ภูมิแพ้ในเด็ก

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
    ในสภาวะมลพิษต่าง ๆ ในปัจจุบัน อาจมีสารเคมีหรือสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ หลากหลายชนิดปะปนเข้ามาอยู่ในร่างกายหรืออยู่ตามผิวหนังตามร่างกายของเราได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ที่มิอาจป้องกันตนเองจากสิ่งเหล่านี้ได้ดี จนอาจนำมาซึ่ง “โรคภูมิแพ้ในเด็ก” ได้
     อุบัติการณ์ความชุกของโรคภูมิแพ้ในเด็กพบได้มากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะโรคภูมิแพ้หอบหืด ภูมิแพ้จมูกอักเสบ และภูมิแพ้ผิวหนัง ซึ่งโรคภูมิแพ้มีความชุกในผู้ป่วยเด็กเพิ่มมากขึ้นกว่า 4 เท่า ในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาและพบเด็กที่เป็นภูมิแพ้หอบหืดได้ราว 15% ของเด็กในกรุงเทพ มหานคร ส่วนโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบก็มีความชุกราว 40% และโรคภูมิแพ้ที่ผิวหนังอักเสบจะพบมากขึ้นราว 15%
      โรคภูมิแพ้เป็นอาการที่ร่างกายมีการตอบสนองทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่ระบบต่าง ๆ เช่น ที่ระบบทางเดินหายใจ ที่หลอดลม หรือที่ผิวหนัง โดยมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคภูมิแพ้ใน 2 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มพันธุกรรม  ซึ่งในเด็กที่มีพ่อหรือแม่เป็นภูมิแพ้ เด็กจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคภูมิแพ้ได้ 30% แต่หากพ่อแม่เป็นภูมิแพ้ทั้งคู่ โอกาสที่เด็กจะเป็นภูมิแพ้จะเกิดขึ้นได้ราว 40-80%
2) กลุ่มสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษที่กระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้แก่ ฝุ่นละออง ควันบุหรี่ แม้แต่การสูบบุหรี่ในคุณแม่ตั้งครรภ์ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้เช่นเดียวกัน ในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือคลอดแล้วตัวเล็กมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการหอบหืดได้
ระดับความรุนแรงของแต่ละอาการ
      หากเป็นเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ จะมีอาการคันจมูก โดยเฉพาะในช่วงเช้าจะคัน จาม น้ำมูกไหล คัดแน่นจมูก บางรายเป็นมากก็จะหายใจเสียงดัง และมีอาการกรนได้ เด็กจะมีความรู้สึกรำคาญต่อการใช้ชีวิตประจำวันเมื่อเป็นมาก ๆ มีอาการมากกว่า 4 วันต่อสัปดาห์ และหากเป็นต่อเนื่องมากกว่า 1 เดือนจะถือว่ามีภาวะรุนแรง มักพบอาการเหล่านี้ได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบ พ่อแม่จึงควรสังเกตอาการว่ามีน้ำมูกในตอนเช้า ดีขึ้นเมื่อตอนบ่าย ทั้งที่ไม่ได้มีไข้หรือเป็นหวัด หรือลองสังเกตการสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น เช่น เมื่อเด็กเล่นกับสัตว์แล้วมีอาการแพ้ขนรังแคสัตว์จำพวกสุนัข หรือแมว ซึ่งในเด็กบางคนอาจมีปัจจัยเสี่ยงอยู่เดิมแล้ว เมื่อสัมผัสถูกปัจจัยกระตุ้นเข้าไปก็อาจเกิดเป็นภูมิแพ้ขึ้นได้
      ส่วนโรคภูมิแพ้หอบหืด เด็กจะหายใจเร็ว หายใจแรง แน่นหน้าอก หอบ เหนื่อยง่าย รู้สึกหอบเวลาออกกำลังกาย ไอเป็นชุด เหนื่อยเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน และอาจมีอาการอกบุ๋มได้ โดยอาการหอบหืดจะเกิดขึ้นที่หลอดลมมีการอุดกั้น หดเกร็ง  มีเสียงหายใจวี้ด ๆ ฮื้ด ๆ ในอก และมักพบว่าในเด็กที่เป็นหอบหืดจะมีอาการเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบร่วมด้วยได้ ซึ่งสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการหอบหืดได้มาก เช่น สารก่อภูมิแพ้จำพวกไรฝุ่น แมลงสาบ (ทั้งตัวแมลงสาบและอุจจาระ) ขนสัตว์ รังแคสัตว์ เกสรดอกไม้ สปอร์เชื้อรา ควันบุหรี่ ควันเผาไหม้ ไนตริกออกไซด์ สารเคมีต่าง ๆ และการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ
     สำหรับโรคภูมิแพ้ผิวหนัง มักเกิดอาการคันได้มากในเวลากลางคืน มีผื่นขึ้นตามแขน ขา อาการจะเป็น ๆ หาย ๆ รวมทั้งอาจมีอาการทั้งเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและหอบหืดร่วมด้วยได้ เด็กจะมีอาการคัน มีผื่นเป็นขุย เป็นสะเก็ด มีอาการผิวแห้งร่วมด้วย ส่วนในเด็กโตจะมีอาการที่ข้อพับแขน ขับพับขาหลังเข่า หากเป็นผื่นผิวหนังรุนแรง จะสามารถเป็นได้ทั้งตัว โดยมีสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น นม ถั่วเหลือง ไข่ ไรฝุ่น แมลงสาบ หรืออากาศร้อน สารระคายเคือง และการติดเชื้อ ซึ่งโดยปกติแล้วผิวหนังของเด็กที่เป็นภูมิแพ้นั้น จะขาดสารรักษาความชุ่มชื้น ขาดน้ำง่าย ทำให้ผิวแห้ง เกิดการอักเสบได้ง่าย และไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าเด็กทั่วไป
มีวิธีการตรวจคัดกรองอย่างไรว่าเป็นภูมิแพ้ในเด็ก
        การวินิจฉัยจะอาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก เช่น ถ้าเป็นเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ ก็จะเป็นการตรวจที่จมูก อาการหอบหืดจะตรวจที่ปอด ตรวจดูว่าสมรรถภาพของปอดเป็นอย่างไร หากเป็นที่ผิวหนังก็จะดูลักษณะอาการและผื่นที่แสดง รวมทั้งซักประวัติว่าพบเจอสิ่งใดที่มากระตุ้น ส่วนการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสาเหตุสารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้น เป็นการตรวจอิมมูโนโกลบูลิน อี (Specific IgE) ซึ่งจะทำการตรวจระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นสารก่อภูมิแพ้เช่น ไรฝุ่น เชื้อรา อาหาร นอกจากนี้ยังมีการตรวจวินิจฉัยที่ผิวหนังโดยการสะกิดด้วยน้ำยา ใช้เข็มหรือไม้พลาสติกปลายแหลม ซึ่งจุดใดที่แพ้จะมีอาการบวมแดงขึ้นมา น้ำยาที่ใช้ตรวจวินิจฉัยนี้ได้แก่ น้ำยาสกัดจากโปรตีนของสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ นม และไข่ เป็นต้น
วิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ในเด็ก
      หากเป็นโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ จะมียาใช้ในการรักษา ทั้งยากินที่เป็นยาต้านฮีสตามีน การล้างจมูก ยาพ่นจมูก และจะพยายามให้หลีกเลี่ยงสารที่มากระตุ้นด้วยเสมอ
      ส่วนการรักษาโรคหอบหืด ยาที่ใช้จะเป็นกลุ่มยาสูดที่ควบคุมไม่ให้มีการอักเสบของหลอดลม โดยห้ามหยุดยาเองเมื่อไม่มีอาการแล้ว  และยาสูดกลุ่มขยายหยอดลมที่ใช้เมื่อมีอาการหรือภาวะฉุกเฉิน
      การรักษาโรคผื่นผิวหนัง ควรหลีกเลี่ยงสารกระตุ้น ความเครียด และให้มอยส์เจอไรเซอร์แก่เด็ก เพราะจะมีผิวแห้งเกิดขึ้น ใช้สบู่อ่อน มีค่า PH 5.5 ปราศจากน้ำหอม กรณีมีผื่นขึ้นก็ให้ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งก็จะช่วยให้ผื่นทุเลาลงได้
      การรักษาด้วยยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ และการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น รวมทั้งการออกกำลังกาย ไม่ปล่อยให้เด็กอ้วน ทานอาหารที่มีไฟเบอร์มาก ๆ ทานปลา ลดของทอดของมัน ไม่สัมผัสถูกควันธูป ควันรถ ฝุ่นละออง รวมทั้ง ควันบุหรี่มือสอง-มือสาม ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ตามลำดับ.       

อ.พญ.ปองทอง ปูรานิธี
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


  View : 4.97K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 390
 เมื่อวาน 1,068
 สัปดาห์นี้ 1,507
 สัปดาห์ก่อน 9,802
 เดือนนี้ 2,915
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 852,083
  Your IP : 40.84.221.231