กรมสุขภาพจิต เตรียมส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทลงพื้นที่ดูแลจิตใจ เหตุนักเรียนยิงกันในโรงเรียนย่านจ.นนทบุรี

กรมสุขภาพจิต เตรียมส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ลงพื้นที่เยียวยาดูแลจิตใจนักเรียน ครู และผู้ปกครอง กรณีเกิดเหตุนักเรียนยิงกันเสียชีวิตภายในโรงเรียนย่านถนนเลี่ยงเมืองนนทบุรี อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

วันนี้ (18 ธันวาคม 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเหตุการณ์นี้ว่า กรมสุขภาพจิต เตรียมส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ประกอบด้วย โรงพยาบาลศรีธัญญา สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 ร่วมออกหน่วยลงพื้นที่ โดยจะลงพื้นที่เข้าไปในโรงเรียนดังกล่าว เพื่อดูแลเยียวยาจิตใจเด็กนักเรียน ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า สำหรับเหตุการณ์ยิงกันในโรงเรียนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยมากในประเทศไทย แต่สามารถส่งผลกระทบต่อการเรียนและการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชนได้อย่างมาก กรมสุขภาพจิตจะดำเนินงานอย่างเร่งด่วนผ่านการทำงานของทีมเอ็มแคทสุขภาพจิตในพื้นที่ โดยจะมีการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น คัดกรองความเครียด มีการให้คำปรึกษาสุขภาพจิต การพูดคุยให้กำลังใจกับทางเด็กนักเรียน ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถดูแลสุขภาพจิตตัวเองได้หลังจากเกิดเหตุการณ์ ตลอดจนมีแนวทางการส่งต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตให้เข้ารับการรักษาเฉพาะทางจิตเวช โดยเฉพาะผู้ที่มีความเครียดสูง และหากพบกลุ่มเสี่ยงที่มีผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรม จะให้มีการพูดคุยกับจิตแพทย์หรือพยาบาลจิตเวชโดยตรง ซึ่งจะมีแผนการดูแลเฉพาะกลุ่มเสี่ยงนี้ โดยการเฝ้าระวังดูแลปัญหาสุขภาพจิต และส่งต่อการรักษาให้หน่วยที่รับผิดชอบต่อไป
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นการกลั่นแกล้งในโรงเรียนนั้น เป็นจุดเริ่มต้นและปลูกฝังเด็กในเรื่องของความรุนแรง การทำร้ายกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อเด็กทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งอารมณ์จิตใจและร่างกาย นักเรียนที่ถูกรังแก ถูกกลั่นแกล้ง มักเครียด ซึมเศร้า หากถูกกดดันรุนแรง จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นเพื่อแก้แค้น ขณะที่นักเรียนที่รังแกคนอื่น เมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นความเคยชิน จะมีปัญหาในเรื่องความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาลหรืออาชญากรได้ ดังนั้น สังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งที่บ้านและโรงเรียน เพื่อลดปัญหาการรังแกกันในโรงเรียน รวมทั้งเพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดขึ้นจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว
 
                   ********************************************            18 ธันวาคม 2562

  View : 1.86K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,205
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 7,228
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,869
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 873,037
  Your IP : 3.139.70.69