ไทย!! ติดอันดับใช้ความรุนแรงในเด็กและสตรี กรมสุขภาพจิตเร่งแก้ทัศนคติใหม่ก่อนที่จะสายเกินไป

        การใช้กำลังในสังคมปัจจุบันมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะผู้หญิง จากกรณีตัวอย่างที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่ปิง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับแจ้งว่า พบร่างของหญิงสาวนอนเปลือยกายอยู่ที่บริเวณสวนหย่อมติดริมแม่น้ำปิง ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตำบลวัดเกตุ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทางเจ้าหน้าที่จึงเดินทางไปตรวจสอบก็พบว่าเด็กสาวคนดังกล่าวเป็นสาวทอม ชื่อ      น.ส.ก (นามสมมุติ) อายุ 17 ปี นักศึกษาสถาบันที่มีชื่อแห่งหนึ่ง ในลักษณะเหมือนถูกมอมยา จึงนำส่งโรงพยาบาล จากการสอบสวน น.ส.ก ทราบว่าเป็นนักศึกษาฝึกงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่ ตอนกลางคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้ถูกเพื่อนกลุ่มวัยรุ่นชายชวนให้ดื่มสุรา บริเวณร้านเหล้าข้างทางริมถนนสายเชียงใหม่-ลำพูน ตำบลวัดเกตุ ตัวเองดื่มไปเพียง 1 แก้ว ก็รู้สึกมึนเมาควบคุมสติไม่อยู่เหมือนถูกมอมยา พยายามขับรจักรยานยนต์หนีออกมาจากร้านเพื่อกลับที่พัก ระหว่างขับรถก็รู้สึกสติขาดหายไปและมารู้สึกตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และต้องเสียความบริสุทธิ์เพราะถูกข่มขืน ชี้ให้เห็นว่าขณะนี้ผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกกระทำซะส่วนใหญ่

         กรมสุขภาพจิตเผยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบเหยื่อผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงเข้ารับการรักษาที่ศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุขกว่า 2.7 หมื่นคน ระบุตั้งแต่เดือนมกราคม-13 พฤศจิกายน 2555 มีผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงขอเข้ารับบริการจำนวน 731 ราย แบ่งเป็น 1. ความรุนแรงในครอบครัว 593 ราย 2. ความรุนแรงทางเพศ 85 ราย 3. ท้องไม่พร้อม 22 ราย 4. ค้ามนุษย์ 3 ราย 5.คลิปวิดีโอ 7 ราย 6.ต้องการหางานทำเพราะสามีทอดทิ้ง 21 ราย

          นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สภาพสังคมไทยในปัจจุบันเกิดความรุนแรงให้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน จนบางคนเกิดความชินชาต่อความรุนแรงและคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องของตนเอง ทั้งนี้ข้อมูลจากเอกสารของยูเอ็น “เรื่อง : ปี พ.ศ. 2554-2555 ความคืบหน้าของผู้หญิงในโลกในการแสวงหาความยุติธรรม” ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับ 7 ที่มีการกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด โดยเจตคติทางสังคมไทยมองปัญหานี้ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคดีที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ผัวเมียตีกัน ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่เกิดความไม่มั่นใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยในการที่จะไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ ส่งผลให้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวันและกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เด็กและสตรีจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกทำร้ายร่างกาย ทางจิตใจและทางเพศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          การใช้ “ความรุนแรง” เป็นพฤติกรรมหรือการกระทำที่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และคนส่วนใหญ่มักนึกถึงภาพความรุนแรงต่อเด็กและสตรีว่า คือเหตุการณ์การทำร้ายร่างกาย หรือการข่มขืน แต่ความจริงแล้วปัญหาความรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะการทำร้ายร่างกายเท่านั้น ยังพบว่า มีการใช้ความรุนแรงอีกหลายรูปแบบ ได้แก่ ความรุนแรงทางด้านร่างกาย เช่น การทุบตีทำร้ายร่างกาย ตบ เตะ ต่อย การใช้อาวุธ เป็นต้น ความรุนแรงทางด้านจิตใจ เช่น การใช้คำพูด กิริยา หรือการ

         กระทำที่เป็นการดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม ด่าว่าให้อับอาย การกลั่นแกล้ง ทรมานให้เจ็บช้ำน้ำใจ การบังคับ ข่มขู่ กักขัง ควบคุม ไม่ให้แสดงความคิดเห็น การหึงหวง การเลือกปฏิบัติ การเอารัดเอาเปรียบ การตักตวงผลประโยชน์ การถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการเอาใจใส่เลี้ยงดู เป็นต้น ความรุนแรงทางเพศ เช่น การถูกละเมิดทางเพศ การพูดเรื่องลามกอนาจาร การแอบดู การจับต้องของสงวน การบังคับให้เปลื้องผ้า รวมไปถึงการกักขัง หน่วงเหนี่ยว อิสรภาพ บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

         อธิบดีกรมสุขภาพจิต อธิบายว่า สาเหตุของการใช้ความรุนแรงมักเกิดมาจากลักษณะส่วนตัวของผู้กระทำความรุนแรงที่ได้รับการหล่อหลอมมาจากครอบครัว เช่น นิสัยที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เลียนแบบพ่อ แม่ที่ชอบใช้ความรุนแรง หรือได้แบบอย่างจากหนังสือ โทรทัศน์ ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนในเรื่องผิดชอบชั่วดี ครอบครัวขาดความอบอุ่น หรืออาจเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง ทำให้ควบคุมตนเองไม่ได้ เช่น โรคจิต โรคประสาท ฯลฯ ซึ่ง “ปัญหาความรุนแรง” ส่วนใหญ่จะยึดโยงกับ “ปัญหาครอบครัว” เพราะครอบครัวเป็นสถาบันหลักของสังคม ขณะที่ปัญหาครอบครัวก็เกี่ยวพันกับ “ปัญหาทางจิต” ด้วย

         ดังนั้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี จึงควรเริ่มต้นที่การเลี้ยงดูจากครอบครัว สมาชิกในครอบครัวต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก ความอบอุ่น ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ผูกพัน เข้าใจ เห็นใจ ไม่ควรจะทะเลาะกันรุนแรง สามีไม่ควรตีภรรยา ภรรยาก็ไม่ควรทำอะไรสามี ไม่กระทบกระทั่ง ด่าทอ เสียดสี หรือตัดสินปัญหาด้วยการทุบตี ชกต่อย เพราะครอบครัวเป็นตัวช่วยหลักในการปลูกฝังรากฐานจิตใจ นิสัย และทัศนคติที่ดีให้กับทุกคน พร้อม ๆ กับสอนให้มีความเกื้อกูล เคารพสิทธิความเสมอภาคระหว่างชายและหญิง เพื่อร่วมกันปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสม ให้สังคมได้รับรู้ว่าปัญหาการกระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรีไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ทุก ๆ คนในสังคมต้องช่วยกัน

          “ปัจจุบันรัฐบาลได้ออกกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งบังคับใช้มาแล้วตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 เพื่อเป็นการสร้างมาตรการและกลไกคุ้มครองเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว หากใครพบเห็นสามี-ภรรยา ทุบตีกัน หรือกรณีบุตร หรือสาวใช้ ถูกคนในครอบครัวทำร้าย ข่มขืน หรือเกิดเหตุรุนแรงในครอบครัวทุกประเภท ควรแจ้งเจ้าพนักงานเพื่อสามารถเข้าไประงับเหตุภายในเคหสถานได้ทันที และหากประชาชนท่านใดได้รับผลกระทบด้านจิตใจ หรือมีปัญหาสุขภาพจิตจากการใช้ความรุนแรง สามารถโทรฯปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323 โทรฯ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว.

           ขอขอบคุณที่มา เดลินิวส์ออนไลน์


  View : 7.93K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 44.204.24.82