นพ.เจษฏา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยประชาชนที่อาจมีการเล่นพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ที่จะมีขึ้นตลอด 1 เดือนจากนี้ โดยมีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่า การเล่นพนันมากๆ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง คล้ายกับการติดสารเสพติด เรียกว่า การติดพนันบอล ซึ่งถือเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง จึงขอแนะให้ลองสังเกตพฤติกรรมของตนเองหรือคนใกล้ชิด ว่ามีความเสี่ยงติดพนันบอล หรือไม่ จาก 1 ใน 3 อาการ ต่อไปนี้ คือ
1.นอนไม่หลับ หงุดหงิด หรือวิตกกังวล เมื่อพยายามหยุดเล่นพนัน
2.ปิดบังครอบครัวหรือเพื่อน ไม่ให้รู้ว่าเสียพนัน และ
3.ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน
กรมสุขภาพจิตจึงขอเชิญชวนประชาชนเชียร์บอลกันอย่างมีสติ ดูแลตัวเอง มีเวลาพักผ่อน ไม่ควรติดตามต่อเนื่องนานเกิน 2 วันติดตามจากสื่ออื่นๆแทนและหากต้องการรับคำปรึกษาในการเลิกพนันสามารถโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เลิกพนัน โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่www.facebook.com/GamblingCounseling1323 ซึ่งจะมีนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญในการปรับพฤติกรรมฝึกการคิดวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการจูงใจให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้โทรเข้ามาขอคำปรึกษา จำนวน 310 ครั้ง เป็นชายมากกว่าหญิง ถึง 3 เท่า ร้อยละ 34 ปรึกษาเรื่องติดพนันบอล อายุระหว่าง 22-59 ปี รวมทั้ง พบว่า ปัญหาการพนันที่โทรเข้ามาขอคำปรึกษาในอันดับต้นๆ ได้แก่ การติดพนันออนไลน์ พนันบอล และการเล่นไพ่ เล่นหวย
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคติดพนัน แม้จะสามารถรักษาได้ ด้วยการทำพฤติกรรมบำบัดและการรักษาด้วยยา แต่ทางที่ดีที่สุด คือ การไม่เริ่มลองเล่น เพราะไม่ต่างจากการลองยาเสพติด ที่สุดท้ายแล้วย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตตนเอง ครอบครัว และทรัพย์สิน ทั้งนี้ หากผู้ปกครองปล่อยให้ลูกหลานเข้าสู่การพนันตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น จะทำให้พวกเขามีโอกาสเสี่ยงติดเหล้า 5 เท่า ติดยาเสพติด 6 เท่า เสี่ยงสูบบุหรี่ 3-10 เท่า เสี่ยงใช้ความรุนแรงและใช้อาวุธ 6 เท่า มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 4 เท่า รวมทั้ง มีทักษะในการใช้ชีวิตลดลง ตลอดจนเป็นหนี้และก่อปัญหาอาชญากรรม
มติชนออนไลน์ 10 มิถุนายน 2559