การสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เด็กไทยวัยเรียน และ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

 

            ในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เด็กไทยวัยเรียน และ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ประจำปี 2559 ขึ้น เพื่อติดตามการดำเนินงานพัฒนาสติปัญญาที่ผ่านมา และใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผน กำหนดเป้าหมายและแนวทางเพื่อพัฒนาเด็กไทย ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพื่อให้เกิดการผลักดันให้มีการพัฒนาและส่งเสริมสติปัญญาเด็กไทยในแต่ละจังหวัดอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์คือ เด็กไทยสามารถมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย มีศักยภาพและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม และเติบโตเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าของประเทศต่อไป ซึ่งในการดำเนินการในครั้งนี้ กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันราชานุกูล เป็น PM หลักในการดำเนินโครงการ โดยความร่วมมือของบุคลากรสาธารณสุขทั้งในและนอกกรมสุขภาพจิต

            จากการสำรวจระดับสติปัญญานักเรียนไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ ในปี 2559 จำนวน 23,641 ราย โดยใช้เครื่องมือ Standard Progressive Matrices (SPM parallel version: update 2003) พบระดับเชาวน์ปัญญา (Intelligent Quotient : IQ) เฉลี่ยเท่ากับ 98.23 ถือเป็นระดับสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่อนไปทางต่ำกว่าค่ากลางของมาตรฐานสากลในยุคปัจจุบัน (IQ=100) เมื่อเปรียบเทียบกับค่า IQ เฉลี่ย เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่ง เท่ากับ 94.58 พบว่า มีระดับ IQ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังพบว่าในภาพรวมของประเทศยังมีเด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มี IQ ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ (IQ < 90) อยู่ถึงร้อยละ 31.81 (ไม่ควรเกิน ร้อยละ 25) และยังมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์บกพร่อง (IQ < 70) อยู่ถึงร้อยละ 5.8 ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลคือไม่ควรเกินร้อยละ 2 และเป็นที่น่าสังเกตว่ามีเด็กที่มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ฉลาดมาก (IQ ≥ 130) อยู่ถึงร้อยละ7.9 เห็นได้ว่ายังพบความเหลื่อมล้ำ   มีช่องว่าง (Gap) ระหว่างกลุ่มที่มีระดับสติปัญญาสูงกับกลุ่มที่มีระดับสติปัญญาต่ำ และมีแนวโน้มที่ช่องว่างนี้จะขยายมากขึ้น ถ้าไม่มีการดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มที่มีปัญหาอย่างทันท่วงที

         ในส่วนของการสำรวจ EQ โดยใช้แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ เด็กอายุ 6-12 ปี (ฉบับย่อ) สำหรับครู ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยกรมสุขภาพจิต มีเด็กที่ได้รับการสำรวจ EQ ทั้งหมด 23,276 ราย พบว่ามี EQ อยู่ในระดับปกติขึ้นไป ร้อยละ 77 และ EQ อยู่ในระดับควรได้รับการพัฒนา ร้อยละ 23

                กรมสุขภาพจิตได้นำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเด็กไทยต่อไปในอนาคต เพื่อให้เด็กไทยสามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ

 

  View : 18.22K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 731
 เมื่อวาน 997
 สัปดาห์นี้ 4,904
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 28,839
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 878,007
  Your IP : 193.186.4.134