ปรับกลยุทธ์เลี้ยงลูกให้สตรอง

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

 

จิตแพทย์ชี้เด็กแต่ละช่วงวัยเรียนรู้ได้ดีเฉพาะบางเรื่อง แนะใช้ 7 หน้าต่างแห่งโอกาสเลี้ยงลูกให้รู้เท่าทันกระแสสังคมเชี่ยวกราก 

    นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การจะเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคงนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กจะเรียนรู้และพัฒนาสิ่งสำคัญบางเรื่องได้ดีเฉพาะช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมเรียกว่า “หน้าต่างแห่งโอกาส” พ่อแม่จึงจำเป็นต้องฉวยโอกาสพัฒนาเรื่องที่เหมาะสมกับวัย เพื่อให้เด็กที่เติบโตสามารถเอาตัวรอดปลอดภัยในสังคมอนาคต

    หน้าต่างแห่งโอกาส 7 บาน เป็นคู่มือเลี้ยงลูกในโลกที่เปลี่ยนไป จะเป็นเครื่องมือปรับกลยุทธ์ในการเลี้ยงลูกให้เท่าทันกระแสสังคมที่เชี่ยวกราก ประกอบด้วย

1. วัยอนุบาล 3 - 5 ปี สอนให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ ในวัยนี้พ่อแม่ต้องใจคอเข้มแข็ง ปลูกฝังให้ลูกควบคุมยับยั้งความต้องการ รู้จักรอคอย ก่อนหน้าต่างบานนี้จะปิดลง พ่อแม่ไม่ควรสงสารลูกหรือรู้สึกผิดที่ไม่ค่อยมีเวลาให้ลูกแล้วชดเชยด้วยการตามใจ

2. วัยอนุบาล 3 - 5 ปี สอนให้ลูกรู้จักถูกผิด แม้เด็กยังไม่รู้ว่าการกระทำอะไรก่อให้เกิดผลอย่างไรหรือยังไม่รู้จักเรื่องเหตุผล แต่พ่อแม่ควรสอนเรื่องผิดถูกในวัยนี้จะได้ผลดีที่จะกล่อมเกลาให้ลูกมีคุณธรรม จริยธรรม

3. วัยประถม 6 - 12 ปี สอนเรื่องประหยัด ฝึกให้วางแผนการใช้เงิน รู้จักการออม เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่เริ่มจับจ่ายใช้สอย และมีของล่อใจมากมาย การฝึกเด็กให้ประหยัดควรเริ่มในวัยประถม จึงควรให้ค่าขนมที่เหมาะสม

4. วัยประถม 6 - 12 ปี สอนให้มีวินัย เด็กที่เรียนได้ดีเป็นเพราะมีวินัย โดยเฉพาะในระดับชั้นต่อไปที่การเรียนยากขึ้น มีกาบ้านและกิจกรรมมากขึ้น เด็กจึงต้องรู้จักแบ่งเวลา และต้องเริ่มตั้งแต่วัยนี้

5. วัยประถม 6 - 12 ปี สอนให้ใฝ่รู้ การให้ลูกเรียนหนังสืออย่างเดียว ไม่ใช่การใฝ่รู้ ควรให้เด็กสนใจกิจกรรมอย่างอื่นด้วย เพื่อส่งเสริมให้มีความกระตือรือร้น เรียนรู้สิ่งที่สนใจ

6. วัยรุ่น 13 ปีขึ้นไป สอนเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ ปัจจุบันเด็กถูกปลูกฝังค่านิยมทางเพศผ่านสื่อ ซึ่งมักเป็นทางที่ผิด ดังนั้น พ่อแม่ต้องสอนลูก โรงเรียนต้องเปลี่ยนหลักสูตรและต้องเอากรณีศึกษาเหตุการณ์ต่างๆมาคุยกับเด็ก

7. วัยรุ่น 13 ปีขึ้นไป สอนอัตลักษณ์ทางสังคม สิ่งที่พ่อแม่ต้องพูดคุยกับลูกในขณะที่สื่อและโฆษณาบอกให้ฟุ้งเฟ้อ พ่อแม่ต้องสอนลูกให้เท่าทัน อย่าตกเป็นเหยื่อ และให้มีค่านิยมที่จะอยู่แบบพอเพียง

       การสร้างคุณลักษณะทั้ง 7 ประการนี้ให้มีอยู่ในตัวลูก นอกจากจะต้องโฟกัสตามหน้าต่างแต่ละบ้านแล้ว ต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นโดยอาศัยวิถีชีวิตในครอบครัว สอนพร้อมกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เชื่อแน่ว่า หากลูกเติบโตมีคุณลักษณะเหล่านี้ติดตัวไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงแปรปรวนอย่างไร ก็สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและอยู่รอดปลอดภัย ทั้งนี้ ผมได้สร้างเพจดูแลจิตใจและครอบครัวกับหมอยงยุทธในเฟซบุ๊กเพื่อให้เป็นข้อมุลแก่สาธารณะด้วย

 

ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

  View : 2.00K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 522
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 4,493
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 23,900
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 816,551
  Your IP : 20.171.206.223