กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ กรมอนามัย เดินหน้าสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ภาวะขาดสารไอโอดีน และภาวะโลหิตจาง ในเด็กไทย ปี 2557

Press Release 

กรมสุขภาพจิต จับมือ กรมอนามัย เดินหน้าสำรวจ IQ-EQ โรคขาดสารไอโอดีนและโลหิตจาง ในเด็ก ป.1 ทั่วประเทศ ก.ค.นี้

          พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการสัมมนา “นักวิจัยภาคสนาม” โครงการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กไทย ความฉลาดทางอารมณ์ ภาวะขาดสารไอโอดีน และภาวะโลหิตจางของเด็กไทย ปี2557 ว่า จากการสำรวจ IQนักเรียนไทยทั่วประเทศ เมื่อปี 2554 พบ IQ เฉลี่ย 98.59 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลางมาตรฐานสากล (IQ=100) และเมื่อดูในภาพรวมของประเทศ พบว่า เด็กเกือบครึ่ง (48.5%) มีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ต่ำ (IQ < 100) รวมทั้ง มีระดับสติปัญญาบกพร่อง (IQ < 70) อยู่ถึง 6.5% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลที่ไม่ควรเกิน 2% ขณะที่ระดับความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เด็กไทย วัย  3-5 ปี ที่สำรวจเมื่อ ปี 2545 พบว่า มีเกณฑ์ปกติ 139-202 คะแนน และลดลงเป็น 125-198 คะแนน ในปี2550 ด้านที่ลดลง คือ ด้านการปรับตัวต่อปัญหาและความกระตือรือร้น ส่วนเด็กวัย 6-11 ปี มีเกณฑ์ปกติ 148-225 คะแนน จากการสำรวจเมื่อปี 2545 และลดลงเป็น 129-218 คะแนน ในปี2550 ด้านที่ลด คือ ด้านความมุ่งมั่นพยายาม
         รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหา IQ EQ ของนักเรียนไทยแล้ว ยังพบปัญหาโภชนาการเด็ก ได้แก่ โรคขาดสารไอโอดีน และภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งล้วนส่งผลต่อระดับสติปัญญาและสุขภาพร่างกายของเด็ก โดยล่าสุด จากการตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะเด็กเล็ก (อายุ 3-5 ปี) ของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย เมื่อปี 2556 พบ เด็ก ร้อยละ 11.1 เป็นโรคขาดสารไอโอดีน (ปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะน้อยกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลิตร) ขณะที่ การสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการของประเทศไทย ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2546 พบ ความชุกโรคโลหิตจางกลุ่มเด็กปฐมวัย (อายุ 6 เดือน – 5 ปี) ร้อยละ 25.9 กลุ่มเด็กวัยเรียน  อายุ 6-8 ปี พบ ร้อยละ 46.7 อายุ 9-11 ปี  พบ ร้อยละ 25.4 และ อายุ 12-14 ปี พบ ร้อยละ 15.7 ซึ่งสาเหตุ มากกว่า ร้อยละ 50 เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก
          เพื่อติดตามสถานการณ์ระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กไทยในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ นำไปสู่การวางแผนส่งเสริมและพัฒนา IQ-EQ เด็กไทย ให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศได้ กรมสุขภาพจิตและกรมอนามัยจึงร่วมมือกันเตรียมลงสำรวจ IQ-EQ ภาวะขาดสารไอโอดีน และภาวะโลหิตจางของเด็กไทย ปี 2557 โดยจะสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กนักเรียน ชั้น ป.1 ในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นตัวแทนในระดับเขตบริการสาธารณสุข ประมาณ 5,721-6,005 คน    พร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม นี้ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
           ด้าน พญ.แสงโสม   สีนะวัฒน์   นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ (ด้านโภชนาการ) กรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ไอโอดีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างธัยรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาสมองและระบบการทำงานของร่างกาย โรคขาดสารไอโอดีนเป็นต้นเหตุของภาวะปัญญาอ่อน การขาดสารไอโอดีนจะทำให้สมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ความเฉลียวฉลาดหรือระดับสติปัญญาก็จะลดลง มีปัญหาเรื่องการเรียน ขณะที่ธาตุเหล็กจะสะสมในสมองตั้งแต่ทารกในครรภ์จนถึงวัยผู้ใหญ่ มีความสำคัญต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ โดยภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการขาดธาตุเหล็ก ในทารกแรกเกิด – 2 ปี จะส่งผลต่อศักยภาพการเรียนรู้อย่างถาวร เด็กไม่สามารถพัฒนาได้เท่ากับเด็กปกติ แต่หากเกิดเพียงระยะสั้นๆ จะสามารถแก้ไขให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้  
         
พญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล  กล่าวเสริมว่า ความพร้อมในการเรียนจะช่วยเพิ่มความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในความสุ่มเสี่ยง การลงทุนเตรียมความพร้อมหรือการคัดกรองปัญหาที่รบกวนการเรียนรู้ของเด็ก ตั้งแต่อายุยังน้อย จะให้ผลประโยชน์ที่คุ้มค่ามากต่อการเรียน กล่าวคือ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น ทั้งในระดับประถมศึกษาและระดับที่สูงขึ้นไป อัตราการสำเร็จการศึกษาก็จะมีมากขึ้น อีกทั้งยังสัมพันธ์กับความสำเร็จในการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ของชีวิตอีกด้วย
            การจัดสัมมนา “นักวิจัยภาคสนาม” ในวันนี้ (23 มิ.ย.57) เป็นการเตรียมความพร้อมในการลงสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ ภาวะขาดสารไอโอดีน และภาวะโลหิตจางของเด็กไทย ปี 2557 โดยจะใช้แบบทดสอบ Standard Progressive Matrices (SPM parallel version) สำรวจระดับ IQ และใช้แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (15 ข้อ) ประเมิน EQ รวมทั้ง การตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะ และการตรวจค่าฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเลือดหาภาวะโลหิตจางของเด็กไทย ทั้งนี้ นักจิตวิทยาและพยาบาลวิชาชีพสังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศในแต่ละพื้นที่จะเป็นผู้สำรวจระดับ IQ ตลอดจนประสานกับพ่อแม่ผู้ปกครองในการประเมินอีคิวบุตรหลานด้วยตัวเอง ขณะที่ การตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะ และการตรวจค่าฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเลือด เจ้าหน้าที่ศูนย์อนามัยในแต่ละพื้นที่จะเป็นผู้ดำเนินการ โดยกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจทั้งหมดต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าว

                              ****************

ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี สถาบันราชานุกูล
เบอร์โทรศัพท์ 0-2248-8900 ต่อ 70367
E-mail : rajainstitute@gmail.com


กำหนดการ.pdf
Press Release เดินหน้าสำรวจ IQEQ.pdf
แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์เด็ก 6-11 ปี.pdf

  View : 4.15K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,676
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 5,647
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 25,054
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 817,705
  Your IP : 3.147.80.249