คนพิการกับโอกาสทางสังคม

 

 

คนพิการกับโอกาสทางสังคม
นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา  จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น


          อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities: CRPD) ถือเป็นอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับแรก ที่องค์การสหประชาชาติประกาศขึ้นเพื่อให้หลักประกันในสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อคนพิการ อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ช่วยให้คนพิการกว่า 650 ล้านคน ทั่วโลก มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกกระทำการต่างๆ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ

          สำหรับประเทศไทยก็ร่วมให้สัตยาบันเพื่อเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ซึ่งมีผลทำให้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ซึ่งสาระหลัก คือ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของคนพิการ โดยเน้นที่การขจัดอุปสรรคจากภายนอก และการแก้ไขความเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการ ซึ่งประกอบด้วยหลักการ 2 ประการ ได้แก่
           1) การพัฒนาสังคม (Social Development) เป็นการกำหนดมาตรการที่มุ่งพัฒนาบริการในด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป
           2) การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนพิการ ซึ่งรวมถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติและการสร้างหลักประกันความเสมอภาคในทุกมิติ (Non-Discrimination and Equality) 
           
          นอกจากนี้ อนุสัญญาฯ ยังกล่าวถึงหลักการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ (Accessibility) ซึ่งประกอบด้วย
           1. การปรับสภาพแวดล้อม ทางกายภาพ อาคารสถานที่ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร และบริการต่างๆ ฯลฯ ให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยการออกแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรม หรือที่เรียกว่า “อารยะสถาปัตย์” (Universal Design) ต่อคนทุกกลุ่ม เช่น การออกแบบและก่อสร้างส้วมให้คนทุกกลุ่มรวมถึงคนพิการที่ใช้เก้าอี้เข็นสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป การออกแบบบริการข้อมูลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ในรูปแบบที่ทุกคน รวมถึงคนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น
           2. การจัดให้มีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) สำหรับคนพิการแต่ละประเภท เช่น เครื่องช่วยฟังสำหรับคนหูหนวก โปรแกรมอ่านจอภาพคอมพิวเตอร์สำหรับคนตาบอด หรือป้ายบอกทางซึ่งใช้ภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นต้น
           3. การให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมหรือสมเหตุผล (Reasonable Accommodation) เพื่อลดการเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการแต่ละประเภท เช่น การจัดบริการล่ามภาษามือให้แก่คนหูหนวก การให้มีผู้ช่วยคนพิการสำหรับคนพิการที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ อันไม่อาจตอบสนองได้โดยวิธีการทั่วไป รวมถึงความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

สิทธิของคนพิการตามอนุสัญญาฉบับนี้ ได้แก่ 
           - ความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ 
           - สิทธิการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงของบุคคล 
           - สิทธิที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถตามกฎหมายบนพื้นฐานอันเท่าเทียมกัน 
           - เสรีภาพจากการถูกทรมาน 
           - เสรีภาพจากการแสวงหาประโยชน์ การใช้ความรุนแรง และการถูกล่วงละเมิด 
           - สิทธิที่จะได้รับการเคารพต่อศักดิ์ศรี ทางร่างกายและจิตใจ 
           - เสรีภาพในการย้ายถิ่นฐานและการถือสัญชาติ 
           - สิทธิในการอาศัยอยู่ในชุมชน 
           - เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น 
           - การเคารพการเป็นส่วนตัว 
           - การเคารพในการสร้างครอบครัวและสถาบันครอบครัว 
           - สิทธิด้านสุขภาพ 
           - สิทธิทางการศึกษา 
           - สิทธิด้านการทำงาน 
           - สิทธิสำหรับมาตรฐานความเป็นอยู่ที่เพียงพอ 
           - สิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง และสาธารณกิจ 
           - สิทธิการมีส่วนร่วมด้านวัฒนธรรม นันทนาการการผ่อนคลายยามว่าง และกีฬา

          นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา ตัวแทนคนพิการ กล่าวว่า “หากประเทศไทยทำตามอนุสัญญาฉบับนี้อย่างเคร่งครัด จะช่วยให้มุมมองต่อคนพิการของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่มองความพิการเป็นเรื่องส่วนตัว อยู่ที่เวรกรรมของแต่ละคน และจะอยู่ได้ด้วยความสงสาร ความเห็นใจ เป็นสังคมเวทนานิยม กลายเป็นสังคมฐานสิทธิ ที่ให้คนพิการได้รับประโยชน์ตามสิทธิ มีเสรีภาพในการเลือกกระทำการต่างๆ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ”

          นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนากฎหมายต่างๆ ของไทย ที่สอดคล้องกับหลักของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำรับคนพิการ พ.ศ.2551 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 20 ฉบับ ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลสำหรับคนพิการไว้ในกฎหมายไทย

          “คนพิการ” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด ประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความจำเป็นเป็นพิเศษที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป

          ได้กำหนดประเภทความพิการ ออกเป็น 6 ประเภท ตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง “ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ” พ.ศ.2552 ดังนี้ 
          - ความพิการทางการเห็น 
          - ความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 
          - ความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 
          - ความพิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม หรือออทิสติก 
          - ความพิการทางสติปัญญา 
          - พิการทางการเรียนรู้


          พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงวิธีการในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองคนพิการ เพื่อมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุสภาพทางกายหรือสุขภาพ รวมทั้งให้คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ตลอดจนให้รัฐต้องสงเคราะห์คนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้

          สนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป และมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

          กำหนดให้มีการลดหย่อนภาษี แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ องค์กรเอกชนที่จัดให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ มีการจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการ มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

          ทุกวันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นวันคนพิการสากล เพื่อย้ำเตือนความสำคัญของคนพิการอีกด้วย เป็นการระลึกถึงวันครบรอบที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติมีมติรับแผนปฏิบัติการโลกว่าด้วยเรื่องคนพิการ (World Programme of Action concerning Disabled Persons) และได้ให้ประเทศสมาชิกร่วมจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจของสังคมต่อคนพิการ และยอมรับให้เข้าร่วมกิจกรรมในด้านต่างๆ

          ...สุดท้ายปลายทางของโอกาสต่างๆ ที่มีอยู่ คือ การนำมาทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เกิดความเสมอภาคในสังคม การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ ก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ ใจที่เปิดกว้างของผู้คนในสังคม...


…………………………………………………………………………….

เอกสารอ้างอิง

พัฒนาคนพิการไทย, มูลนิธิ. สิทธิตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ. [Online] 2551; Available from URL:http://www.tddf.or.th/tddf/newsroom

มณเฑียร บุญตัน. ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“คนพิการไทยได้อะไรจาก CRPD: อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ. [คมชัดลึกออนไลน์ 3 ธันวาคม 2551]

ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการ. 2552; 126(77ง): 2

ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550. 2550; 124(61ก): 8

ศิริชัย ทรัพย์ศิริ. สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ. [Online] 2551; Available from URL: http://www.waddeeja.com

ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ, สำนักงาน. สรุปสาระสำคัญอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ. [Online] 2554; Available from URL: http://www.nep.go.th

  View : 28.94K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 986
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 7,009
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,650
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 872,818
  Your IP : 3.145.99.221