เด็กไทยป่วยออทิสติกพุ่งเฉียด 2 แสนราย สธ.เปิดรพ.กว่าหมื่นแห่งคัดกรอง

          เผยแพร่โดย ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์

กระทรวงสาธารณสุข เผยเด็กไทยอายุ 0-18 ปี ป่วยเป็นโรคออทิสติกเกือบ 2 แสนคน แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในรอบ 10 ปี เร่งให้คลินิกสุขภาพเด็กดีทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง ตรวจคัดกรองหาเด็กที่มีพัฒนาการภาษา สังคม และพฤติกรรมผิดปกติ แนะสังเกตเด็กต่ำกว่า 3 ขวบ หากไม่สบตา ไม่ชี้นิ้ว พูดซ้ำๆ ให้รีบพบแพทย์ทันที...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดงานรณรงค์วันออทิสติกโลก และการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแนวทางการดูแลบุคคลออทิสติกแบบบูรณาการ เนื่องด้วยสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็นวันออทิสติกโลก ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) จัดงาน “ภาคีร่วมใจ เปิดโลกต่างใบ เข้าใจออทิสติก” รณรงค์ให้ประชาชนและสังคมได้รู้จักเข้าใจภาวะออทิสติกมากขึ้น และจัดระบบการดูแลค้นหาเด็กที่มีภาวะเสี่ยงให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้เร็วขึ้น และพัฒนาศักยภาพจนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคม เรียนหนังสือและประกอบอาชีพได้

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า โรคออทิสติก ไม่ใช่โรคปัญญาอ่อน แต่เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้านคือด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม พบตั้งแต่กำเนิด สังเกตพบได้ก่อนเด็กอายุ 3 ขวบ จากการติดตามสภาพปัญหาในระยะ 10 ปีมานี้ พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมากทั่วโลก เป็นปัญหาเร่งด่วนของพัฒนาการล่าช้าของเด็กที่ต้องเร่งแก้ไข

โดยผลสำรวจระบาดวิทยาของโรคนี้อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อปี 2547 พบความชุกร้อยละ 0.1 ในเด็กอายุ 0-5 ปี ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกพบความชุกโรคออทิสติกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในสหรัฐอเมริกาปี 2553 พบความชุก 1 ต่อ 88 ซึ่งคาดว่ามีเด็กไทยอายุ 0-18 ปี มีอาการออทิสติกประมาณ 188,860 คน พบได้ทั้งคนจนและคนรวย แต่ปัญหาที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่ป่วยเข้าถึงบริการได้น้อยมากประมาณร้อยละ 15 เนื่องจากลักษณะเด็กกลุ่มนี้ มีหน้าตาน่ารักเหมือนเด็กปกติทั่วไป ไม่มีลักษณะหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษ แต่สื่อสารไม่ได้ ประชาชนจึงเข้าใจว่าเป็นปัญญาอ่อนและเลี้ยงดูกันเอง ไม่ได้พาไปพบแพทย์ ทั้งๆ ที่โรคนี้รักษาได้ และปัจจุบันมีเด็กออทิสติกที่ประสบผลสำเร็จ เป็นแพทย์ วิศวกร และมีอยู่ในเกือบทุกวิชาชีพ

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจัดบริการใกล้บ้านที่สุด โดยตั้งคลินิกส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าและเด็กออทิสติก ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัดรวม 833 แห่ง โดยให้สถานบริการในสังกัดทุกระดับทั่วประเทศที่มีประมาณ 10,583 แห่ง ตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์ ลงไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพิ่มการตรวจคัดกรองหาภาวะออทิสติกในคลินิกสุขภาพเด็กดี (Well child clinic) ซึ่งให้บริการฉีดวัคซีนและติดตามพัฒนาการเด็กหลังคลอดทุกคนจนถึงอายุ 5 ปี โดยให้ตรวจเมื่อเด็กอายุ 1 ขวบครึ่งขึ้นไป เนื่องจากหากตรวจพบตั้งแต่ช่วง 2 ขวบปีแรก จะทำให้ผลการรักษาดีมาก แม้ไม่หายขาดแต่เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้ เข้าโรงเรียนได้ตามวัย ตั้งเป้าให้ครอบคลุมเด็กที่มีปัญหาอย่างน้อยร้อยละ 70

ทางด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า โรคออทิสติกเป็น 1 ใน 4 ของโรคทางจิตเวชในเด็ก ที่กรมฯมีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการฯ มักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 4 เท่า เด็กกลุ่มนี้จะต้องได้รับบริการคัดกรองหาความผิดปกติ และบำบัดรักษากระตุ้นพัฒนาการ และการปรับพฤติกรรมอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งเด็กออทิสติกมีความผิดปกติทางภาษาและสังคม จะแตกต่างกันที่ไอคิว โดยพบว่าร้อยละ 40 มีไอคิวปกติใช้ชีวิตเหมือนเด็กปกติในจำนวนนี้ร้อยละ 10 เป็นอัจฉริยะในบางด้าน เช่น การวาดภาพ หรือเล่นดนตรี อีกร้อยละ 20 มีไอคิวต่ำระดับน้อยถึงปานกลาง (50-69) เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนร่วมและฝึกอาชีพได้ อาจมีปัญหาพฤติกรรมร่วมด้วย ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 มีไอคิวต่ำกว่า 50 เป็นเด็กที่ชอบแสดงอาการก้าวร้าวแบบรุนแรง ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง

ผู้ปกครองสามารถสังเกตพบอาการออทิสติกได้ก่อนที่เด็กจะมีอายุ 3 ปี หรือเริ่มสังเกตอาการได้ชัดเจนเมื่ออายุประมาณ 1 ปีครึ่งขึ้นไป อาการหลักๆ คือพัฒนาการช้าใน 3 ด้านเช่น 1.ด้านสังคม เด็กจะไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเราเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น ไม่ชี้นิ้วสั่งหรือบอกเมื่อต้องการของที่อยากได้ 2.ด้านภาษาเช่น เริ่มพูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิมๆ ซ้ำๆ ทั้งวัน และ 3.ด้านพฤติกรรม เช่น ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว มีพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ไม่เหมาะสม ชอบมองวัตถุที่หมุนตลอดเวลา เช่น พัดลมหรือของเล่นที่หมุนๆ หากเด็กมีอาการที่กล่าวมา ขอให้รีบพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน

นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า สำหรับในการตรวจคัดกรองค้นหาเด็กนั้น กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาแบบตรวจมาตรฐาน ในเด็กอายุ 1-4 ปี เป็นแบบคำถาม 10 ข้อ แจกไปยังสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง และจัดอบรมแพทย์ เจ้าหน้าที่พยาบาลทั่วประเทศ หากตรวจพบภาวะเสี่ยง คือตอบตรงกับคำตอบในชุดคัดกรองตั้งแต่ 5 ข้อขึ้นไป จะส่งเข้ารับการบำบัดรักษา ส่งเสริมพัฒนาการ ปรับแก้พฤติกรรม และการบำบัดรักษาด้วยยา ซึ่งจะเพิ่มความสามารถทางภาษาและสติปัญญาได้ และให้ผลในการรักษาระยะยาวดีขึ้น โดยต้องประเมินเด็กเป็นระยะๆ และวางแผนรักษาดูแลที่เหมาะสม ร่วมกับครู บุคลากรทางการแพทย์ และพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อดูแลอย่างเหมาะสมตลอดชีวิต


  View : 10.09K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 18.222.10.9