แยกทางอย่างไรไม่ให้กระทบจิตใจลูกน้อย

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

          สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) แนะแยกทางอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจลูกน้อยที่สุด หลักการสำคัญคือ"อย่าทำเรื่องของพ่อแม่ให้เป็นเรื่องของเด็ก อย่าให้เด็กมีส่วนในการเลือกข้างใดข้างหนึ่ง" เพราะจะมีผลให้เด็กต้องรับภาระเกินตัว จนเกิดความรู้สึกผิด
          ผศ.พญ.ปราณี เมืองน้อย นายแพทย์เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(รพ.เด็ก)กรมการแพทย์ กล่าวว่า หลังหย่าร้างกัน คุณพ่อคุณแม่ต่างขออ้างสิทธิ์ในการดูแลบุตร ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลต่างๆ นาๆ ที่จะทำให้อีกฝ่าย ขาดความน่าเชื่อถือ จนศาลต้องสั่งให้ฝ่ายที่ดูมั่นคง มีความน่าเชื่อถือกว่าได้สิทธิ์ในการปกครองลูกไป และเผลอถ่ายทอดสิ่งไม่ดีของอีกฝ่ายเข้าหูลูก ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม จนอาจทำให้ความคิดของเด็กวัยอนุบาลเกิดความสับสนและคิดว่าคนที่ดูแลตนเองใกล้ชิดอยู่ในขณะนี้ คือคนที่ดีที่สุด ดีกว่าอีกฝ่ายที่ตนเองไม่มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดเหมือนเคย ทำให้เด็กน้อยเผลอคิดว่าอีกฝ่ายไม่สนใจตนเองและได้ทอดทิ้งตนเองไปแล้ว เมื่อต้องให้ข้อมูลกับอัยการหรือทนาย ทำให้เด็กอนุบาลเล่าตามสิ่งที่เด็กเห็นว่าอีกฝ่ายไม่เคยมาดูแลเอาใจใส่
          พญ.ปราณี ให้ข้อคิดกับคุณพ่อคุณแม่ที่มีเรื่องขัดแย้งกัน ใกล้ถึงระยะหย่า หรือหย่าร้างไปแล้ว ว่า เด็กทุกคนรับรู้ได้ถึงความผิดปกติ และเด็กแต่ละคนอาจแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างกันไป เด็กบางรายอาจซน เฮี้ยว ป่วนต่อต้านมากขึ้น บางคนก็ทำทีไม่สนใจ พยายามร่าเริง บางคนก็ซึมเซา แยกตัวแอบร้องไห้ จนถึงขั้นฝันร้าย"  สิ่งสำคัญคือ แยกทางอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจลูกน้อยที่สุด หลักการสำคัญคือ"อย่าทำเรื่องของพ่อแม่ให้เป็นเรื่องของเด็ก อย่าให้เด็กมีส่วนในการเลือกข้างใดข้างหนึ่ง" เพราะจะมีผลให้เด็กต้องรับภาระเกินตัว จนเกิดความรู้สึกผิด
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ สิ่งสำคัญคือพยายามกันลูกออกจากความขัดแย้ง ให้ลูกได้มีโอกาสใช้ชีวิตตามปกติ ช่วยประคับประคองจิตใจ อย่าให้ลูกรู้สึกมีอะไรขาดหายไปจากชีวิต โดยเฉพาะคนสำคัญในชีวิตเช่นคุณพ่อคุณแม่ ควรปรึกษากันก่อนแยกทางด้วยว่าเราจะดูแลลูกต่อไปอย่างไร ที่ดีที่สุดคือให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีโอกาสดูแลลูก โดยต้องระมัดระวังที่จะถ่ายทอดทัศนคติด้านลบที่มีต่ออีกฝ่ายไปยังลูก ไม่ควรแอบซักถามเรื่องส่วนตัวของอีกฝ่ายหรือให้ลูกแอบสืบหรือหาหลักฐานจับเท็จอีกฝ่าย เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่อิสระ อึดอัดใจ ไม่สบายใจ เหมือนทรยศอีกฝ่ายที่แอบมาบอกข้อมูล เด็กบางคนรู้สึกผิด บางคนรู้สึกโกรธ เบื่อหน่ายที่ต้องตอบคำถาม บางคนรู้สึกเศร้าจนไม่กล้าออกไปเล่นสนุกกับเพื่อนๆ เพราะคิดว่าตนเองไม่สมควรสนุกสนานในขณะที่พ่อแม่กำลังทุกข์ใจ
          เมื่อลูกโตถึงวัยประถมที่พอจะคุยเหตุผลได้ ให้ค่อยๆ บอกให้ลูกรับรู้และแยกแยะว่า ความรักระหว่างพ่อแม่กับลูกและความรักระหว่างพ่อกับแม่เป็นคนละส่วนกัน แสดงให้ลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่มีความรักลูกเสมอแม้จะไม่สามารถอยู่รวมเป็นครอบครัวเดียวกันได้ การแยกทางไม่ใช่ความผิดของลูก ควรหมั่นพูดคุยแสดงความรักกับลูกอย่างสม่ำเสมอ
          เมื่อลูกแยกแยะได้ไม่เสียเวลากับการสร้างจินตนาการว่าสักวันหนึ่งครอบครัวเราจะกลับมาเหมือนเดิม จะทำให้เขายอมรับความจริง จนพร้อมที่จะเติบโตตามวัยของตนเอง มีความมั่นใจในตนเองและพร้อมที่จะเปิดรับความสุขในสัมพันธภาพรูปแบบอื่นๆ เช่นความสุขในหมู่ญาติ ความสุขในกลุ่มเพื่อนๆ และเรียนรู้ได้ว่าตนเองมีคุณค่ามากพอที่จะมีความสุขหรือได้รับการยอมรับ แม้สิ่งแวดล้อมหรือบริบทในชีวิตบางอย่างอาจแตกต่างไปจากคนอื่นบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้

กรมสุขภาพจิต


  View : 3.58K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 578
 เมื่อวาน 971
 สัปดาห์นี้ 3,767
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 27,702
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 876,870
  Your IP : 157.55.39.55