หนังสือพิมพ์เดลินิวส์: วันอาทิตย์ ที่ 26 มิถุนายน 2554
โดยศูนย์ข้อมูลวิชาการ
หลาย ๆ คนคงทราบถึงความรุนแรงของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อย่างในกรณีของน้องกาว นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์กันไปแล้ว ขนาดน้องกาวอยู่ในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่มีความแข็งแรง แต่ก็ยังไม่อาจต้านทานความร้ายกาจของเชื้อร้ายได้ แล้วหากเป็นเด็กเล็ก เราจะมีวิธีปกป้องพวกเขาจากโรคร้ายนี้ได้อย่างไร?
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นโรคที่เกิดการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเกิดได้จากการติดเชื้อหลายตัว ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสซึ่งพบได้มากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่อาการไม่ค่อยรุนแรง สามารถค่อย ๆ หายได้เอง รองลงมาคือการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีความรุนแรงมาก การดำเนินโรครวดเร็วมากเพียง 2-3 วัน นอกจากนี้ยังมีเชื้อรา และหนอนพยาธิ ตามลำดับ สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงจะเป็นกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะภูมิคุ้มกันที่จะกำจัดเชื้อโรคบางส่วนยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เชื้อจึงมีโอกาสกระจายไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ได้มากกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ แม้ว่าโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะไม่ได้พบบ่อยมากนักในประเทศไทย แต่กรณีที่พบจะมีความรุนแรงมาก ซึ่งโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจทำให้เกิดความพิการหรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
เชื้อแบคทีเรียสำคัญที่เป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคเยื่อหุ้มสมองในเด็กเล็ก ได้แก่ เชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcal) เชื้อฮิบ เชื้อเมนิงโกค๊อกคัส (ไข้กาฬหลังแอ่น) และเชื้อซาลโมเนลลา เชื้อตัวแรกอาศัยอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก และลำคอของเราทุกคน แต่พบความชุกมากในเด็กเล็ก ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบแล้ว ยังมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่ง 80% ของเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ต้องเคยเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบมาแล้ว 1 ครั้ง รวมทั้งโรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของเด็กเล็กทั่วโลกกว่าปีละ 2 ล้านคนอีกด้วย
อาการของผู้ป่วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอาจไม่มีลักษณะจำเพาะที่ชัดเจน แต่จะเป็นอาการที่สามารถพบได้ในโรคอื่น ๆ และไม่มีความแตกต่างกันตามสาเหตุที่ทำให้เกิด โรค เช่น ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร กระสับกระส่าย นอกจากนี้ยังมีบางอาการแสดงที่สามารถสังเกตได้ ได้แก่ ไข้ ตาไวต่อแสง ปวดต้นคอ ก้มคอลำบาก อาจมีอาการซึม ชัก ไม่รู้สึกตัว และแขนขาอ่อนแรง ซึ่งถ้าเกิดกับเด็กเล็กจะมีระยะเวลาดำเนินโรคเร็วมาก ดังนั้นเมื่อลูกไม่สบาย พ่อแม่ควรรู้จักสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพราะเด็กเล็กจะไม่สามารถบอกอาการเองได้
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจก่อให้เกิดความบกพร่องทางด้านสติปัญญา ความพิการทางด้านร่าง กาย ตลอดจนการสูญเสียชีวิต และค่าดูแลรักษาพยาบาลอีกเป็นจำนวนมหาศาล ดังนั้นการเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรง รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ปรุงสุกและสดใหม่ หมั่นล้างมือให้สะอาด รักษาสุขอนามัยภายในบ้านสม่ำเสมอรวมทั้งการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม จะช่วยเป็นเกราะป้องกันโรคต่าง ๆ ในเบื้องต้นให้กับเด็ก นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชน สถานที่แออัด และโรงพยาบาลที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เพราะเอื้ออำนวยต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคนี้ได้เป็นอย่างดี
สำหรับการป้องกันด้วยวัคซีน ปัจจุบันพบว่าโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้บ่อยในเด็กนั้น มีวัคซีนป้องกันได้แล้ว คือ วัคซีน HIB ที่ช่วยป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเชื้อแบคทีเรีย ฮิบ และวัคซีนไอพีดี พลัส ที่ช่วยป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส รวมถึงโรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคหูชั้นกลางอักเสบ และโรคปอดบวม ซึ่งที่ผ่านมาพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยเข้าใจว่าวัคซีนป้องกันเชื้อแบคทีเรีย HIB ที่ฉีดให้กับเด็กทุกคนนั้น สามารถป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงยังมีเชื้อแบคทีเรียอีกหลายสายพันธุ์ที่สามารถก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งวัคซีน HIB ยังไม่สามารถคลอบคลุมได้ ซึ่งได้แก่ เชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อซาลโมเนลลา และเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น เป็นต้น เชื้อไข้กาฬหลังแอ่นในประเทศไทยพบไม่บ่อย เราฉีดวัคซีนให้เฉพาะคนที่ไปทำพิธีฮัจย์ที่ตะวันออกกลางเพราะคนไปอยู่แออัดกันจำนวนมากมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปเขาพบบ่อยเขาจึงบังคับให้เด็กที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยทุกคนต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ คนหนุ่มสาวที่มาอยู่รวมกันสามารถติดโรคนี้ได้ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกันเพราะเป็นโรคติดต่อ ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันสั้น ในประเทศไทยรัฐบาลยังไม่ได้ให้วัคซีนป้องกันเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบเลยแม้แต่ชนิดเดียว ขณะนี้มีกว่าร้อยประเทศแล้วที่รัฐบาลให้ฉีดวัคซีนฮิบป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบโดยไม่คิดมูลค่า ประเทศไทยเน้นการรักษามากกว่าการป้องกัน
ความสูญเสียที่เกิดจากโรคร้ายอย่างโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ คงไม่เกิดขึ้น หากคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกเล็ก ควรดูแลสุขภาพลูกให้สมบูรณ์แข็งแรง และหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด และพาพบกุมารแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์