สสส. กรมสุขภาพจิต และเครือข่าย ชวนคนไทยเขียนเรื่องสั้นปลุกพลังใจ ใช้การอ่านลดความเครียด ความกังวล
แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ธนาคารจิตอาสา และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย รวมพลังดำเนินโครงการ “อ่านยาใจ” เพื่อหนุนเสริมให้เกิดการใช้พลังการอ่านเพื่อปลุกปลอบ เยียวยา สร้างแรงบันดาลใจ และปลุกพลังแห่งชีวิต นำร่องด้วยกิจกรรมจัดประกวดเรื่องสั้น “วันทุกข์ที่ผ่านพ้น”
แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงความสำคัญของโครงการว่า “ในช่วงการระบาดของเชื้อ โควิด ทุกคนย่อมมีความกลัวเป็นธรรมดาเพื่อสร้างกลไกการปกป้องตนเองจากอันตราย กรมสุขภาพจิตอยากเชิญชวนให้เรากลัวอย่างมีเหตุผล ป้องกันตนเอง คนรอบข้าง และรับผิดชอบต่อสังคม และพบว่า การอ่าน หรือบรรณบำบัดสามารถช่วยลดความวิตกกังวล เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการปรับตัวเพื่อรับกับปัญหาที่เผชิญอยู่ จนถึงขั้นเกิดพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่งของผู้อ่าน หลายประเทศถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาทางการแพทย์ เช่น ประเทศอียิปต์ อเมริกา และอังกฤษ”
นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ ประธานกรรมการโครงการอ่านยาใจ กล่าวหนุนเสริมว่า “เวลาคนจะเขียนหนังสือ เขาจะค่อย ๆ กลั่น ค่อย ๆ กรองออกมา เช่นเดียวกับน้ำที่ค่อย ๆ ตกตะกอนนอนก้นจนน้ำใสแจ๋ว น้ำใสแจ๋วนั่นล่ะ คือความเข้าใจชีวิตที่ถ่ายทอดออกมาให้เราได้อ่านกัน ตัวคนเขียนได้ตรึกตรองชีวิต หากกำลังทุกข์ ก็ได้คลี่คลายตนเอง ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีคุณค่าแก่คนอื่น ผู้อ่านเองก็ได้นำข่าวสารที่สำคัญ เรื่องแล้วเรื่องเล่า มาไหลรวมประสบการณ์ของตัวเอง มาต่อเติมชีวิตตัวเอง วันใดที่หัวใจไม่เข้าร่องเข้ารอย ก็จะดึงออกมาใช้ เกิดเป็นความหมายของชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์”
ด้านนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ ว่า “เพราะสถานการณ์บีบคั้นทำให้คนขาดสุขภาวะ ทั้ง 4 หน่วยงาน จึงได้ออกแบบความร่วมมือ เพื่อทำให้คนได้ใช้ประโยชน์จากการอ่านการเขียน ซึ่งเป็นสื่อและกระบวนการใกล้ตัว แม้จะออกไปไหนไม่ได้ ก็สามารถหยิบฉวยมาใช้ได้ งานวิจัยสำคัญของมหาวิทยาลัยซัสเซกซ์ ประเทศอังกฤษ พบว่า การอ่านสามารถลดความเครียดได้เร็วกว่า มากกว่ากิจกรรมอื่น ๆ ถึงร้อยละ 68 มากกว่า การฟังเพลง ดื่มชา หรือเล่นวิดีโอเกม โครงการความร่วมมือในครั้งนี้ ยังมีกระบวนการอื่น ๆ เช่น การคัดสรรหนังสือดีเพื่อสร้างพลังใจแก่ผู้อ่าน โดยจะได้ประกาศรายชื่อเร็ว ๆ นี้”
ด้านนางกนกวลี กันไทยราษฎร์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลกิจกรรมประกวดครั้งนี้ ว่า “เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ในการแบ่งปันประสบการณ์ของการก้าวพ้นความทุกข์ ความเครียดในบุคคลหลากหลายวัย คณะกรรมการจึงได้จัดประกวดทั้งในระดับเด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยเปิดรับตั้งแต่วันนี้ และกำหนดปิดรับผลงาน วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 มีรางวัลสนับสนุนกว่า 60,000 บาท สอบถามรายละเอียดเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 02-910-9565 หรือเว็บไซต์ https://thaiwriter.club/