งานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี การสาธารณสุขไทย ประจำปี 2561 "เพื่อประชาชนสุขภาพดี 100 ปี แห่งการพัฒนา" สถาบันราชานุกูลร่วมจัดบูธนิทรรศการให้คำแนะนำการประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก

วันที่ 18 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการและมหกรรมการแสดงผลงาน 100 ปี กระทรวงสาธารณสุข “เพื่อประชาชนสุขภาพดี 100 ปี แห่งการพัฒนา” ระหว่างวันที่ 18-20 กรกฎาคม 2561 ณ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการให้ข้อมูลและให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ รวมถึงนิทรรศการร้อยเรียงเรื่องราวความเป็นมาของการสาธารณสุขไทย การจัดแสดงบูธนิทรรศการให้ความรู้แก่ประชาชนโดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

วันที่ 18-20 กรกฎาคม 2561 สถาบันราชานุกูลร่วมจัดบูธนิทรรศการให้คำแนะนำการประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยการคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก (DSPM/DAIM) รวมถึงให้คำแนะนำในเรื่องการประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ ด้วย TEDA4I  โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นักศึกษา และประชาชน สอบถามข้อมูลในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กและขอคำปรึกษาในการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก โดยมีพยาบาลวิชาชีพสถาบันราชานุกูลคอยให้คำปรึกษาพร้อมมอบสื่อนิทานส่งเสริมพัฒนาการด้านการอ่านตามวัยให้ประชาชนที่เข้าชมนิทรรศการนำไปส่งเสริมพัฒนาการบุตรหลานที่บ้าน

การส่งเสริมพัฒนาการเด็กเเรกเกิด - 5 ปี

การส่งเสริมพัฒนาการเด็กมุ่งเน้นให้เด็กทั่วไปและเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วตั้งเเต่เเรกเริ่มของชีวิต โดยมีพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูและบริบทในสังคมของเด็กต้องมีความเข้าใจศักยภาพของเด็กและมีบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กร่วมกัน

คู่มือเฝ้าระวังคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก (DSPM/DAIM)

 

จากการสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัยของกรมอนามัย ตั้งเเต่ปี 2542-2555 พบว่า เด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าประมาณร้อยละ 30 ในปี 2555 กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมผู้ทรงคุณวุฒิมาช่วยกันดูแลปัญหาสำคัญนี้ จากการรวมตัวของผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านนี้ คู่มือ DSPM/DAIM จึงถูกพัฒนาขึ้นมาโดยปรับแนวคิดใหม่ให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง เป็นผู้เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการของลูก ส่วนเจ้าหน้าที่จะทำการประเมินและคัดกรองพัฒนาการ เมื่อเด็กอายุ 9 , 18 , 30 ,  42 เดือน และในปี 2558 ได้เริ่มดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ กระทรวงสาธารณสุขใช้คู่มือนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสพระชนมายุ5 รอบ 2 เมษายน 2558 จนถึงปัจจุบัน

 

คู่มือประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ (TEDA4I)

การดูแลเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการในประเทศไทยได้ดำเนินการมากว่า 50 ปี เครื่องมือที่ใช้มีความหลากหลายและมีจำนวนข้อทักษะมากกว่า 600 ข้อ ไม่สะดวกให้หน่วยงานในพื้นที่นำไปใช้ปฏิบัติงาน ในปี 2556 กรมสุขภาพจิตได้ปรับปรุงและพัฒนาคู่มือประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการ (Thai Early Developmental Assessment for Intervention : TEDA4I) ขึ้น โดยคณะทำงานของสถาบันราชานุกูล  สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์  กรมสุขภาพจิต และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม ซึ่งการพัฒนาเครื่องมือนี้ได้ยึดหลักพัฒนาการปกติ การศึกษาเกณฑ์ปกติด้านพัฒนาการของเด็กไทยวัยเเรกเกิด - 5 ปี  ของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต และบูรณาการเครื่องมือต่างๆ ได้แก่ คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็ก (DSI) แบบประเมินและป้องกันพัฒนาการเด็กล่าช้าเด็กวัยแรกเกิด - 5 ปี  และแบบประเมินพัฒนาการอย่างคัดกรอง (DENVER II)

รวมทั้งประสบการณ์จากคณะทำงานที่เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กหลังจากนั้น นำคู่มือนี้ (TEDA4I) มาหาค่าความเที่ยงตรง (Validity) และค่าความเชื่อมั่น (Reliability) พบว่า มีค่าความเที่ยงตรง (Validity)โดยรวมของคู่มือ เท่ากับ 0.84 ซึ่งมีระดับความเที่ยงตรงอยู่ในระดับสูงมาก และมีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) เท่ากับ 0.97 โดยคู่มือนี้จัดทำขึ้นตามขั้นตอนการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานใน รพศ. / รพท. / รพช. (User friendly) สามารถประเมินเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาพัฒนาการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และในปี 2560 กรมสุขภาพจิต โดยสถาบันราชานุกูล

ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง ผลการใช้โปรแกรม TEDA4I ในจังหวัดกาญจนบุรี พบว่า เด็กพัฒนาการล่าช้าหลังเข้าร่วมโปรแกรม TEDA4I ในเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการภายในระยะเวลา 3 เดือน จะมีพัฒนาการกลับมาสมวัยร้อยละ 28.33

  View : 3.63K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,597
 เมื่อวาน 1,702
 สัปดาห์นี้ 4,657
 สัปดาห์ก่อน 7,125
 เดือนนี้ 24,573
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 906,251
  Your IP : 54.36.148.100