เดินตาม'รอยพ่อ' ส่งต่อมรดกทรงคุณค่า

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบายให้ฟังว่า ตอนนี้คนไทยพยายามเรียนรู้จากพระราชกรณียกิจของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อนำมาเป็นต้นแบบการทำความดี

การเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยังความเศร้าโศกมาสู่คนไทยเป็นอันมาก แต่นอกจากคราบนํ้าตาแล้วสิ่งหนึ่งที่ปวงชนชาวไทยแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านคือ การตั้งปณิธานในการทำความดี เดินตามเบื้องพระยุคลบาท

ซึ่งลึก ๆ แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะมีพลังพิเศษซ่อนอยู่ โดย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล ได้อธิบายให้ฟังว่า ตอนนี้คนไทยพยายามเรียนรู้จากพระราชกรณียกิจของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการทำความดี ซึ่งเป็นพลังพิเศษเกิดจากอารมณ์ที่ท่วมท้นด้วยความรัก และอาลัย จะทำให้กระบวนการคิดและการแสดงออกแบบจริงจัง และจริงใจ

สิ่งที่ซับซ้อนในสถานการณ์นี้คือ “เด็ก” ได้เห็นความดีงาม ที่มีรากฐานจากความจริงจัง และจริงใจ เป็นเครื่องผลักดัน เห็นพ่อแม่เลือก “ต้นแบบที่ดี” ในการดำเนินชีวิต เด็กก็จะเรียนรู้การเรียนรู้จากผู้ใหญ่อีกทอดหนึ่ง ในความละเอียดอ่อนตรงนี้ จะ เท่ากับว่าสิ่งดีงาม และความรักของพระองค์ท่านถูกถ่ายทอดสู่เด็กได้อย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดความคิดที่แข็งแรงเป็นปณิธานที่มุ่งมั่น

ยิ่งเมื่อผู้ใหญ่แสดงออกถึงความต่อเนื่องของปณิธานนี้ เด็กก็จะมีแม่แบบให้เดินตามได้อย่างมั่นใจ ไม่เคว้งคว้าง เป็นอีกหนึ่งก้าวของการเติบโตของสังคมไทยที่ผู้ใหญ่กำลังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก แต่หากเป็นเพียงปณิธานช่วงสั้น ๆ ก็จะทำให้เด็กเสี่ยงที่ซึมซับความหลักลอย ง่อนแง่นนั้นไปด้วย

พญ.อัมพร บอกอีกว่า พ่อ แม่ ผู้ใหญ่ที่เคยได้สัมผัสกับพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านในช่วงที่ยาวนาน ใกล้ชิดกว่า เมื่อเทียบกับเด็ก ๆ ที่เห็นพระองค์ท่านเพียงระยะเวลาไม่นาน การที่ผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างที่ดีย่อมทำให้เกิดสิ่งดีงามมากกว่าการที่ให้เด็กเรียนรู้จากคำบอกเล่า

“เราไม่ได้มุ่งหวังใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาเด็ก แต่ขณะที่เราจงรักภักดี เราก็ต้องไม่ละเลยในหน้าที่ในการเป็นแม่แบบที่ดีสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นหนึ่งพระราชปณิธานของพระองค์ท่านที่อยากเห็นสังคมนี้เติบโต ดีงามไปด้วยกัน ถ้าเรามีความตั้งใจที่จะตามรอยเท้าของพระองค์ท่านก็ต้องไม่ทำเพียงแค่สั่งสอน หรือบอกเล่า แต่ต้องทำตัวเองให้เป็นตัวอย่างเพื่อให้เด็กได้ซึมซับ”

ทั้งนี้ สิ่งที่พระองค์ท่านทำมีมาก มายเหลือคณานับ แต่ 2 เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามคือ “การเห็นคุณค่าของสิ่งของ การรู้จักมัธยัสถ์” ซึ่งภาพ “ยาสีพระทนต์” เป็นภาพเดียวที่อธิบายได้หลายอย่าง พระองค์ท่านไม่ได้ใช้แบบทิ้งขว้าง ถ้าพ่อ แม่ทำตาม เด็กก็จะได้เรียนรู้การเห็นคุณค่าสิ่งของ

อีกเรื่องคือ “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 โดดเด่นมากในการเสียสละ เอาความทุกข์ของราษฎรมาใส่พระทัยของพระองค์ตลอดเวลา และคอยช่วยปัดเป่าให้ ดังนั้น หากพ่อ แม่ มองเห็นความทุกข์ของคนในบ้าน ญาติมิตร แล้วมีจิตเมตตา ให้การช่วยเหลือ เด็ก ๆ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นเช่นกัน สังคมไทยก็จะช่วยเหลือกัน

“พวกเรามีบุญเหลือเกินที่สัมผัสพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน และบุญที่ยิ่งใหญ่นี้ สิ่งหนึ่งที่เราสามารถส่งผ่านได้เพื่อเป็นมรดกทางความรู้สึก มรดกทางความคิดที่ทรงคุณค่า ที่จะส่งต่อให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานด้วยวิถีที่งดงามที่สุดคือการที่เราปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง” พญ.อัมพร กล่าว.

 

อภิวรรณ เสาเวียง

 

  View : 12.56K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 54.145.12.28