ราชานุกูล เริ่มต้นจากการเป็นโรงพยาบาลเพื่อเด็กปัญญาอ่อน ซึ่งเป็นที่รับรู้ของทั้งครอบครัวและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากการจัดบริการให้กับเด็กและครอบครัว พัฒนารูปแบบการให้บริการในระดับที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ รวมทั้งการพัฒนาการฟื้นฟูเด็กอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน จากการจัดบริการที่เป็นมาตรฐาน นำไปสู่การพัฒนาการถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้เกิดการพัฒนาระบบสาธารณสุข และนอกระบบสาธารณสุข เพื่อให้เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาเข้าถึงบริการการคัดกรองและประเมินพัฒนาการ ได้รับบริการการส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่แรกเริ่ม และเกิดบริการการฟื้นฟูต่อเนื่อง ทั้งการฟื้นฟูทางการแพทย์ ทางการศึกษา ทางสังคมในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ
ความสำเร็จ ๕๐ ปีของราชานุกูล นำไปสู่ต้นแบบการจัดบริการให้กับเด็กและครอบครัว งานวิชาการ และการจัดการความรู้ที่ผลักดันระบบบริการแก่เด็กและครอบครัวแบบครบวงจร โดยเฉพาะการเป็นต้นแบบการพัฒนางานการฟื้นฟูเด็กด้วยฐานของชุมชน ที่ทำให้เด็กเข้าถึงการส่งเสริมพัฒนาการเพิ่มมากขึ้น พ่อแม่มีศักยภาพที่บกพร่องทางสติปัญญาเช่นเดียวกับเด็กทุกคน
ผลงานสำคัญของราชานุกูล เริ่มจากคู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก และหลักสูตรการอบรมการใช้คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ซึ่งเป็นคู่มือที่มีผู้ผ่านการอบรมทั่วประเทศและใช้ในคลินิกส่งเสริมพัฒนาการต้นแบบโรงพยาบาลราชานุกูล โรงเรียนการศึกษาพิเศษเพื่อเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา และคู่มือการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา งานศึกษาวิจัยด้านพันธุศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะบกพร่องทางสติปัญญาและโรคทางจิตเวช โครงการทดลองจ้างงานบุคคลบกพร่องทางสติปัญญา และคู่มือการเตรียมความพร้อมผู้บกพร่องทางสติปัญญาและครอบครัวทำงาน นอกจากนี้ยังมีต้นแบบในการจัดบริการแนวปฏิบัติในการดูแลเด็กดาวน์ แนวปฏิบัติในการดูแลเด็กที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว หอผู้ป่วยครอบครัว ศูนย์ทันตกรรมเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์สาธิตศิลปกรรมบำบัดเพื่อผู้บกพร่องทางสติปัญญา และการพัฒนาเครือข่ายด้านศิลปกรรมบำบัดรวมทั้งบริการในชุมชน การดูแลเด็กที่บ้าน การเรียนร่วม
สถาบันราชานุกูลได้ดำเนินโครงการในระดับกรมสุขภาพจิต เริ่มจากโครงการสุขภาพจิตเด็กพิการและด้อยโอกาส โดยสร้างเครือข่ายการทำงานด้านเด็กพิการและด้อยโอกาสระดับจังหวัด โครงการติดตามพัฒนาการและฟื้นฟูสภาวะจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ โครงการเยียวยาจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ โครงการพัฒนาสติปัญญาเด็กไทยซึ่งร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัวเพื่อพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย และร่วมกับกรมอนามัยพัฒนาหลักสูตรกิน กอด เล่น เล่า สำหรับพ่อแม่ที่มีลูก ๐-๕ ปี ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานครจัดบริการแก่เด็กที่บกพร่องพัฒนาการในระดับชุมชนและในสถานบริการและจัดหลักสูตรอบรมการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น
เข็มมุ่งของราชานุกูลนับจากนี้ จากองค์ความรู้ที่สั่งสมมา สถาบันราชานุกูลจะพัฒนาการให้บริการแบบองค์รวมในระดับตติยภูมิที่ใช้ความเชี่ยวชาญของสหวิชาชีพ พัฒนานวตกรรมการบริการเด็กและครอบครัวในรูปแบบต่างๆทั้งด้านการวินิจฉัย การบำบัดรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ และเป็นศูนย์กลางทางวิชาการมีความรู้เฉพาะทางด้านพัฒนาการเด็กและภาวะบกพร่องทางสติปัญญาอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาเด็กไทยอย่างรอบด้าน
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร
ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ๒๕๕๓