กรุงเทพฯ 30 มิถุนายน 2559 – ยูนิเซฟ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย จับมือขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพเด็กพิการในชุมชนทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เด็กพิการมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เหมาะสมและมีคุณภาพ
วันนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 6 องค์กร โดยมี นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้แทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และนางสาวรัชนีวรรณ บูลกุล ผู้อำนวยการคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามใน MOU ประสานความร่วมมือดำเนินโครงการพัฒนาระบบการตรวจสุขภาพ การคัดกรอง การดูแลรักษา และติดตามผลการให้บริการด้านสุขภาพแก่เด็กพิการในชุมชนทั่วประเทศ
ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ทั้งหกองค์กรจะเน้นให้เด็กพิการได้รับการตรวจสุขภาพอย่างมีคุณภาพและเป็นระบบ โดยจะมีการพัฒนาเครื่องมือการตรวจคัดกรองสุขภาพ การฝึกอบรมบุคลากรด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษาในการดูแล รักษา และติดตามผลการตรวจสุขภาพสำหรับเด็กพิการ โดยในปี 2559-2560 นี้ ยูนิเซฟจะสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณในการดำเนินโครงการดังกล่าวในศูนย์การศึกษาพิเศษใน 8 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน จันทบุรี ลพบุรี นครราชสีมา อุดรธานี ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี และเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายโครงการตรวจสุขภาพไปยังศูนย์การศึกษาพิเศษอื่นๆ ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศในปี 2560 ต่อไป
โครงการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพเด็กพิการในชุมชนทั่วประเทศไทย ริเริ่มในปี 2556 โดยคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ด้วยการสนับสนุนจากยูนิเซฟ โดยมีการพัฒนาการตรวจสุขภาพอย่างเป็นระบบในโรงเรียนเฉพาะความพิการทางสติปัญญา 6 แห่ง จากนั้นในปี 2557 กรมสุขภาพจิตได้ขยายโครงการไปยังโรงเรียนเฉพาะความพิการ 20 แห่งทั่วประเทศ
ข้อมูลจากการดำเนินโครงการในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าเด็กพิการมีปัญหาสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป จากการตรวจสุขภาพเด็กพิการทางสติปัญญากว่า 2,500 คน พบว่าเด็กจำนวนมากเป็นโรคลมชัก และส่วนใหญ่มีปัญหาในช่องปาก นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กบางคนมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น เป็นโรคหัวใจโดยไม่เคยได้รับการตรวจมาก่อน ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งของระบบการดูแลสุขภาพเด็กพิการอย่างเป็นองค์รวมในชุมชน ซึ่งต้องการการทำงานอย่างมีระบบและมีกลไกในการส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสุขภาพไปยังสถานพยาบาล และขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมเด็กพิการทุกประเภทในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย