กลุ่มโรคสำคัญ > กลุ่มโรคจิตเวชเด็กและอื่น ๆ

ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (School Refusal)


“ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (school refusal)” เป็นชื่อเรียก ภาวะที่เด็กมีความกังวลอย่างมากต่อการต้องไปโรงเรียน เด็กที่อยู่ในภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนมักแสดงความกังวลที่อยู่ภายในใจออกมาเป็นพฤติกรรมต่างๆซึ่งแสดงออกมาอย่างชัดเจนเมื่อผู้ใหญ่บอกให้เด็กไปโรงเรียน เช่น ร้องไห้เมื่อให้ไปโรงเรียน ดูไม่มีความสุข ท่าทีซึมลงเมื่อพูดถึงโรงเรียน แกล้งนอนต่อเพื่อจะได้เข้าเรียนไม่ทัน แกล้งป่วยเพื่อจะได้ไม่ต้องไปโรงเรียน เป็นต้น เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาขาดแรงจูงใจที่จะไปโรงเรียน หรือมีความยากลำบากที่จะอยู่ในชั้นเรียนได้จนครบคาบเรียน อย่างไรก็ตามภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนไม่นับรวมกลุ่มเด็กดังต่อไปนี้ ได้แก่ ขาดโอกาสในการไปโรงเรียนเนื่องมาจากผู้ปกครองไม่ได้พาเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือเด็กที่อยู่ในสถานะไร้บ้านจนเป็นผลให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น 

           สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไม่ยอมไปโรงเรียนมักเกิดจากปัจจัยต่าง เช่น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กเอง ครอบครัว โรงเรียน และสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่อยู่อาศัย โดยมากพบว่าเด็กที่มีภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนมีสาเหตุหลัก 4 ประการ ได้แก่ 

1) การหลีกหนีจากเหตุการณ์หรือสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่ทำให้เกิดความเครียด 

2) การหลีกหนีจากสถานการณ์สังคมบางอย่างที่ทำให้ไม่สบายใจ

3) การกระทำเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง 

4) การเรียกร้องความสนใจเพื่อต่อรองให้ได้รับสิ่งของบางอย่างที่เด็กต้องการ 

           โดยช่วงเริ่มต้นก่อนที่เด็กจะมีพฤติกรรมที่อยู่ในกลุ่มของการไม่ยอมไปโรงเรียนอาจเกิดขึ้นทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไป ในกรณีที่เริ่มมีอาการกะทันหัน การปฏิเสธมักเกิดขึ้นหลังจากช่วงที่โรงเรียนมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง เช่น ช่วงปิดเทอม วันหยุดเรียนตามโอกาสหรือวันสำคัญต่าง ๆ หรือหลังจากการเจ็บป่วยช่วงสั้น ๆ นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้หลังจากเหตุการณ์เครียด เช่น การย้ายบ้านใหม่ หรือการตายของสัตว์เลี้ยง การจากไปของสมาชิกในครอบครัวหรือญาติ เป็นต้น

เด็กที่อยู่ในภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนมักแสดงพฤติกรรมได้หลากหลาย และมีข้อบ่งชี้ที่ประเมินได้จากอาการทั้งภายในและภายนอก ดังนี้

1) อาการภายใน ได้แก่ ความวิตกกังวลทั่วไป ความวิตกกังวลจากการเข้าสังคม ความวิตกกังวลจากการแยกจากกัน การถอนตัวจากการเข้าสังคม ความเหนื่อยล้า ความกลัว และ/หรืออาจพบร่วมกับภาวะซึมเศร้าด้วย

2) อาการภายนอก มักพบเป็นอาการที่แสดงออกมาทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน      เหงื่อออก ท้องร่วง หรือหายใจลำบากอันเป็นผลมาจากความวิตกกังวล พฤติกรรมภายนอกอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ การท้าทาย ความก้าวร้าว อารมณ์ฉุนเฉียว ติดพ่อแม่มาก ไม่ยอมขยับตัว วิ่งหนีเมื่อต้องไปโรงเรียน 

ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะหายไปแต่จะกลับมาในเช้าวันรุ่งขึ้นก่อนไปโรงเรียน 

ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนสามารถเกิดขึ้นร่วมกับความผิดปกติ และโรคร่วมทางจิตเวชอื่น ๆ ได้หลากหลาย ที่พบได้บ่อย เช่น โรควิตกกังวลในการแยกจากกัน (22.4%) โรควิตกกังวลทั่วไป (10.5%) โรคต่อต้าน (8.4%) ภาวะซึมเศร้า (4.9%) ความหวาดกลัวเฉพาะ (4.2%) โรควิตกกังวลทางสังคม (3.5%) และปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ (2.8%) 

จากการศึกษาของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางลบที่เกิดจากการไม่ไปโรงเรียนของเด็กได้รายงานถึงผลกระทบในระยะสั้น และในระยะยาว ดังนี้ 

1) ผลกระทบระยะสั้นของการปฏิเสธโรงเรียนสำหรับเด็ก ได้แก่ ความทุกข์ ความแปลกแยกทางสังคม และเกรด/ผลการเรียนที่ลดลง อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวและปัญหาทางกฎหมาย 

2) ผลกระทบในระยะยาว เด็กที่มีประวัติปฏิเสธการไปโรงเรียนในช่วงวัยเด็กมักมีความสัมพันธ์กับปัญหาอื่นๆในวัยผู้ใหญ่ เช่น การขาดงานมากเกินไป ปัญหาทางสุขภาพจิตในวัยผู้ใหญ่ ปัญหาสังคมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติดอย่างผิดกฎหมาย การดื่มสุรา โภชนาการที่ไม่ดี พฤติกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การใช้ความรุนแรง การขับรถขณะมึนเมา เป็นต้น

นอกจากนี้ปัจจัยเสี่ยงและความเชื่อมโยงของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนของเด็กซึ่งมีผลกระทบกับมิติด้านต่าง ๆ ทั้งตัวเด็กเอง ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน โดยสามารถสรุปได้ดังตารางที่ 1 ดังนี้

ตารางที่ 1 ปัจจัยเสี่ยง/ปัญหาที่ส่งผลต่อ 4 มิติที่เกิดขึ้นจากภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน


ระบาดวิทยา

อัตราความชุกของการพบเด็กที่มีภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนที่เป็นที่ยอมรับมากที่สุดคือ 1–2% ของเด็กวัยเรียน และความชุกในกลุ่มเด็กที่ถูกส่งมารับการปรึกษาหรือรักษา ณ สถานพยาบาลพบอัตราความชุกประมาณ 5 – 15% โดยพบว่าภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่มักเกิดขึ้นบ่อยขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตของเด็ก เช่น การเข้าโรงเรียนอนุบาล (อายุ 5 - 6 ปี) การเปลี่ยนจากระดับชั้นประถมศึกษาเป็นชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (อายุ 10-11 ปี) หรือการเปลี่ยนจากระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นมัธยมศึกษาตอนปลาย (อายุ 14) 

การวินิจฉัยภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน

แม้ว่า “ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน” ไม่ได้เป็นโรคที่อยู่ในระบบการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชใน “the Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-V) แต่ก็นับเป็นภาวะทางสุขภาพจิตที่ควรได้รับการประเมินเพื่อการดูแลเร่งด่วน เนื่องจากภาวะดังกล่าวมีผลกระทบกับเหตุการณ์ที่สำคัญในชีวิตประจำวันของเด็กในวัยเรียน นั่นคือ การไปโรงเรียน สำหรับองค์ประกอบหลักที่ใช้พิจารณาประกอบการวินิจฉัยภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนมี 2 ประการสำคัญ ได้แก่ องค์ประกอบด้านอารมณ์ และด้านพฤติกรรมการแสดงออก 

1) องค์ประกอบด้านอารมณ์ เป็นอารมณ์ทางลบที่เด็กแสดงออกถึงความไม่สบายใจ หรือดูไม่มีความสุขเฉพาะช่วงก่อนไปโรงเรียน หรือช่วงที่ไปโรงเรียน โดยจะแสดงออกมากขึ้นเรื่อย ๆ และชัดเจนมากขึ้นในตอนเช้าที่เด็กต้องไปโรงเรียน โดยทั่วไปการแสดงออกจะปรากฏออกมาในรูปแบบอาการไม่สบายทางร่างกาย และอาการดังกล่าวจะลดลง หรือหายไปหลังจากที่เด็กได้อยู่ห่างจากโรงเรียน หรือรู้ว่าตนไม่ต้องไปโรงเรียน

2) องค์ประกอบด้านพฤติกรรม เด็กที่อยู่ในภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนมักแสดงพฤติกรรมแตกต่างกันออกไป พบได้ตั้งแต่มีความลังเล หรือดูกังวล ไปจนถึงบอกปฏิเสธอย่างชัดเจนเมื่อต้องไปโรงเรียน สำหรับพฤติกรรมที่พยายามจะหลีกเลี่ยงจากการอยู่ในโรงเรียนมักพบตั้งแต่การเข้าเรียนสาย พยายามหนีออกจากโรงเรียน หรือหนีคาบเรียนเป็นบางคาบ หรือหลบอยู่สถานที่อื่นภายในโรงเรียนโดยไม่ได้เข้าไปในห้องเรียนทั้งวัน 

การประเมินเพื่อวินิจฉัยภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนมีความจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากหลายส่วนประกอบกัน การหาข้อมูลควรทำอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถนำมาวิเคราะห์ผลการประเมินไปสู่การวางแผนช่วยเหลือเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินเพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับพฤติกรรมไม่ยอมไปโรงเรียนควรมีความหลากหลายเพื่อให้ข้อมูลครบถ้วน เช่น การสัมภาษณ์เชิงคลินิก/การสอบถามจากเด็ก การให้เด็กสังเกตตนเอง การสัมภาษณ์ผู้ปกครองและครู การทบทวนบันทึกการเข้าชั้นเรียน เป็นต้น

วัตถุประสงค์ที่มีความจำเป็นต้องประเมินภาวะดังกล่าวนี้เนื่องจาก

1) ยืนยันว่าพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับการไปโรงเรียนอยู่ในกลุ่มของภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน

2) ประเมินความรุนแรงของการขาดเรียนจากการไม่ยอมไปโรงเรียน

3) แยกประเภทของการแสดงออกว่าอยู่ในองค์ประกอบด้านใดระหว่างด้านอารมณ์ หรือพฤติกรรม

4) รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก ครอบครัว โรงเรียน และชุมชนที่อาจมีส่วนทำให้เกิดพฤติกรรม 

5) นำข้อมูลที่ได้มาตั้งสมมติฐานการทำงานเพื่อวางแผนการดูแลและบำบัดที่เหมาะสมกับเด็ก

สำหรับประเด็นที่ใช้พิจารณาประกอบการวินิจฉัยมีดังนี้

1) จำนวนวันที่เด็กไม่มาเรียน มาสาย หรือออกจากโรงเรียนเร็ว

2) ข้อมูลจากการสังเกต หรือรายงานของผู้ปกครองที่เกี่ยวกับการไม่ยอมไปโรงเรียนของเด็ก

3) ข้อมูลจากการสอบถามหรือสัมภาษณ์เด็กที่เกี่ยวข้องกับการไม่ยอมไปโรงเรียน

เป้าหมายหลักของการรักษาภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน

คือ ให้เด็กเข้าเรียนในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอและอย่างสมัครใจโดยมีความทุกข์ทางอารมณ์น้อยลง หรือน้อยที่สุด เน้นความสำคัญของการช่วยเหลือเด็กในการจัดการปัญหาทางสังคม อารมณ์ และพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากการไม่เข้าเรียนในโรงเรียนเป็นเวลานาน  การรักษาภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุหลักของพฤติกรรมและปัจจัยส่วนบุคคล ครอบครัว และโรงเรียนที่มีผลกระทบต่อเด็ก การวิเคราะห์พฤติกรรมของเด็กมักเกี่ยวข้องกับมุมมองของผู้ปกครอง/ครอบครัว โรงเรียน และตัวเด็กเอง

เทคนิคการบำบัดภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนของเด็ก เช่น การบำบัดด้วยการให้คำแนะนำ ให้ความรู้ และให้คำปรึกษาเบื้องต้น การบำบัดด้วยยา การบำบัดด้วยรูปแบบที่อาศัยความร่วมมือกันระหว่างครูและผู้ปกครอง และการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม ซึ่งในบรรดาเทคนิคต่าง ๆ ที่กล่าวมา การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมเป็นเทคนิคที่นิยมใช้ในการบำบัดเด็กที่มีภาวะความกลัว ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าที่เกี่ยวข้องกับการไปโรงเรียน การใช้เทคนิคดังกล่าวนี้ ผู้บำบัดต้องช่วยเหลือและบำบัดเด็กร่วมกับผู้ปกครอง และครู ซึ่งจะทำให้การหาสาเหตุของการไม่ไปโรงเรียนของเด็กมีความชัดเจนมากขึ้น อันจะนำไปสู่การดูแลให้เหมาะสมยิ่งขึ้น วิธีการบำบัดพฤติกรรมที่ใช้ร่วมกับการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมนั้นประกอบด้วยเทคนิคอื่น ๆ ด้วย เช่น การฝึกการผ่อนคลาย การลดการตอบสนองทางความรู้สึกอย่างเป็นระบบ การสัมผัสกับสภาพแวดล้อมของโรงเรียนอย่างช้า ๆ การฝึกทักษะทางสังคม และการจัดการเหตุฉุกเฉิน 

อีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้บ่อยคือ การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา (CBT) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีโครงสร้างชัดเจน โดยนักบำบัดจะให้คำแนะนำเฉพาะสำหรับเด็กเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสสัมผัสสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและค่อย ๆ เพิ่มการสัมผัสดังกล่าวให้มากขึ้น ใน CBT เด็กที่มีภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนจะได้รับการสนับสนุนให้เผชิญหน้ากับความกลัว และได้รับการสอนวิธีแก้ไขความคิดเชิงลบร่วมด้วย

นอกจากนี้การบำบัดเด็กที่มีภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน มีความจำเป็นต้องพิจารณากรณีเฉพาะเพื่อให้การดูแลได้อย่างเหมาะสมต่อไปดังนี้

1) กรณีที่การไม่ยอมไปโรงเรียนเกิดจากความวิตกกังวลของตัวบุคคล คือ สาเหตุที่มาจากเด็ก การรักษาหลักจะเน้นการบำบัดเด็กเป็นส่วนใหญ่ เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะควบคุมความวิตกกังวลด้วยการฝึกการผ่อนคลาย การเพิ่มพูนความสามารถทางสังคม การบำบัดด้วยความรู้ความเข้าใจ และการสัมผัส 

2) กรณีที่เด็กไม่ยอมไปโรงเรียนจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น เช่น ไม่ยอมไปโรงเรียนเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ปกครอง จุดเน้นของการรักษา คือ การฝึกอบรมพ่อแม่ ผู้ปกครอง โดยพ่อแม่ ผู้ปกครองจะได้รับการฝึกหรือสอนให้กำหนดกิจวัตรสำหรับเด็ก รวมถึงการลงโทษและให้รางวัลอย่างเหมาะสม 

3) กรณีเด็กที่ปฏิเสธการเข้าโรงเรียนเพื่อให้ได้รับสิ่งของบางอย่างที่เด็กต้องการ การรักษามักใช้วิธีบำบัดแบบครอบครัว โดยใช้การทำสัญญากับครอบครัวและการฝึกอบรมทักษะการสื่อสารที่เหมาะสมกับบุคคลในครอบครัว

ดังนั้นสรุปได้ว่าภาวะไม่ยอมไปโรงเรียนถึงแม้จะยังไม่จัดเข้ากลุ่มโรคทางจิตเวชแต่ก็นับเป็นกลุ่มที่มีภาวะปัญหาทางสุขภาพจิต และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่เด็กที่มีอาการเหล่านี้ควรได้รับการดูแลร่วมกันจากเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับครอบครัว หน่วยงานของด้านสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรในโรงเรียน รวมทั้งชุมชนเพื่อให้เด็กสามารถกลับเข้าสู่การดำเนินชีวิตในภาวะปกติได้ต่อไป


อ้างอิง

American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 5th edn. Washington, DC: The Association.

Dube, S.R., & Orpinas, P. (2009). Understanding Excessive School Absenteeism as School Refusal Behavior". Children & Schools. 31(2): 87–95.

Egger, H.L, Costello, J.E., Angold, A. (2003). School Refusal and Psychiatric Disorders: A Community Study. Journal of the American Academy of Child & Adolescent Psychiatry. 42(7): 797–807. 

Fremont, W.P. (2003). Information from your family doctor: What to do when your child refuses to go to school. American Family Physician. 68(8): 1563–4. 

Kearney, C.A., Albano, A.M. (2004). The Functional Profiles of School Refusal Behavior. Behavior Modification. 28(1): 147–161. 

Kearney, C.A. (2008). School absenteeism and school refusal behavior in youth: a contemporary review. Clinical Psychology: Science and Practice. 28(3), 451-¬471.

Kearney, C.A., Turner, D., & Gauger, M. (2010). School Refusal Behavior. The Corsini Encyclopedia of Psychology, American Cancer Society, 3(4), 1–2.

Lingenfelter, N. Hartung, S. (2015). School Refusal Behavior. NASN School Nurse. 30(5): 269-73.

Maynard, B.R., Heyne, D., Brendel, K.E., Bulanda, J.J., Thompson, A.M., Pigott, T.D. (2015). Treatment for School Refusal Among Children and Adolescents.Research on Social Work Practice. 28(1), 56–67. 




ผู้เขียน อัจจิมา ศิริพิบูลย์ผล นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ สถาบันราชานุกูล
Update : 01 เม.ย. 2565

 วันนี้ 298
 เมื่อวาน 1,127
 สัปดาห์นี้ 1,474
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 25,409
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 874,577
  Your IP : 3.144.99.39