กรมสุขภาพจิต แนะ พ่อแม่ ต้องให้เวลา เพิ่มกิจกรรมทักษะชีวิต ป้องกันโอกาสลูกตกเป็นอาชญากร

          จากกรณีวัยรุ่นฟิลิปปินส์วัย 19 ปี ฆ่าปาดคอแม่เฒ่า วัย 73 ปี ที่ จ.เชียงใหม่ โดยสารภาพว่า ลงมือฆ่าเหยื่อเองโดยเลียนแบบมาจากเกมนักฆ่าประเภทต่อสู้ล่าสังหาร นั้น  นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในทางจิตวิทยามีความเป็นไปได้ว่าการเล่นเกมติดต่อกันเป็นเวลานานของเด็กและเยาวชนอาจก่อให้เกิดการเสพติด และมีพฤติกรรมรุนแรงเกิดขึ้นได้ แต่ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ไม่ได้เป็นทุกคน การมีพฤติกรรมเลียนแบบอาจเป็นเพราะเด็กแยกไม่ออกระหว่างโลกของความเป็นจริงกับเกม อาจเนื่องจากวุฒิภาวะไม่สมวัยพอ พ่อแม่ที่ปล่อยให้ลูกเล่นเกมโดยไม่มีกติกา การกำกับชนิดเกมและเวลาให้ดีควรจะตระหนักและระมัดระวัง เพราะเกมมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้หมกมุ่น ขาดทักษะชีวิตและการเข้าสังคมในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น การเพิ่มทักษะชีวิตให้กับเด็กจึงมีความสำคัญยิ่ง
          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ข่าวที่เกิดขึ้นหลายคนอาจสงสัยว่าเยาวชนที่ก่อเหตุมีสภาพจิตปกติหรือไม่นั้น เนื่องจากคดีได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดังนั้น จะมีการตรวจสุขภาพจิตเด็กหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศาล อย่างไรก็ตาม กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลสวนปรุง เข้าพูดคุยและเยียวยาจิตใจครอบครัวของเยาวชนผู้ก่อเหตุแล้ว ทั้งนี้ นอกจากเกมจะมีส่วนโน้มน้าวจูงใจแล้ว ปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมครอบครัวก็มีส่วนด้วย พ่อ แม่ ผู้ปกครอง จึงควรให้เวลาใส่ใจดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ต้องสอนลูกให้รู้จักแบ่งเวลาและรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง จำกัดเวลาในการใช้อินเตอร์เน็ตหรือเล่นเกมและไม่ควรปล่อยให้เล่นเพียงลำพังหรือปล่อยให้เด็กเล่นเกมที่มีความรุนแรงและควรสร้างบรรยากาศให้เด็กหรือเยาวชนหันไปสนใจอย่างอื่นแทนการเล่นเกม
            พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "การเสพติดเทคโนโลยี" ในทางการแพทย์ พบว่า สมองของเราจะเจริญเติบโตได้ไม่พร้อมกัน คือ สมองหยาบหรือที่เรียกว่าสมองส่วนการรับรู้และประสาทสัมผัส จะเจริญเติบโตและพัฒนาก่อน ส่วนสมองละเอียดที่ใช้ยั้งคิด และควบคุมความรู้สึก พฤติกรรมจะเติบโตสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุประมาณ 20 ปี ดังนั้น เด็กๆ ในวัยต่ำกว่า 20 ปี จึงมีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ง่าย มีความอดทนอดกลั้น ความยั้งคิด และยับยั้งชั่งใจน้อยกว่า เมื่อมีสิ่งยั่วยุที่ทำให้มีความสนุกสนาน สมองทางด้านการควบคุมหรือวุฒิภาวะ เลยไม่สามารถเอาชนะได้ ทำให้เด็กมีโอกาสติดคอมพิวเตอร์ ติดเกม ติดคุยโทรศัพท์ ติดสื่อลามกได้ง่ายกว่า หากปล่อยให้ลูกอยู่กับสิ่งเหล่านี้มากเกินไป เช่น มากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน ก็จะนำไปสู่การเสพติดในที่สุด
            การเล่นเกมที่มีเนื้อหาความรุนแรง จะสร้างการเรียนรู้ผิดๆ จากการที่ได้ดูบ่อยๆ จะค่อยๆซึมซับเป็นแบบอย่างเกิดความชินชา ยอมรับและเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา และกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบในที่สุด นอกจากนี้ ผลกระทบจากการเล่นเกมมากๆ ทำให้สมาธิสั้น มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง มีปัญหาการเข้าสังคมในโลกความจริง การดูแลใกล้ชิดของพ่อแม่ ผู้ปกครองจึงมีความสำคัญที่สุด" ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์กล่าว
                               **********************

กรมสุขภาพจิต  2 มี.ค.2558


  View : 1.69K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,922
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 5,893
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 25,300
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 817,951
  Your IP : 18.220.78.7