผลต่อพฤติกรรมทางอารมณ์และจิตใจในระยะยาวได้ เด็กกลุ่มเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลเยียวยาอย่างรวดเร็วและเหมาะสมอาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านสังคมจิตใจ และปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้ ดังนั้น เด็กควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาทางด้านจิตใจเพื่อให้เด็กมีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ เพื่อให้สามารถปรับตัวในสถานการณ์ปัจจุบันได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อดีตรองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูเยียวยาสุขภาพจิต ในรพ.ชุมชนและรพ.ทั่วไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ จ.สงขลารวม 37 อำเภอ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมสุขภาพจิตได้เสนอไปนั้น ทางกรมฯจึงได้จัดให้มีสหวิชาชีพด้านจิตวิทยา ประกอบด้วย นักจิตวิทยา พยาบาลวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาทำงานลงพื้นที่ โดยได้สรรหาพนักงานราชการด้านนักจิตวิทยาลงพื้นที่ไปแล้วอำเภอละ 1 - 2 คนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งเมื่อมีนักจิตวิทยาเข้าไปแต่ละศูนย์ฯ ก็จะทำให้การทำงานคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะเป็นแกนนำในการประสานทีมในระบบสุขภาพ คือ แพทย์และพยาบาล รวมถึงผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน อสม. ในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ก่อนส่งนักจิตวิทยาลงพื้นที่ ทางกรมสุขภาพจิตได้มีการฝึกอบรมทางด้านทักษะเพื่อให้มีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเชื่อ ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของท้องถิ่น พัฒนาทักษะการช่วยเหลือปฐมพยาบาลทางด้านจิตใจเบื้องต้น ทักษะการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต และทักษะการวินิจฉัยการรักษารูปแบบต่างๆในการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ อย่างไรก็ตามทางกรมฯยังจัดให้มีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาอาวุโส มาคอยให้คำปรึกษาพี่เลี้ยงประจำในโรงพยาบาลจังหวัด คือ รพ.ศูนย์ยะลา รพ.ทั่วไป จ.ปัตตานี และรพ.ทั่วไป จ.นราธิวาส นักจิตวิทยาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่มีหน้าที่ดูแลและใกล้ชิดเด็กจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งหลังจากปฏิบัติงานในพื้นที่มาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวและสั่งสมทั้งประสบการณ์รวมถึงความรู้ความชำนาญทางด้านการดูแลเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ในการเยียวยาทางจิตใจ และเฝ้าดูแลต่อเนื่องเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น
          กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันราชานุกูล จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดการความรู้สำหรับนักจิตวิทยาที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนใต้ขึ้น เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ อันน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเป็นบทเรียนและเป็นต้นแบบ รวมถึงตัวอย่างของการปฏิบัติงานที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของการดำเนินงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้

KM นักจิตวิทยาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้.pdf

  View : 5.19K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,343
 เมื่อวาน 1,846
 สัปดาห์นี้ 9,843
 สัปดาห์ก่อน 17,407
 เดือนนี้ 46,560
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 839,211
  Your IP : 13.58.200.78