สร้างภูมิคุ้มกันลูกน้อยด้วย ‘นมแม่’

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
       “นมแม่” เปรียบเสมือน ‘วัคซีนหยดแรก’ ของลูกน้อย เนื่องจากน้ำนมของแม่ในช่วงแรกหลังคลอด คือ ‘หัวน้ำนม’ที่มีสีเหลืองข้น (Colostrum) อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารก มีภูมิคุ้มกันนานาชนิดที่แสนวิเศษ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย
       สารอาหารที่มากกว่า 200 ชนิด ที่อยู่ในนมแม่นั้น ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ ฮอร์โมนและเอ็นไซม์ นับว่ามีความโดดเด่น มีคุณภาพเหมาะกับระบบทางเดินอาหาร และไตของทารกที่ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของลูกทุกระยะการเติบโต และช่วยปกป้องลูกจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอุจจาระร่วง โรคภูมิแพ้ โรคอ้วน ที่พบบ่อยในวัยทารก
   นมแม่ สร้างและเป็นเกราะปกป้องร่างกายลูก
1. สมอง : นมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสมอง และส่งเสริมพัฒนาการที่ดี ช่วยสร้างเชาว์ปัญญาได้เต็มที่ การอุ้มลูกขึ้นดูดนมแม่เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสทุกส่วนของลูก ทำให้สมองได้รับสัญญาณประสาทส่งเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ สมองที่ถูกกระตุ้นบ่อยๆ จะเกิดการแตกแขนงเซลล์ประสาทอย่างมากมาย เพิ่มการเชื่อมโยงของเส้นใยสมอง เส้นประสาทจะรับสัญญาณการเรียนรู้เร็วขึ้น ในกลุ่มเด็กที่ได้รับนมแม่มีการเพิ่มระดับเชาวน์ปัญญาขึ้นโดยเฉลี่ย 3.16 จุด และในกลุ่มทารกเกิดก่อนกำหนดที่ได้รับนมแม่ มีการเพิ่มระดับเชาวน์ปัญญาที่ 5.26 จุด
ระยะเวลาของการให้นมแม่จะสัมพันธ์กับการเพิ่มเชาวน์ปัญญาของลูก ยิ่งได้รับนมแม่มากกว่า 6 เดือน มีระดับเชาว์ปัญญาสูงกว่าเด็กที่ได้รับนมแม่น้อยกว่า 6 เดือน
2. หู : ลดโอกาสเป็นโรคหูน้ำหนวก หรือหูอักเสบ เนื่องจากลักษณะการดูดนมของลูกต้องใช้การเคลื่อนไหวของลิ้นหรือแรงดันทางช่องปาก ทำให้มีการเคลียร์น้ำในหูของลูกน้อยออกไปด้วย
3. สายตา : พัฒนาการมองเห็น สายตาคมชัด เนื่องจากในนมแม่มีสารอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา เช่น สารดีเอชเอ กรดอะมิโน และไขมันอื่นๆ
4. ระบบทางเดินปัสสาวะ : มีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ เนื่องจากในนมแม่มีภูมิคุ้มกันต่างๆ ทำให้ไม่ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
5. ไตแข็งแรง : ในนมแม่มีปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม ส่งผลให้ไตทำงานอย่างสมดุล และแข็งแรง
6. ผิวพรรณ : ลดโอกาสภูมิแพ้ผิวหนัง 42 % ในช่วงที่ทารกกินนมแม่อย่างเดียว ทารกจะไม่ได้รับโปรตีนจากนมวัว ซึ่งเป็นโปรตีนที่สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของทารก และทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ทารกที่กินนมแม่ จึงมีอัตราการเกิดโรคภูมิแพ้น้อยกว่า
7. ระบบทางเดินอาหาร : ลดโอกาสโรคท้องเสียและลำไส้อักเสบน้อยกว่า 64% ในน้ำนมแม่มีสารอาหารที่ปกป้องลูกน้อยในระบบทางเดินอาหาร ประกอบด้วย
      Secretory antibodies ทำหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอม
      Oligosaccharides และ Glycoconjugates กระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของทารก
      Lactoferrin สามารถกำจัดเชื้อราที่เป็นอันตราย อีกทั้งยังป้องกันโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ
      Anti-inflammatory effects นมแม่มีการต่อต้านการอักเสบซี่งมีประโยชน์ต่อสำไส้ของทารก
      Prebiotic effects ในนมแม่มีน้ำตาลที่มีคุณสมบัติเป็นอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ใหญ่
8. ช่องปาก: เนื่องจากลูกน้อยดูดนมแม่จากเต้า กล้ามเนื้อจึงเกิดการพัฒนา กรามล่างของลูกจึงแข็งแรง ฟันเกน้อยลงเมื่อโตขึ้น
9. ระบบทางเดินหายใจ : โอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดบวมน้อยกว่าทารกที่กินนมผสม 60% และป้องกันเบื้องต้นต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ ช่วยป้องกันโรคหอบหืด
การส่งเสริมให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือนขึ้นไปจะส่งผลดีและส่งเสริมพัฒนาการทางด้านต่างๆ ของร่างกาย และหลังจาก 6 เดือนขึ้นไป ควรให้นมแม่คู่กับอาหารตามวัยจนกระทั่งถึง 2 ปีเป็นอย่างน้อย เนื่องจากนมแม่ยังคงเป็นอาหารหลักสำคัญสำหรับเด็กๆ 
      ปริมาณนมแม่ที่ควรให้ลูกน้อยได้กินในแต่ละวัน คือวันละ 8 ครั้งขึ้นไป หรือทุกๆ 2-3 ชม. และหากลูกดูดนมเร็ว ดูดนมบ่อย และดูดอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นปัจจัยสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะส่งผลให้คุณแม่มีน้ำนมในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย และประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่...
 
 
ที่มา  อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ team content www.thaihealth.or.th

  View : 3.59K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 0
 เมื่อวาน 13
 สัปดาห์นี้ 62
 สัปดาห์ก่อน 97
 เดือนนี้ 345
 เดือนก่อน 536
 จำนวนผู้เข้าชม 476,781
  Your IP : 3.22.249.158