กรมสุขภาพจิต แนะ “วิธีดูแลใจ-กาย” ทั้งผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ และเจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยเหลือ

            กรมสุขภาพจิต ห่วงใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้และเจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยเหลือ  แนะวิธีการดูแลสุขภาพใจ-กาย   ในกลุ่มของผู้ประสบภัยที่มีกว่า 1 แสนคน ให้ยึดหลัก 6 ประการ อาทิ พักผ่อนให้เพียงพอ      มองโลกในแง่ดีพลิกวิกฤติน้ำท่วมให้เป็นโอกาสดีๆในครอบครัว ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก้เครียด  ส่วนเจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยเหลือ แนะยึดหลักผนึกกำลัง เสริมแรงใจ ขอบคุณ การเชียร์กัน และปลอดภัยไว้ก่อน ช่วยลดเครียดสะสมจากการทำงานได้  

          นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดในภาคใต้ขณะนี้  กรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้โรงพยาบาลจิตเวชและศูนย์สุขภาพจิตที่อยู่ใน จ.สุราษฎร์ธานีและจ.สงขลา จัดทีมจิตแพทย์เอ็มแค็ท (Mental Health  Crisis Assessment and treatment team :MCATT ) วางแผนการให้บริการร่วมกับทีมจิตแพทย์เอ็มแค็ทจากโรงพยาบาลต่างๆในพื้นที่ประสบภัย   เพื่อให้การดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทุกกลุ่มคือครอบครัวที่สูญเสียบุคคลในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง   กลุ่มผู้สูญเสียที่อยู่อาศัย พืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สิน ทั้งที่อยู่ในศูนย์พักพิงและอยู่ในบ้านที่มีน้ำท่วมขัง  และกลุ่มผู้ให้การช่วยเหลือ    เช่น หน่วยบรรเทาสาธารณภัย ตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร บุคลากรสาธารณสุข  ผู้นำชุมชน  เป็นต้น  รวมทั้งผู้ป่วยจิตเวชเก่าที่อยู่ในพื้นที่  เนื่องจากน้ำท่วม อาจทำให้ยาที่กินประจำสูญหาย  อาการกำเริบจากปัญหาขาดยาได้   ในรายที่พบว่ามีปัญหาจิตใจ เช่นเครียดจัด หรือมีอาการซึมเศร้า  จะให้การดูแลอย่างต่อเนื่องจนกว่าอาการจะเป็นปกติ

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า  ในส่วนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขณะนี้ ซึ่งมีประมาณ 160,000 กว่าคน มีคำแนะนำดูแลสุขภาพกายและใจ  6 ประการดังนี้1.ดูแลสุขภาพกาย รับประทานอาหาร และพักผ่อนให้เพียงพอ 2.  สร้างความพร้อมทางจิตใจ มองโลกในแง่ดี มองวิกฤติน้ำท่วมเป็นโอกาสดี ๆในครอบครัว เช่นทำให้ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้า ใกล้ชิดกัน จะช่วยลดความกดดันทางจิตใจได้    3. คิดคลี่คลายปัญหาที่ละขั้นตอนตามลำดับความเป็นจริง  คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตเป็นประเด็นสำคัญที่สุด จากนั้นจึงหาวิธีดูแลทรัพย์สินเท่าที่สามารถทำได้  4. พูดคุยดูแลช่วยเหลือกันทั้งในครอบครัว เพื่อนบ้าน และชุมชน จะช่วยเติมพลังใจกัน  ไม่ด่า ไม่ว่า ไม่ทับถมกัน  5. ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการที่เหมาะสม  เช่น ทำความสะอาด เก็บข้าวของในบ้านให้เป็นระเบียบ  เมื่อที่พักอาศัยน่าอยู่ จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี ลดความเครียดได้ และ 6.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด   เนื่องจากไม่ได้ช่วยคลายเครียด และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเช่นพลัดตกน้ำได้ง่าย    

          ด้านแพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จ.สงขลา  กล่าวว่า ในกลุ่มผู้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยเฉพาะในช่วงวิกฤติ ซึ่งต้องทำงานท่ามกลางความเสี่ยงภัย ภายใต้ความกดดัน แข่งกับเวลา หรือเห็นภาพความทุกข์ยากของผู้ประสบภัย อาจเกิดความเครียดสะสมได้  จึงมีคำแนะนำ 4 ประการดังนี้ 1.ให้ยึดหลักการผนึกกำลัง เสริมแรงใจ ตั้งสติ และหลักความปลอดภัย หากงานต้องดำเนินการต่อเนื่อง ให้สับเปลี่ยนการทำงาน เพื่อลดความล้าทางกายที่ส่งผลทางจิตใจ 2. พักผ่อน นอนหลับ รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ ออกกำลังกาย จะช่วยสร้างพลังทำงานช่วยเหลือคนอื่นได้ดีขึ้น  หากไม่มีเวลาแนะนำให้หลับตา หายใจเข้าออกช้าๆ จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น  3. สร้างบรรยากาศทำงาน กล่าวคำขอบคุณ การเชียร์กัน  แบ่งปันประสบการณ์ในงานให้ผู้ร่วมงาน  แสดงถึงการเข้าใจซึ่งกันและกัน จะช่วยลดอารมณ์หงุดหงิดได้ และ4. หากรู้สึกเหนื่อย ไม่ไหว ขอให้หยุดพักชั่วคราวหรือพูดคุยกับหัวหน้าทีม หรือผู้บังคับบัญชา จะช่วยทำให้พลังการทำงานดีขึ้น       

ในกรณีที่ผู้ให้การช่วยเหลือเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้วย  อาจรู้สึกสองจิตสองใจระหว่างหน้าที่กับเรื่องส่วนตัว  จึงแนะนำให้พิจารณาความจำเป็นและเร่งด่วนในครอบครัว และพิจารณาว่ามีคนในครอบครัวเป็นหลักช่วยดูแลจัดการแทน และสามารถติดต่อความคืบหน้าได้จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น  ทั้งนี้หากยังไม่ดีขึ้น เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ใจสั่น ควรปรึกษาแพทย์ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ หรือโทรสายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง 

                           ****************************       29 พฤศจิกายน 2560

 

  View : 1.94K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,320
 เมื่อวาน 1,376
 สัปดาห์นี้ 7,343
 สัปดาห์ก่อน 6,556
 เดือนนี้ 23,984
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 873,152
  Your IP : 3.144.6.236