การดูดนิ้ว (Thumb-sucking)

 

 

การดูดนิ้ว (Thumb-sucking)

โดย พญ.จอมสุรางค์ โพธิสัตย์

 

          การดูดนิ้ว เป็นพฤติกรรมที่พบได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาเมื่อมีอายุครรภ์ 18 สัปดาห์  วัยทารก  ก่อนวัยเรียน   และอาจมีต่อเนื่องจนถึงวัยเรียน   ส่วนใหญ่หลังอายุ 2 – 4  ปี   เด็กมักจะค่อย ๆ เลิกดูดนิ้วไปเอง   แต่บางคนอาจดูดนิ้วต่อไปอีกระยะหนึ่งซึ่งมักจะดูดเฉพาะก่อนนอนไปจนอายุ 5 – 6  ปี    เด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี  ไม่จำเป็นต้องรักษาหากไม่มีผลกระทบในด้านต่างๆ   เพราะเด็กสามารถพัฒนาการควบคุมตนเองได้และเลิกดูดนิ้วไปได้ในที่สุด การดูดนิ้วจะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกาย  พัฒนาการ  ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและความนับถือตนเอง ( Self – esteem )  ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม

ระบาดวิทยา
• ร้อยละ 80 ของเด็กทารกมีพฤติกรรมการดูดนิ้ว
• เด็กก่อนวัยเรียนพบร้อยละ 30 – 45
• เด็กอายุมากกว่า 5 ขวบ มีพฤติกรรมดูดนิ้วร้อยละ 5 – 20
• พบบ่อย : เด็กหญิง > เด็กชาย  , สถานะทางเศรษฐกิจสังคมระดับสูง
• ร้อยละ 30 – 55 ของเด็กที่ดูดนิ้วจะติดของบางอย่าง  ( attachment object ) ร่วมด้วย  เช่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา เล่นผมตัวเอง

สาเหตุ
1.พฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ ( Learned habit / behavior )   เด็กวัยทารกอายุประมาณ 4 -6 สัปดาห์เอามือเข้าปากโดยบังเอิญแล้วเรียนรู้ว่าการดูดนิ้วจึงทำให้เกิดความสุข  ความพอใจ ความเพลิดเพลิน ( Gratification ) จึงทำให้พฤติกรรมดังกล่าวอีก   
2.เด็กจะดูดนิ้วเพื่อเป็นการกระตุ้นตนเอง ( Self – stimulation )  เมื่อรู้สึกเบื่อ อยู่คนเดียว ถูกทอดทิ้ง หรือไม่ได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสมจากผู้เลี้ยงดู
3. เด็กดูดนิ้วเพื่อเป็นการปลอบตนเอง ( Self – soothing )  เมื่อไม่สุขสบายกาย  เช่น หิว  ง่วง  หรือป่วย  เมื่อไม่สบายใจหรือมีความเครียด  ความกังวล  เช่นการเข้าโรงเรียน  การย้ายที่อยู่  การมีน้อง

ผลกระทบ
1.ปัญหาเกี่ยวกับช่องปากและฟัน  ที่พบได้มากที่สุด  เช่นการสบของฟัน การบาดเจ็บของเยื่อบุช่องปาก   รูปหน้าผิดปกติ
2.ปัญหาเกี่ยวกับนิ้วมือและเล็บ เช่น  การติดเชื้อ  นิ้วผิดรูป
3.ปัญหาด้านจิตใจ  ได้แก่  ปัญหาความสัมพันธ์โดนเพื่อนล้อ  โดนพ่อแม่ตำหนิหรือลงโทษ

การช่วยเหลือ
เป้าหมาย
 : ป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางทันตกรรม และผลกระทบทางจิตสังคม ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง( Self–Esteem )
1.ให้ความรู้ผู้ปกครอง : พฤติกรรมดังกล่าว เป็นพฤติกรรมปกติตามวัย  และจะหายไปเมื่อโตขึ้น
2.ไม่ต้องสอน ไม่ต้องเตือน  ไม่ดุ   และไม่ทำโทษเรื่องการดูดนิ้ว
3.ไม่ให้ความสนใจเมื่อเด็กดูดนิ้ว เมื่อเด็กดูดนิ้วให้เบี่ยงเบนความสนใจไปสู่การทำกิจกรรมอื่นโดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องใช้มือ เช่น  ช่วยถือของ  ช่วยหยิบของ  หรืออาจจะเป็นกิจกรรมขีด ๆ เขียน ๆ
4.ชื่นชมเมื่อเด็กไม่ดูดนิ้ว
5.อย่าปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียว  ควรหากิจกรรมให้เด็กทำ  เมื่อเด็กสนุกและเพลิดเพลินแล้วเด็กก็จะลืมเรื่องการดูดนิ้วไป ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะช่วยลดพฤติกรรมดูดนิ้วแล้วยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการได้อีกด้วย   กิจกรรมที่ให้เด็กทำได้แก่ กิจกรรมการเคลื่อนไหว/ออกกำลังกาย  การวาดรูป  ระบายสี  ปั้นดินน้ำมัน การพูดคุย การเล่านิทาน  การเล่น นอกจากนี้อาจชวนเด็กมาช่วยงานง่าย ๆ แล้วให้คำชมเป็นรางวัลซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่และเด็กแล้วยังช่วยสร้างเสริมความภาคภูมิใจในตัวเองอีกด้วย
6.ถ้าการดูดนิ้วเกิดมากขึ้นให้หาสาเหตุว่าเกิดจากความไม่สุขกายหรือสบายใจอะไร โดยเฉพาะความไม่สบายใจจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น  การเข้าโรงเรียน ย้ายบ้าน มีน้อง  ก็ต้องให้การประคับประคองจิตใจเด็กเพื่อให้ปรับตัวได้
7.ถ้าเด็กอายุมากกว่า 4 – 5 ขวบ แล้วยังดูดนิ้วอยู่และมีความถี่ในการดูดนิ้วมาก รวมถึงได้รับผลกระทบทางจิตใจเช่น โดนล้อเลียน   ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

เอกสารอ้างอิง
1.วิรงรอง  อรัญนารถ. ปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อยในเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี Common Behavioral Problems in Young Children. .ใน: ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์, สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์, วีระศักดิ์ ชลไชยะ, บรรณาธิการ. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก  เล่ม 3  การดูแลเด็กสุขภาพดี. กรุงเทพ ฯ : บียอนด์  เอ็นเทอร์ไพรซ์; 2556 หน้า 224 – 25.
2.อัมพล สูอำพัน. ปัญหาพฤติกรรมที่ทำซ้ำ ๆ จนเป็นนิสัย ( Habitual Problems ). ใน:วัณเพ็ญ บุญประกอบ, อัมพล สูอำพัน, นงพะงา ลิ้มสุวรรณ, บรรณาธิการ. จิตเวชเด็กสำหรับกุมารแพทย์ Child Psychiatry for Pediatricians ( ฉบับปรับปรุง ) . กรุงเทพ ฯ : ชวนพิมพ์ ; 2538 หน้า 170 – 78.
3.Blenner S. Thumb sucking.In:Parker S,Zuckerman B,Augustyn M, editors.Handbook for Developmental and behavioral pediatrics for primary care , 2 nd ed.Philadelphia: Lippincott Williams & Wilkins; p.348-9

.......................................................

  View : 31.02K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 278
 เมื่อวาน 1,080
 สัปดาห์นี้ 4,242
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 4,525
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 886,203
  Your IP : 52.167.144.157