10 โรคร้ายที่ควรระวังตอนน้ำท่วมและหลังน้ำลด พร้อมหลักปฏิบัติดูแลสุขภาพช่วงน้ำท่วม

โดยหน่วยข้อมูลวิชาการ
1.โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อราและแผลพุพองเป็นหนอง
ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรคหรืออับชื้นจากเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดเป็นเวลานาน โดยจะมีอาการเท้าเปื่อย เป็นหนอง และเริ่มคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย จากนั้นผิวหนังจะพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนคือผิวหนังอักเสบ
ป้องกันได้ด้วยการเช็ดเท้าให้แห้ง หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ
 2. โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัส
ติดต่อได้ทุกเพศทุกวัย แพร่กระจายในลมหายใจ เสมหะ น้ำลาย อาการมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ไอจาม อ่อนเพลีย
ป้องกันได้ด้วยใช้ผ้าปิดปากเวลาไอจาม ดื่มน้ำอุ่นมากๆ มีไข้สูงเกิน 7 วันควรพบแพทย์
 3.โรคปอดบวมเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด
เช่น น้ำสกปรกจนทำให้เกิดการอักเสบ อาการไข้สูง ไอมาก หอบหายใจเร็ว เห็นชายโครงบุ๋ม ริมผีปากซีดหรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่ายหรือซึม
หากมีอาการควรรีบพบแพทย์ทันที
 4.โรคตาแดง
ติดต่อได้ง่ายในเด็กเล็กแต่เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ อาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 1 – 2 วัน จะมีอาการระคายเคือง ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง ทั้งนี้ในหากดูแลถูกวิธีจะหายได้ใน 1 – 2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลอาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบ
ทั้งนี้ป้องกันได้ด้วยล้างดวงตาให้สะอาดเมื่อถูกฝุ่นละออง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา
 5.โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารค้างคืนหรือเน่าบูด แบ่งออกเป็นหลายโรค ได้แก่ โรคอุจาระร่วง อาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ อาจมีมูกเลือดและมีการอาเจียนร่วมด้วย อหิวาตกโรค จะถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าวทีละมากๆ อาการรุนแรง
อาหารเป็นพิษ มักมีอาการปวดท้องร่วมกับการถ่ายอุจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการปวดศีรษะและเมื่อยเนื้อตัวร่วมด้วย โรคบิด จะถ่ายอุจจาระมีมูกหรือเลือดปน มีไข้ ปวดท้องและมีปวดเบ่งร่วมด้วย โรคไข้ทัยฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย มีอาการสำคัญคือมีไข้ เบื่ออาหาร ท้องผูก เมื่อยเนื้อตัว ปวดศีรษะ
ป้องกันได้โดยล้างมือให้สะอาด เลือกรับประทานอาหาร กำจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย เพื่อไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน แต่หากป่วยจำเป็นต้องดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ รวมทั้งดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ด้วย
 6.โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส
เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่โรคที่สำคัญ เชื้อออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนในน้ำท่วมขัง โดยโรคนี้จะติดต่อทางบาดแผล รอยขีดข่วน หรือไชเข้าตามเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ อาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 4 – 10 วัน จะมีไข้สูงทันที ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และศีรษะมาก บางรายมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดินร่วมด้วย จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ มิเช่นนั้นอาจถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันได้โดยสมรองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ ทำความสะอาดที่พักไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของหนู
 7.โรคไข้เลือดออก
มียุงลายเป็นพาหะพบได้ทุกวัยในทุกพื้นที่ มีอาการไข้สูงตลอดทั้งวัน หน้าแดง เกิดจุดแดงๆ เล็กๆ ตามลำตัว ต่อมาไข้จะลดลง ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดอาการรุนแรง มีความผิดปกติ เช่น ถ่ายดำ ไอปนเลือด เกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้
ทั้งนี้การรักษาห้ามใช้ยาแอสไพริน และระวังไม่ให้ถูกยุงกัด
 8.โรคหัด
เป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบในเด็ก เกิดจากเชื้อไวรัส มักพบในฤดูฝน หากมีการแทรกซ้อนอาจเสียชีวิตได้ สำหรับการติดต่อผ่านทางการไอจาม เชื้อกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย อาการหลังจากได้รับเชื้อ 8 – 12 วัน มีไข้ ตาแดง พบจุดขาวๆ เล็กๆ ในกระพุ้งแก้ม
ป้องกันได้โดยฉีดวัคซีน หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย
9.โรคไข้มาลาเรีย
ติดต่อโดยยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำเชื้อโรค มักพบในพื้นที่ป่าเขามีแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ อาการหลังรับเชื้อ 7 – 10 วัน จะปวดศีรษะ โดยทั่วไปคล้ายไข้หวัด แต่หลังจากนั้นจะหนาวสั่นและไข้สูงตลอดเวลา อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
ป้องกันโดยหลีกเลี่ยงยุงด้วยการทายาหรือสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด

10.โรคงูสวัด
จะมีอาการปวดอย่างมากบริเวณที่เป็นงูสวัด เจ็บแสบๆ ร้อนๆ บางคนมีอาการคันร่วมด้วยหรือเป็นไข้ได้ บางคนทรมานจากอาการปวดมากจนนอนไม่หลับ เมื่อเป็นอาการแดง มีผื่นขึ้น และบริเวณที่เป็นจะมีกลุ่มของตุ่มน้ำในผิวหนัง ต่อมาตุ่มน้ำจะเริ่มแห้งและตกสะเก็ดจางหายไป ระยะเวลาตั้งแต่เป็นจนหายไปประมาณ 7-14 วัน ในเด็ก โรคนี้จะไม่รุนแรง เท่าผู้ใหญ่

วิธีง่าย ๆ ในการป้องกันการเป็นงูสวัด ก็คือการรักษาสุขภาวะที่ดีของร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียดอยู่เสมอและมีภูมิต้านทานโรคที่ดี เชื้อไวรัสก็จะไม่ออกมาเพิ่มจำนวน และแสดงอาการของโรคอีกได้
หลักปฏิบัติดูแลสุขภาพช่วงน้ำท่วม 10 ประการ ประกอบด้วย
1. หมั่นดูแลความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะเท้า ซึ่งต้องล้างด้วยสบู่และเช็ดให้แห้ง หลังการเดินลุยน้ำ และล้างมือบ่อยๆ หรือใช้เจลล้างมือแทน
2. กรณีต้องเดินลุยน้ำ ควรใส่รองเท้าบูท และทายาป้องกันน้ำกัดเท้าทุกครั้งก่อนลงน้ำ และมีไม้ตีน้ำเป็นระยะเพื่อไล่สัตว์มีพิษที่อาจอยู่บริเวณที่เดิน
3. ระมัดระวังไม่ให้น้ำเข้าตา เพื่อป้องกันโรคตาแดง
4. การดูแลภาชนะใส่อาหารและช้อนส้อมให้สะอาดป้องกันโรคทางเดินอาหาร 5. เลือกรับประทานอาหาร ถ้ามีกลิ่นไม่ดี ใกล้บูด ไม่ควรรับประทาน
6. ระวังบุตรหลานไม่ให้เล่นน้ำ หรืออยู่ใกล้น้ำ
7. กรณีเจ็บป่วย เช่น เป็นหวัด ตาแดง ควรเลี่ยงการ
อยู่ใกล้ชิดผู้อื่น เพื่อป้องกันการติดต่อ ล้างมือบ่อยๆ และใส่หน้ากากอนามัย
8. ป้องกันกรณีไฟฟ้ารั่วและไฟชอร์ต
ถ้ามีน้ำท่วมถึงปลั๊กไฟต้องตัดสะพานไฟทุกครั้ง
9. ใช้ถุงทรายอุดปิดโถส้วมป้องกันการไหลย้อน ใช้สุขาชั้น 2 หรือ
ใช้ถุงดำเป็นส้วมสนาม แล้วมัดปิดเก็บไว้กำจัดภายหลังน้ำลด อาจใส่ปูนขาว หรือ EM ก่อน
10. ฝึกการคลายเครียดด้วยตนเอง เช่น การพูดระบายความเครียด ฟังเพลงคลายเครียด ฝึกการหายใจคลายเครียด เป็นต้น

 

 

  View : 2.93K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.22.119.251