กรมสุขภาพจิตแนะเคล็ดลับให้ลูกอยากไปร.ร.รับเปิดเทอม

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี

           เมื่อถึงช่วงเปิดเทอมใหม่ เด็กๆ และพ่อแม่ต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนเป็นครั้งแรก ก็อาจจะเกิดความรู้สึกกลัวที่จะต้องพบกับสังคมที่แตกต่างออกไป ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน
          นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต มีข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกเล็กๆ ว่า ช่วงเปิดเทอมใหม่ หลังการปิดเทอมหยุดยาวกันมาหลายเดือน มักพบว่ายังมีเด็กๆ ส่วนหนึ่งที่ไม่อยากไปโรงเรียน เกิดความทุกข์ใจ หงุดหงิด บางคนไม่เคยไปโรงเรียน พอต้องไปก็เกิดความกลัว พ่อแม่ผู้ปกครองก็เครียดไปด้วย
         อธิบดีกรมสุขภาพจิตแนะเทคนิคให้ลูกอยากไปโรงเรียน ดังนี้ 1.ไม่หนีลูก เพราะไม่เช่นนั้นเขาจะรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง 2.เมื่อพ่อแม่ต้องไปจริงๆ ก็ขอให้กอดและหอมแก้มพร้อมบอกกับลูกว่าจะกลับมารับ 3.พูดให้ลูกสบายใจ เช่น "รักลูกนะ สัญญาจะมารับตอนบ่าย" 4.หากพบว่าบางครั้งลูกร้องไห้กอดแขนขาเรา แบบไม่อยากให้เราไปไหน ต้องกลับมาดูว่าเป็นเพราะปัญหาที่บ้าน หรือเพราะปัญหาที่โรงเรียน ซึ่งต้องปรึกษาหารือกับครู 5.ถ้าลูกร้องติดต่อยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ ต้องหาสาเหตุโดยด่วน ทั้งครู และที่บ้าน ถ้าพยายามแล้วแต่ไม่ได้ผล ให้พาไปพบแพทย์
         แต่ละช่วงวัยปัญหาการไม่อยากไปโรงเรียน จะแตกต่างกัน เด็กเล็กจะเป็นเรื่องของการพลัดพราก ส่วนกลุ่มเด็กโต ที่กำลังศึกษาในชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาจเกิดจากความบกพร่องทางการเรียนรู้ เรียนไม่รู้เรื่อง มีปัญหาการอ่าน การคำนวณ สมาธิสั้น เป็นต้น ทำให้ท้อแท้หมดกำลังใจจะเรียนหนังสือต่อ หากค้นพบว่าปัญหาการเรียนของลูกคือสิ่งใด และสามารถช่วยเหลือแต่เนิ่นๆ สิ่งเหล่านั้นก็จะดีขึ้นทำให้เด็กปรับตัว มีความสุขกับการไปโรงเรียน
         ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรเข้าใจ โดยเฉพาะการพัฒนาการตามวัย ซึ่งธรรมชาติของเด็กแต่ละช่วงวัย จะแตกต่างกัน อย่างเด็กเล็กๆ จะซึมซับบทบาทของพ่อแม่ เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่ผู้ปกครองมักกังวลถึงการร้องไห้ ไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง ก็จะเรียนรู้ปรับตัว
         ส่วนการเรียนรู้ของกลุ่มวัยรุ่น จุดหลัก เป็นการค้นหาอัตลักษณ์ของตนเองว่าอยากจะเป็นอะไร ซึ่งเกราะที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน คือต้องช่วยให้เขาค้นพบความสามารถของตนเอง เพื่อให้เกิดแรงจูงใจอยากจะทำสิ่งนั้นให้ดี โดยพ่อแม่อาจจะเป็นพี่เลี้ยง คอยแนะนำการเรียนให้ค้นเจอ ความชอบของตนเอง ต่อยอดสู่ระดับมหาวิทยาลัย ลดความเครียดจากการสอบ ระบายความรู้สึกที่กดดันไม่ทำให้รู้สึกว่า อยู่คนเดียว เมื่อไหร่ที่เขามีความทุกข์ ก็จะรู้สึกว่าไม่ได้ทุกข์อยู่คนเดียว


 


  View : 1.64K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 1,547
 เมื่อวาน 1,986
 สัปดาห์นี้ 5,518
 สัปดาห์ก่อน 13,224
 เดือนนี้ 24,925
 เดือนก่อน 65,202
 จำนวนผู้เข้าชม 817,576
  Your IP : 3.139.233.73