เตรียมพร้อมคณิตศาสตร์ตั้งแต่ก้าวแรก...ของลูกน้อย

 

 

เตรียมพร้อมคณิตศาสตร์ตั้งแต่ก้าวแรก...ของลูกน้อย

           คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีความสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูมักสอนเด็กตั้งแต่เล็กๆ ก่อนที่เด็กจะได้เรียนรู้วิชานี้ในโรงเรียน แต่จะเป็นลักษณะการท่องจำมากกว่าการสอนในเรื่องจำนวน  เด็กที่ได้รับการเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมักจะเรียนได้ดีกว่าเมื่อเข้าเรียนชั้นอนุบาล และพบว่าทักษะด้านคณิตศาสตร์เกี่ยวข้องกับการทำนายความสามารถในอนาคตได้มากที่สุด  ตามด้วยทักษะด้านการอ่านและสมาธิ
           พ่อ แม่ คือ ส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ของลูกน้อย ตั้งแต่วัยเตาะแตะจนถึง 5 ปี เด็กๆจะได้ใช้ทักษะนี้ในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและกิจกรรมต่างๆที่พ่อ แม่ทำร่วมกับเขา เช่น การนับขั้นบันไดที่เด็กขึ้นลง การแบ่งของเล่นหรือขนมให้พี่น้อง หรือเพื่อน  การพัฒนาทักษะโดยผ่านกิจกรรมเหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญต่อความพร้อมของเด็กในการเข้าสู่โรงเรียน ทำให้เด็กสามารถแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในโรงเรียนได้อย่างก้าวกระโดด

ทักษะทางคณิตศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับลูกน้อยก่อนเข้าสู่โรงเรียน
การสังเกต สิ่งของเหมือนกันหรือต่างกัน

          โดยสอนให้เด็กๆสังเกตวัตถุหรือสิ่งของที่เหมือนกัน ตามขนาด รูปร่าง สี เช่น ให้ดูสิ่งที่เด็กพบเห็นอยู่ทุกวัน เช่น เครื่องใช้ของเด็กโดยให้เด็กสังเกตมีอะไรของเด็กที่เหมือนกันบ้าง  หรือในขณะที่พาเด็กเดินไปยังสถานที่ต่างๆ พ่อแม่เก็บใบไม้ที่หล่นอยู่บนพื้นมาให้เด็กดูให้เด็กสังเกตสีของใบไม้ต่าง ๆ เด็กจะเห็นว่า ใบไม้ ส่วนใหญ่มีสีเขียว แต่บางใบก็มีสีแตกต่างไป ส่วนรูปร่างลักษณะก็มีทั้งคล้ายกันและต่างกัน เป็นต้น

การเปรียบเทียบสิ่งของชนิดเดียวกันหรือต่างกัน
          โดยสอนให้เด็กๆเปรียบเทียบสิ่งของหรือวัตถุ 2 ชิ้น ตามขนาด ความยาว ความสูง น้ำหนัก Iเช่น ใหญ่- เล็ก ยาว - สั้น สูง -เตี้ย หนัก - เบา ซึ่งในการสอนแรกๆควรใช้สิ่งของหรือวัตถุชนิดเดียวกันก่อน เมื่อเด็กทำได้ดีแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนเป็นสิ่งของหรือวัตถุต่างกัน จนทำได้ดีจึงให้เปรียบเทียบ “ขั้นกว่า” โดยใช้สิ่งของหรือวัตถุ 3 ชิ้น เช่น ใหญ่กว่า เล็กกว่า ยาวกว่า สั้นกว่า สูงกว่า เตี้ยกว่า หนักกว่า เบากว่า ซึ่งจะทำให้เด็กรู้จักการประมาณอีกด้วย

การจัดลำดับสิ่งของ
          โดยสอนให้เด็กๆจัดลำดับสิ่งของหรือวัตถุตั้งแต่ 3 ชิ้นขึ้นไป ตามขนาด ความยาว ความสูง น้ำหนัก เช่น เรียงลำดับจากใหญ่ที่สุดไปจนเล็กที่สุด ยาวที่สุดไปจนสั้นที่สุด สูงที่สุดไปเตี้ยที่สุด ฯลฯ

การวัด :  สอนเด็กให้หาความยาว ความสูง และน้ำหนักของวัตถุโดยใช้หน่วยวัด เช่น นิ้ว ฟุต ปอนด์ หรือการจับเวลา (เป็นนาที)

การนับ
          โดยสอนให้เด็กๆจับคู่หนึ่งต่อหนึ่ง เปรียบเทียบของสองกล่ม ให้เข้าใจความหมายของ เท่ากัน ไม่เท่ากัน มากกว่า น้อยกว่า นับเลขปากเปล่าไปข้างหน้า ถอยหลัง อาจยังเป็นการนับเลขแบบท่องจำ สอนนับจำนวน เช่น นับจำนวนอวัยวะในร่างกาย “เรามีตา 2 ตา” นับสมาชิกในบ้าน “บ้านของเรามีสมาชิกอยู่ 4 คนคือ พ่อ แม่ พี่ และหนู” นับจำนวนขนม ผลไม้ ขณะรับประทานอาหารว่าง “มีส้ม 3 ผล” “หนูขอกินขนม 2 ชิ้น” หรือนับจำนวนสิ่งที่เด็กพบเห็นบ่อยๆ เป็นต้น เมื่อเด็กหยิบจำนวนสิ่งของหรือวัตถุมาให้ได้ตามจำนวนที่บอกจึงค่อยสอนความสัมพันธ์ของตัวเลขกับจำนวนโดยการแทนค่าของจำนวนด้วยตัวเลข

รูปทรงและขนาด
           โดยสอนให้เด็กรับรู้ความสัมพันธ์ของรูปร่าง รูปทรง ขนาด พื้นที่ ตำแหน่ง ทิศทางและการเคลื่อนไหว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนวิชาเรขาคณิตต่อไป ชวนเด็กพูดคุยถึงสิ่งของในบ้านว่ามีรูปร่าง รูปทรง เป็นอย่างไร เช่น ในบ้านของเราอะไรที่มีรูปร่าง/รูปทรงเป็นวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยมบ้าง เมื่อเด็กเริ่มบอกได้รูปร่างพื้นฐานได้ค่อยสอนรูปทรงที่ยากขึ้น

การจัดหมู่
           โดยสอนให้เด็กจัดสิ่งของเป็นหมวดหมู่ตามการเรียกชื่อสิ่งของ เช่น กองนี้เป็นช้อน กองนี้เป็นแก้วน้ำ กองนี้เป็นชาม และการจัดหมวดหมู่ตามลักษณะที่กำหนด เช่น กองนี้เป็นเครื่องแต่งกาย กองนี้เป็นผลไม้ กองนี้เป็นเครื่องใช้ กองนี้เป็นสัตว์ เป็นต้น

การรวมหมู่
           โดยสอนให้เด็กนำสิ่งของมารวมกันให้เป็นกองใหญ่ขึ้น มีจำนวนมากขึ้น เช่น มีส้มอยู่ 3 ผลนำมารวมกับชมพู่ 2 ผลรวมทั้งส้มกับชมพู่แล้วมี 5 ผล เป็นต้น

การแยกหมู่
           โดยสอนให้แยกของที่กองรวมกันอยู่มาแยกของที่เหมือนกันเป็นกองๆ เช่น มีของเล่น  2 ชนิดกองรวมกันไว้ แล้วให้เด็กแยกของเล่นที่เหมือนกันออกเป็น 2 กอง เป็นต้น

เทคนิคดีๆ แนะนำพ่อ แม่ พาทำกิจกรรมเสริมความสุข...พัฒนาคณิตศาสตร์
 • สร้างรูปทรง
  : เล่นเกมคัดแยกรูปทรง พูดคุยเรื่องรูปทรงแต่ละชนิดกับลูก นับด้าน บอกสี สร้างรูปทรงเองโดยตัดรูปทรงขนาดใหญ่จากกระดาษสี ขอให้เด็กกระโดดบนวงกลม หรือบนกระดาษสีที่สร้างขึ้น
 • นับและคัดแยก : รวบรวมตะกร้าของเล่นชิ้นเล็กๆ ที่หาได้ในบ้าน เช่น เปลือกหอย ก้อนกรวด หรือกระดุม นับจำนวนพร้อมกับลูก คัดแยกตามขนาด สี หรือกลุ่ม เช่น แยกรถไว้กองหนึ่ง สัตว์ไว้อีกกองหนึ่ง
 • โทรศัพท์ : เมื่อลูกอายุ 3 ขวบ เริ่มด้วยการสอนที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์บ้าน คุยกับลูกว่าแต่ละบ้านมีเลขที่บ้าน อพาร์ทเม้นท์แต่ละแห่งก็มีหมายเลขเป็นของตนเอง
 • ขนาดสิ่งของ : ให้ลูกสังเกตขนาดของวัตถุรอบตัว ว่ามีขนาดใหญ่หรือใหญ่ที่สุด  ขนาดเล็กหรือเล็กที่สุด
 • ทำอาหาร : ให้ลูกช่วยเติม คนและเทส่วนผสมของอาหาร กิจกรรมนี้จะช่วยให้ลูกเรียนรู้การนับ ชั่ง ตวง วัด เพิ่มและกะจำนวน
 • เดินเล่น : ให้ลูกเปรียบเทียบ เช่น หินก้อนไหนใหญ่กว่า ให้หัดประเมิน เช่น เราพบก้อนหินกี่ก้อน ฝึกสังเกต จดจำความเหมือนและความต่าง เช่น เป็ดมีขนเหมือนกระต่ายหรือไม่ และฝึกการจำแนก เช่น ลองหาใบไม้สีแดงให้เจอ เรียนรู้เรื่องขนาด เช่น เดินก้าวสั้นและก้าวยาว ฝึกคะเนระยะทาง เช่น สวนสาธารณะอยู่ใกล้หรือไกลบ้าน และฝึกการนับ เช่น นับจำนวนก้าวในการเดินจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง
 • ภาพบอกเวลา : ใช้นาฬิกาทราย นาฬิกาจับเวลา ลองจับเวลากิจกรรมที่ใช้เวลาสั้นๆ จะช่วยให้ลูกพัฒนาการรับรู้เรื่องเวลาและเข้าใจว่ากิจกรรมบางอย่างใช้เวลามากกว่ากิจกรรมอื่นๆ
 • แยกรูปทรง : ชี้ไปยังรูปทรงสีต่างๆ ที่พบระหว่างวัน เช่น ป้ายรูปสามเหลี่ยมสีเหลืองหรือรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงในร้านค้า
 • ร้องเพลงเกี่ยวกับจำนวน : เลือกเพลงเกี่ยวกับจำนวนที่มีจังหวะและทำนองในการร้องซ้ำๆ  เพลงเหล่านี้จะเสริมเรื่องรูปแบบ ซึ่งเป็นทักษะด้านคณิตศาสตร์ ฝึกภาษาได้สนุกและสนับสนุนทักษะทางสังคมในด้านความร่วมมือให้กับเขาได้อีกด้วย
 • ใช้ปฏิทิน : พูดคุยถึงเรื่องวันที่ วันในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งจะเสริมการนับ ลำดับ และรูปแบบ สร้างทักษะการคิดเอย่างมีเหตุผลด้วยการพูดถึงอากาศเย็นแล้วถามลูกว่าควรสวมใส่ชุดแบบไหนเมื่ออากาศเย็น จะทำให้ลูกน้อยเกิดการเชื่อมโยงระหว่างอากาศเย็นกับเสื้อผ้าที่ใส่แล้วอบอุ่น
 • การแจกสิ่งของ : ให้ลูกช่วยแจกจ่ายสิ่งของ เช่น ขนมว่าง หรือวางกระดาษเช็ดปากบนโต๊ะอาหารมื้อเย็น ช่วยแจกขนมปังกรอบ ให้เพื่อนๆแต่ละคน ซึ่งจะช่วยใหลูกเข้าใจการจับคู่วัตถุกับวัตถุ หรือจำนวนที่สอดคล้องกัน  ขณะแจกของเน้นแนวคิดเรื่องจำนวน ชิ้นหนึ่งให้คุณ ชิ้นหนึ่งให้ฉัน ชิ้นหนึ่งให้คุณพ่อ หรือ เราใส่รองเท้า หนึ่งข้าง สองข้าง 
 • ต่อก้อนไม้ : ให้โอกาสลูกเล่นก้อนไม้ ชุดตัวต่อพลาสติก กล่องเปล่า กล่องนม เป็นต้น จะช่วยให้เขาเรียนรู้รูปทรงและความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรงต่างๆ   เช่น รูปสามเหลี่ยมสองอันต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม  การเล่นกล่องและถ้วยทำให้ลูกน้อยเข้าใจความสัมพันธ์ของวัตถุขนาดต่างกัน
 • เล่นลอดอุโมงค์ : เปิดกล่องกระดาษขนาดใหญ่แต่ละด้านออกเพื่อทำเป็นอุโมงค์ ทำให้ลูกน้อยเข้าใจว่าร่างกายอยู่ในที่ว่างและสัมพันธ์กับวัตถุอื่นๆ 
 • ความยาวของวัตถุ : ตัดริบบิ้น 3-5 ชิ้น ด้ายหรือกระดาษที่มีความยาวต่างกัน ถามลูกว่าชิ้นไหนสั้น ชิ้นไหนยาว แล้วให้เด็กเรียงตามลำดับจากชิ้นที่ยาวที่สุดไปหาชิ้นที่สั้นที่สุด
 • เรียนรู้จากการสัมผัส : ตัดกระดาษแข็งเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น ทรงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ให้ลูกสัมผัสขณะลืมตา จากนั้นค่อยปิดตา
 • เล่นเกมรูปแบบ  : สนุกกับรูปแบบโดยให้ลูกเรียง มะกะโรนีแห้ง ลูกปัดคละขนาด ซีเรียลชนิดต่างๆ หรือกระดาษชิ้นเล็กๆเป็นรูปแบบหรือลวดลายต่างๆ กิจกรรมนี้ต้องดูแลลูกอย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันการสำลัก และเก็บของเมื่อเลิกเล่น
 • เรียนรู้จากการช่วยงานบ้าน : เช่น ซักผ้าให้สนุก โดยเมื่อแยกเสื้อผ้าเตรียมซัก ขอให้ลูกแยกเสื้อกับถุงเท้าคนละกอง ถามลูกน้อยว่ากองไหนใหญ่กว่าเป็นการฝึกการคาดคะเน แล้วให้เขานับจำนวนเสื้อ  เล่นจับคู่ถุงเท้ากัน
 • สนามเด็กเล่น : ขณะที่ลูกเล่น ทำการเปรียบเทียบโดยใช้ความสูง (สูง - ต่ำ) ตำแหน่ง (บน- ล่าง) หรือขนาด (ใหญ่ เล็ก)
 • การแต่งกาย : ให้ลูกเลือกเสื้อผ้าที่จะใส่ในวันนี้ ถามลูกว่า ใส่เสื้อสีอะไร? เช่น สีเหลือง จากนั้นให้ลูกหาของบางอย่างที่มีสีเหลืองในห้อง เมื่อลูกอายุใกล้สามขวบหรือมากกว่า สังเกตรูปแบบบนเสื้อของลูก เช่น แถบ สี หรือภาพ แล้วบอกลูกว่าบนเสื้อของเขามีแถบสีแดงน้ำเงิน หรือว่าเสื้อหนูมีรูปม้าหลายตัว  ม้าตัวใหญ่อยู่ถัดจากม้าตัวเล็ก 
 • เกมส์สร้างกราฟ  : เมื่อลูกอายุใกล้สามขวบหรือมากกว่า ทำแผ่นภาพให้ลูกสามารถติดสติ๊กเกอร์ไว้แต่ละครั้งที่มีฝนตก หรือแดดออก  เมื่อถึงสุดสัปดาห์ คาดคะเนด้วยกันว่า แถวไหนมีสติ๊กเกอร์มากกว่า และตามด้วยการนับเพื่อให้มั่นใจ 
           ทักษะด้านคณิตศาสตร์ จึงเป็นทักษะที่สำคัญอันหนึ่งนอกจากทักษะด้านภาษา ร่างกาย และทักษะทางสังคม ทักษะต่างๆเหล่านี้จะมีการพัฒนาร่วมกันและมีอิทธิพลต่อกันและกัน เราสามารถเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ให้ลูกน้อยได้ตั้งแต่เขาอยู่ในช่วงปฐมวัย เพราะวัยแรกเกิดถึงหกขวบนั้นเป็นช่วงเวลาที่สมองจะพัฒนาสูงสุดในทุกๆด้าน หากได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง

อ้างอิง
1. Developing Early Math Skills. Available from  http://www.zerotothree.org/child-development/early-development/supporting-early-math-skills.html.
2. Early Childhood : Where Learning Begins - What Is Mathematics? : Mathematical activities for parents and their 2- to 5-year-old children. Available fromhttp://www.kidsource.com/education/math/whatis.html.
3. Teaching Mathematical Concepts. Available fromhttp://s22318.tsbvi.edu/mathproject/ch1.asp#main.
4.นิตยา คชภักดี. พัฒนาการของเด็ก. ใน : วันดี วราวิทย์, ประพุทธ ศิริปุณย์, สุรางค์ เจียมจรรยา, บรรณาธิการ. ตำรากุมารเวชศาสตร์ (ฉบับเรียบเรียงใหม่ เล่ม 3). กรุงเทพฯ :  โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2541 : 1-6.
5. นพวรรณ ศรีวงค์พานิช//2554//เด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการ//เข้าถึงได้จาก :https://www.rajanukul.com/main/index.php?mode=academic&group=&submode=academic&idgroup=12&group=1 
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี ไสยวรรณ//2556//คณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย//เข้าถึงได้จาก :
http://www.e-child-edu.com/youthcenter/content/articles/math-for-child.html


คณะผู้จัดทำ

แพทย์หญิงอัมพร   เบญจพลพิทักษ์   ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล
แพทย์หญิงนพวรรณ  ศรีวงค์พานิช   รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบบริการฯ
นางนิรมัย  คุ้มรักษา  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
นางณัฐชนก   สุวรรณานนท์   นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ

 

  View : 9.06K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 912
 เมื่อวาน 1,179
 สัปดาห์นี้ 974
 สัปดาห์ก่อน 11,600
 เดือนนี้ 1,257
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 850,425
  Your IP : 217.113.194.227