กรมสุขภาพจิตเตือน 5 พฤติกรรมเสี่ยงติดพนันบอล

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
           "กรมสุขภาพจิต" ผวาฟุตบอลโลกทำสังคมติดพนันพุ่ง เผยสถิติพบวัยรุ่น-วัยทำงานติดพนันมากสุด ส่งผลเป็นหนี้จนเครียด ซึมเศร้าและถึงฆ่าตัวตายสูงกว่าทั่วไป 5 เท่า แนะสังเกต 5 พฤติกรรมเสี่ยงติดโรคพนัน
          เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.57 น.พ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการแข่งขันฟุตบอลโลกที่จะเริ่มวันที่ 12 มิ.ย.ว่ามีความเป็นห่วงเรื่องการพนันเกมฟุตบอล ซึ่งเป็นพฤติกรรมการติดที่ง่ายและรวดเร็ว เพราะแอบแฝงไปกับกีฬา ทำให้ผู้เล่นไม่ถูกเพ่งเล็ง ประกอบกับบรรยากาศช่วงบอลโลกมีผลเร้าใจให้วางเดิมพัน ทั้งนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมและผลกระทบจากการเล่นพนันในไทย ปี 2556 โดยศูนย์การศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า กลุ่มนักศึกษานิยมเล่นพนันบอลผ่านเจ้ามือ รองลงมา เล่นกันเองกับเพื่อน และเล่นผ่านเว็บไซต์ โดยใช้สื่อออนไลน์ในการรับข้อมูลข่าวสารในการเล่นพนันบอลมากที่สุด
          น.พ.เจษฎา กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติการให้บริการปรึกษาสายด่วนเลิกพนัน 1323 ของกรมสุขภาพจิต ช่วง ต.ค.2556 - พ.ค.2557 มีจำนวน 259 ครั้ง พบว่า ร้อยละ 30 เป็นปัญหาพนันบอล ผู้รับบริการอยู่ในช่วงวัยรุ่นถึงวัยทำงาน ผู้รับบริการร้อยละ 49.15 ระบุว่ามีผลกระทบต่อครอบครัว ร้อยละ 27.11 มีปัญหาหนี้สิน และร้อยละ 22.03 ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ โดยผู้มีปัญหาพนันบอลจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเครียด ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และใช้สารเสพติดสูงกว่าคนทั่วไป 2-5 เท่า อย่างไรก็ตาม โรคติดพนันสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการทำพฤติกรรมบำบัดและการรักษาด้วยยา โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ต้องการกำลังใจจากบุคคลรอบข้างเป็นอย่างมาก แต่ทางที่ดี ควรป้องกันไว้ดีกว่าแก้ ดูบอลให้สนุก ไม่สร้างทุกข์ด้วยการพนัน จะดีที่สุด
          "สำหรับเรื่องที่คอบอลต้องระวังในการติดตามชมบอลโลกครั้งที่ 20 จัดที่ประเทศบราซิล คือ การนอนดึก เพราะเวลาแตกต่างจากไทยถึง 11 ชั่วโมง ทำให้เวลารับชมมักเป็นช่วงเวลาประมาณ 01.00-03.00 น. อาจทำให้เกิดปัญหาอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย เช่น หงุดหงิดบ่อย อารมณ์เสียง่าย นอนหลับยาก และเมื่อนอนน้อยจึงมีผลต่อสมาธิ มีโอกาสทำงานผิดพลาดง่าย ระบบภูมิคุ้มกันลดลง เจ็บป่วยง่าย ร่างกายอ่อนล้า และหากมีปัญหาสุขภาพจิตก็จะทำให้กำเริบ ทั้งโรคซึมเศร้าและโรคจิตเภท" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว กรมสุขภาพจิต กล่าว
          ด้าน พ.ญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า โรคติดพนัน เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยไม่สามารถต่อต้านความอยากของตนเองได้ เกิดจากสมองส่วนอยาก ทำงานเหนือสมองส่วนคิด ทั้งนี้ สามารถสังเกต 5 พฤติกรรมเสี่ยงของการติดพนันบอล ได้แก่ 1.เชียร์ทุกคู่แม้ไม่รู้จัก 2.สุขภาพย่ำแย่ ตั้งตารอคอยจนไม่หลับไม่นอน 3.รวยผิดปกติ หรือเงินขาดมือ พนันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบทุ่มสุดตัว และไม่สามารถหยุดเล่นได้ แม้จะพยายามหยุดและเลิกก็ตาม ทั้งนี้ อาจทำเรื่องผิดกฎหมายเพื่อหาเงินมาเล่นต่อหรือนำไปใช้หนี้ 4.ฉุนเฉียวง่าย พูดปด ปกปิดเพื่อนหรือครอบครัวเกี่ยวกับการเล่นพนัน หรือขอยืมเงินผู้อื่นไปจ่ายหนี้ เกิดปัญหาสัมพันธภาพระหว่างบุคคล 5.ไม่สนใจการเรียนและการงาน หมกมุ่นอยู่กับการพนันตลอดเวลา เคร่งเครียด พกโพยบอล
 พ.ญ.มธุรดา กล่าวอีกว่า การป้องกันการติดพนันบอล ทำได้โดย 1. บริหารเวลาให้เหมาะสม ในการดูบอล ดูแลครอบครัว ทำงาน และพักผ่อน เช่น ติดตามเฉพาะคู่โปรดหรือนัดสำคัญๆ 2. อย่านิ่งนอนใจ ต้องยอมรับ เปิดใจเข้าหา หากพบว่าตนนอนใจ ต้องยอมรับ เปิดใจเข้าหา หากพบว่าตนหรือคนใกล้ชิดเริ่มมีพฤติกรรมเสี่ยงติดพนันบอล หาโอกาสเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือหยุดการเล่นให้ได้ 3. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งกรมฯ ได้จัดอบรมผู้ให้บริการปรึกษาที่เชี่ยวชาญเทคนิคดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ในการให้บริการปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเครือข่าย 17 โรงพยาบาลและสถาบันในสังกัดกรมสุขภาพจิต โดยปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 : ปรึกษาปัญหาพนัน ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ dmh1323@dmh.mail.go.th
 

บ้านเมือง


  View : 2.23K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 434
 เมื่อวาน 997
 สัปดาห์นี้ 4,607
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 28,542
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 877,710
  Your IP : 3.137.175.83