โรคมือเท้าปากรุกหนัก กรมควบคุมโรคแนะนำตรวจไข้เด็กทุกเช้า

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
         กรมควบคุมโรคเตือนโรคมือเท้าปากระบาดช่วงฤดูฝน หลังพบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น แนะครูศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลตรวจไข้เด็กทุกเช้า หากพบมีไข้ ตุ่มใสขึ้นตามมือและในปาก ให้หยุดเรียนทันที
        นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน อากาศเย็นและชื้น เอื้อต่อการเจริญของเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งโรคที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ โรคมือเท้าปาก เนื่องจากในปี 2557 พบผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 มิ.ย. มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 17,277 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 1-3 ปี โดย 5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และจันทบุรี ดังนั้นเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาด กรมควบคุมโรคจึงได้ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานครเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล ซึ่งมีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก กำชับให้ครูตรวจไข้เด็กทุกวันตอนเช้า หากพบมีไข้ มีตุ่มใสขึ้นตามมือและในปาก ขอให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคมือเท้าปากให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าอาการป่วยจะหาย
          ทั้งนี้ โรคมือเท้าปากมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโรคนี้จะติดต่อกันและเข้าทางปาก โดยเชื้อติดมากับมือที่สัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพอง หรือแผล และอุจจาระของผู้ป่วย อาการป่วยจะเริ่มจากมีไข้ มีตุ่มแดงขึ้นในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปากไม่อยากทานอาหาร นอกจากนี้อาจพบตุ่มที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า ก้น และที่หัวเข่าด้วย โดยอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นภายใน 7-10 วัน
        "โรคนี้ไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน การรักษาจะเน้นเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาทาแก้ปวดแผลที่ลิ้นและกระพุ้งแก้ม โดยผู้ดูแลเด็กควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ และให้เด็กรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำ น้ำผลไม้หรือไอศกรีมเย็นๆ และนอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดนม เพื่อลดการปวดแผลในปาก ที่สำคัญคือการป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิต โดยหากผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก และอาการไม่ดีขึ้น มีไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อยๆ หายใจหอบ แขน-ขาอ่อนแรง ไม่รับประทานอาหารและนํ้า ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
       นพ.โสภณกล่าวต่อว่า สำหรับวิธีป้องกันการป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ควรรักษาความสะอาดร่างกาย ตัดเล็บให้สั้น และหมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร ทั้งนี้ หากโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยง พบเด็กป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ต้องแยกเด็กป่วยออกจากกลุ่มเพื่อน ให้พักที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และให้ทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อ โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไป และหากมีเด็กป่วยจำนวนมากอาจจำเป็นต้องปิดสถานที่ชั่วคราว 1-2 สัปดาห์ และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค โดยอาจใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน.

ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์


  View : 4.57K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,927
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 5,898
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 25,305
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 817,956
  Your IP : 3.141.12.254