รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
อุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก สาเหตุโรคไตเรื้อรังที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ ได้แก่ ไตเสื่อมจากเบาหวาน และภาวะความดันเลือดสูง สาเหตุโรคไตเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็กนั้นแตกต่างจากในผู้ใหญ่ สาเหตุที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่ ความผิดปกติแต่กำเนิดของไต และของทางเดินปัสสาวะ โรคไตชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบันของเด็กอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ รวมถึงโรคไตได้ในอนาคต เช่น การมีกิจกรรมประจำวันส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้พลังงาน การมีชั่วโมงการออกกำลังกายที่น้อยเกินไป การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะสม เช่น การกินอาหารประเภทแป้ง ไขมัน หรืออาหารและเครื่องดื่มรสหวานที่มากเกินไป ทำให้เกิดโรคอ้วน ส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรังตามมาได้ ซึ่งอาจจะพัฒนาต่อไปกลายเป็นไตวายระยะสุดท้ายได้ การตรวจพบความผิดปกติของไตในเด็กและได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่แรกเริ่ม รวมทั้งการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรัง เช่น ภาวะอ้วน พฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่เหมาะสม การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง และชะลอการเกิดภาวะไตวายระยะสุดท้ายได้
ในเด็ก สาเหตุของโรคไตจะแตกต่างกันตามแต่ละช่วงอายุ ในเด็กเล็ก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดในโครงสร้างของไต หรือของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ภาวะอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะเนื้อไตเจริญผิดปกติ ในเด็กโต สาเหตุมักจะเกิดจากภาวะไตอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ไตอักเสบที่เกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอ หรือผิวหนัง โรคเอสแอลอี (ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อตนเองจนทำให้เกิดความเสียหาย)
เด็กที่มีโรคไต อาจมีอาการแสดงต่าง ๆ ให้สังเกตได้ เช่น มีความผิดปกติของปัสสาวะ เช่น สีผิดปกติ สีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ มีปริมาณปัสสาวะน้อย หรือมากเกินปกติ มีการขับถ่ายปัสสาวะบ่อย หรือน้อยครั้งเกินปกติ ต้องเบ่งเวลาถ่ายปัสสาวะ มีปัสสาวะหยดตลอดเวลา หรือมีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ มีท้องโตจากไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะที่ขยายขนาดผิดปกติ มีอวัยวะเพศภายนอกที่ผิดรูป ความดันเลือดสูงจากโรคไตอักเสบ ไตวาย หรือหลอดเลือดไตมีการตีบตัน การเจริญเติบโตช้าจากการทำงานของไตที่เสื่อมลง กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการทำงานของไตที่ผิดปกติในการปรับสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย
โรคไตในเด็กบางชนิดอาจป้องกันได้ตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ โดยที่หญิงมีครรภ์ควรมีการตรวจติดตามและดูแลโดยสูติแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารเคมี หรือยาบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ในวัยที่เริ่มควบคุมการขับถ่าย ให้ฝึกเด็กขับถ่ายโดยวิธีที่เหมาะสม สอนให้ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะที่ใช้ขับถ่ายอย่างเหมาะสม ให้หลีกเลี่ยงภาวะท้องผูก หลีกเลี่ยงขนมหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคความดันเลือดสูง และโรคเบาหวานได้ในอนาคต
นอกจากนั้น พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กที่เป็นโรคไต ควรทำความเข้าใจในโรคไตชนิดที่เด็กเป็น เข้าใจแนวทางการดูแลรักษา เข้าใจประโยชน์และผลข้างเคียงของแต่ละวิธีการรักษาและยาแต่ละชนิด เข้าใจวิธีปฏิบัติตนสำหรับโรคไตชนิดที่เด็กเป็น สำหรับเด็กโตและวัยรุ่น ควรให้เด็กได้ร่วมวางแผนในการใช้ยาและการปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำ คอยเป็นกำลังใจให้แก่เด็ก เป็นที่ปรึกษาให้แก่เด็กเมื่อมีปัญหาในการปฏิบัติ และที่สำคัญ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทุกครั้งเมื่อมีปัญหาในการใช้ยาหรือในการปฏิบัติตน
บทความโดย : รศ.นพ.อนิรุธ ภัทรากาญจน์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์