คัดกรองเด็กพิเศษ จุดเริ่มต้น พัฒนาศักยภาพให้ถูกทาง

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
        ด้วยเจตนารมณ์ที่อยากให้ 'เด็กทุกคนเติบโต และใช้ชีวิตได้อย่างปกติ' ทำให้การ 'คัดกรองเด็กพิเศษ' เป็นสิ่งที่ 'พ่อแม่-ครู-แพทย์' ต้องให้ความสำคัญ เพราะนั่นหมายถึงการนำไปสู่การพัฒนาทักษะ ความสามารถ-จิตใจเด็กได้อย่างเต็มศักยภาพ...
       "มิคกี้" เด็กออทิสติก ผู้มากความสามารถ!
ก่อนอื่น "ไทยรัฐออนไลน์" ขอพาไปรู้จักกับ "มิคกี้" หรือ ด.ช.เบญจพล แก้วงามลอย วัย 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนมีนบุรี
มิคกี้เป็นโรคออทิสติก ด้านการได้ยิน และการสื่อความหมาย อาศัยอยู่กับคุณปู่ "อาคม วชิรโรจน์ประภา" ครูโรงเรียนมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งมิคกี้มีความสามารถด้านการร้องเพลง และสีไวโอลิน ขณะเดียวกันยังเก่งภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์อีกด้วย
        ทุกวันนี้ มิคกี้ได้รับการดูแลจากคุณปู่ คุณครู และแพทย์ ที่วินิจฉัยโรค และจ่ายยาให้สม่ำเสมอ ซึ่งมิคกี้ต้องทานยาวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร รวมถึงคอยติดตามอาการทุกๆ 2 เดือน ขณะเดียวกัน คุณปู่เองก็ทุ่มเทเวลาที่มี และความชอบดนตรีเป็นการส่วนตัว สอนให้มิคกี้เล่น เพื่อพัฒนาทักษะให้เต็มที่
        "เมื่อตอนที่รับมิคกี้มาดูแลต่อ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าโรคออทิสติกเป็นอย่างไร เมื่อเข้าเรียน มิคกี้มีวีรกรรมหลายอย่าง เช่น เข้ากับเพื่อนไม่ได้ และติดเกม ผมเล่นดนตรี ก็เลยค่อยๆ ฝึกเขาให้เล่นดนตรี เริ่มจากกีตาร์ เปียโน แต่ก็ยังไม่ค่อยดีนัก และเขาไม่ชอบ พอมาลองเล่นไวโอลิน พัฒนาการเขาเร็วเลย ซึ่งตอนนี้ก็พยายามฝึกเปียโนอีก รวมถึงให้เรียนเสริมวิชาคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เพราะเขาทำคะแนนได้ดี" คุณปู่อาคม เล่า
        "มิคกี้" เป็นเพียง 1 ตัวอย่างของเป็นเด็กออทิสติกที่มีความสามารถด้านดนตรี และพัฒนาทักษะด้านวิชาการได้ ซึ่งนั่นมาจากการ "ถูกคัดกรอง" และได้รับการดูแลที่ดี จากทั้งพ่อแม่ ครู และแพทย์
        หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมการ "คัดกรองเด็กพิเศษ" จึงมีความสำคัญมากนัก วันนี้ "ไทยรัฐออนไลน์" ขออาสาพาไปรู้จัก และร่วม "ตระหนัก" ถึงปัญหานี้ไปพร้อมๆ กัน
"คัดกรองเด็กพิเศษ" สำคัญแค่ไหน?
        ปัจจุบันยังมีการค้นพบว่า เด็กพิเศษ หรือเด็กที่ครอบคลุม 4 โรค ได้แก่ โรคสมาธิสั้น ออทิสติก ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ยังหลงเหลืออยู่ในการเรียนแบบปกติ ซึ่งในความหมายของกรมสุขภาพจิต และสถาบันราชานุกูล ที่ต้องการสื่อสารนั้น ไม่ใช่เรื่อง "เลวร้าย" หรือ "รุนแรง" แต่เพราะการหลงเหลืออยู่นั้น หมายถึง เด็กมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการดูและพัฒนาความสามารถอย่างเต็มที่นั่นเอง ดังนั้น การคัดกรองเด็กจึงมีความสำคัญอย่างมาก
        นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า ความจริงแล้วกรมสุขภาพจิตมีแผนดูแลประชาชนในทุกกลุ่ม และทุกช่วงวัย แต่หากเป็นการคัดกรองเด็ก จะเน้นช่วงอายุ 6-12 ปี เพราะถึงแม้ว่า แพทย์จะมีการคัดกรองเด็กกลุ่มพิเศษมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้วก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่า ยังมีบางกลุ่มที่อาการไม่แน่ชัด หลุดเข้ามาอยู่ในระบบการเรียนปกติ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเด็กได้ในภายหลัง เช่น ปัญหาในการเข้าสังคม สภาพจิตใจ และทักษะด้านวิชาการ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเน้นการพัฒนาด้านอารมณ์ (EQ) เป็นหลัก เพื่อป้องกันปัญหาในการเรียน และการใช้ชีวิตในอนาคต
 
       ทั้งนี้ จากการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนไทย ปี 2554 พบว่า ค่าเฉลี่ยของนักเรียนทั้งประเทศอยู่ที่ 98.59 ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 100 หรือมากกว่า คาดว่าในปี 2559 จะสามารถถึงเป้าหมายที่วางไว้ นอกจากนี้ จากสถิติพบว่า ประชากรทุก 500 คน จะเป็นออทิสติก 1 คน ส่วนความชุกของโรค LD จะพบร้อยละ 5 ขณะที่แอลดีแฝง หรือกลุ่มที่มีปัญหาด้านการอ่าน มีถึงร้อยละ 10 ของเด็กทั้งหมด ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการเกิดใหม่ต่อปีอยู่ที่ 800,000 คน คาดว่าอัตราการเกิดโรคจะเพิ่มเป็น 40,000 คนต่อปี ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าไปแก้ไข
เช่นเดียวกับ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ที่ระบุว่า ที่จริงการคัดกรองเด็กพิเศษเริ่มต้นมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยกลุ่มเด็กที่เป็นสติปัญญาบกพร่อง ก็จะกรองไปก่อนขั้นแรกในฉีดวัคซีน ต่อมาจะเจอได้ในระยะที่ 2 ท้ายขวบปีแรก และเจอมาก 2-3 ปี คือ เด็กที่ไม่สบตา พาที ไม่ชี้นิ้ว ก็จะกรองไปอีกชั้นหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ก็ยังหลุดรอด เพราะอาการไม่เด่นชัด หรือเป็นเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อเติบโตขึ้น ก็จะเริ่มมีปัญหาแล้ว เช่น เรียนไม่รู้เรื่อง กินอาหารไม่เป็นระเบียบ ดังนั้น การคัดกรองเด็กจึงมี "ความสำคัญ" อย่างมาก ที่ต้องประสานความร่วมมือกันทั้งพ่อแม่ ครู และแพทย์
         "เจตนารมณ์ที่ให้ความสำคัญ เพราะต้องการให้ทุกๆ คน สามารถใช้ชีวิตเหมือนเด็กคนอื่นๆ ได้อย่างปกติ ถ้าเป็นไปได้ เราจะชอบที่สุดเลย ทั้งนี้ เมื่อคัดกรองแล้ว เด็กบางคนสามารถเปลี่ยนได้ บางคนทำไม่ได้ ก็จำเป็นต้องออกมาเรียนเสริมแทน ขาดเลข ก็เรียนเลขเพิ่ม เมื่อครูรู้แล้วก็จะออกแบบการเรียนการสอนให้เฉพาะบุคคล ที่เรียกว่า IEP (Individualized Education Program) นอกจากการช่วยเหลือของครูแล้ว พ่อแม่ และหมอก็มีส่วนช่วยสำคัญในการช่วยเหลือให้สมบูรณ์ได้" พญ.อัมพร กล่าว
"ครู" กุญแจช่วยคัดกรองเด็ก-ออกแบบหลักสูตรเติมเต็ม
          ตามที่ พญ.อัมพร ได้กล่าวไว้ว่า "ครู" เป็นอีก 1 ส่วนสำคัญในการ "สังเกต" และ "ออกแบบการเรียน" ให้กลุ่มเด็กพิเศษ ที่อาจจะหลุดรอดมาจากการคัดกรองตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งเมื่อวันที่ 7 พ.ค.57 ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิต และสถาบันราชานุกูลได้ร่วมกันจัดอบรมครู สังกัด กรุงเทพมหานคร เพื่อให้คัดกรองเด็กพิเศษได้ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเด็ก 4 กลุ่มโรค เพื่อนำไปสู่การสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างความเข้าใจให้กับเด็กคนอื่นๆ ในห้องเรียนด้วย
"ไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสได้พูดคุยกับ "ครูพิเศษ" และ "ผู้อำนวยการโรงเรียน" ถึงการสอน และการคัดกรองเด็ก เริ่มที่ อ.สมเจตน์ สมบูรณ์ศิลป์ ผอ.โรงเรียนการเคหะท่าทราย กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้ใน ร.ร.ของตนเองมีเด็กพิเศษที่แยกออกมาเรียนต่างหากประมาณ 10 คน โดยมีครูพิเศษเฉพาะทาง 1 คน ดูแล ซึ่งมีหน้าที่จัดทำ IEP ให้เด็กแต่ละคน
         "จริงๆ แล้ว เด็กที่บกพร่องมีอยู่ในทุกโรงเรียน เพียงแต่ว่า ร.ร.ไหนจะมีกระบวนการคัดครอง ซึ่งถ้ามีก็จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเด็กๆ โดยปกติแล้วคุณครูทุกคน ดูแลเด็กอยู่แล้ว ก็จะสังเกตพบได้ไม่ยาก พอมาเรียน 2-3 อาทิตย์จะเริ่มมองเห็น ซึ่งตอนสมัครเรียน ถ้าบางคนชัดก็จะคัดเลย แต่ถ้าไม่แน่ใจ จะให้ครูเฉพาะทางมาช่วยวินิจฉัย จากนั้นก็คุยกับผู้ปกครองว่าทราบมั้ยว่าลูกของตัวเองมีอาการแบบนี้" อ.สมเจตน์ กล่าว
          อ.สมเจตน์ยังบอกกับ "ไทยรัฐออนไลน์" อีกว่า บางครั้งก็มีความลำบากอยู่บ้างเวลาที่ต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง เพราะอาการของเด็กจะไม่ชัดเจนมาก แต่โรงเรียนก็จะพยายามทำให้มากที่สุด เพื่อโอกาสของเด็ก
"ถ้าถามว่าเพิ่มภาระมั้ย ตอบแบบเอาใจ คือ ไม่เพิ่ม แต่ไม่เอาใจ คือ เพิ่มแน่นอน แต่มันเป็นหน้าที่ที่เราต้องดูแลเอาใจใส่เขา เพราะครู แปลว่า ต้องทำงานหนัก ถ้าเราไม่ดูแล เด็กจะยิ่งแย่ลงอีก ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น" อ.สมเจตน์ เล่า
 
          อีกหนึ่ง "ครูพิเศษ" ที่มีประสบการณ์ในการสอนเด็กกลุ่มนี้มานาน 10 ปี อย่าง ครูแหม่ม น.ส.ยุพิน แดนติ ครูวิทยฐานะ ชำนาญการ โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ คลองเตย เล่าว่า ห้องเรียนแต่ละห้องจะมีเด็กหลายประเภท จึงจำเป็นต้องรู้จักเด็กก่อน ทั้งพฤติกรรม และความสามารถ โดยเฉพาะถ้าเจอเด็กพิเศษ 4 กลุ่ม จะต้องวิเคราะห์เลยว่า เด็กแต่ละคนมีอะไรโด่ดเด่น มีจุดด้อยอย่างไร จากนั้น จะต้องเสริมเติมในส่วนที่ขาด และพัฒนาส่วนที่มีให้ถึงจุดสูงสุด
          ครูแหม่มยังเน้นหนักไปที่ "ใจรัก-ให้ความเข้าใจเด็ก" จะใช้เพียงแค่ความอดทน อาจจะไม่ยั่งยืน และแก้ปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร ขณะเดียวกัน หากมีความรู้ในการคัดกรองได้ ก็จะยิ่งมีประโยชน์ เพราะครูบางคนมีใจรัก แต่คัดกรองเด็กไม่ได้ สังเกตไม่เป็น แต่ถ้าได้รับการอบรมก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมศักยภาพตรงนี้ได้
          นอกจาก "ใจรัก-ให้ความเข้าใจเด็ก" ครูแหม่มยังบอกอีกว่า การสร้างความเข้าใจกับเพื่อนๆ ในห้องก็มีสำคัญเช่นกัน เพื่อไม่ให้เด็กที่ป่วยนั้นรู้สึกไม่มีเพื่อน หรือเข้าสังคมไม่ได้
"พ่อแม่-ครู-แพทย์" 3 ประสานช่วยเด็กให้สมบูรณ์
          ปัญหานี้ไม่สามารถ "ทิ้ง" ให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ เพราะทั้ง 3 ฝ่ายอันได้แก่ พ่อแม่-ผู้ปกครอง ครู และแพทย์ คือ 3 กลุ่มหลักที่ต้องประสานความร่วมมือในการช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มนี้ เพื่อให้เติบโตในสังคมได้อย่างสมบูรณ์ เหมือนเด็กๆ เพราะการคัดกรองเด็ก นอกจากมีเป้าหมายในการช่วยพัฒนาความสามารถแล้ว "สภาพจิตใจ" ของเด็กก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง
          พญ.อัมพร ระบุว่า การคัดกรองเด็กนั้น ถ้าเจอเร็ว ก็ช่วยได้เร็ว ช่วยได้ถูกทาง เพราะถ้าเจอช้า และเด็กเติบโตแล้ว เด็กจะมีโรคอื่นอีก เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า เพราะไม่มีใครเข้าใจ
         ขณะที่ ครูแหม่ม และอ.สมเจตน์ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โรงเรียนกับผู้ปกครองนั้นสำคัญมาก จะต้องคอยอัพเดตอาการของเด็กๆ พัฒนาการ หากครูดูแลเพียงฝ่ายเดียว เด็กจะไม่พัฒนา
 เพื่อนช่วยเพื่อน ปูพื้นฐาน "คุณธรรม" เล็กๆ ของชีวิต
         อย่างไรก็ตาม "ไทยรัฐออนไลน์" ได้ตั้งข้อสังเกตว่า 3 ประสาน เพียงแค่ พ่อแม่-ครู-แพทย์ อาจจะไม่เพียงพอต่อการช่วยให้เด็กๆ เหล่านี้มีสภาพจิตใจที่ดี และเติบโตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข หากปราศจาก "ความเข้าอกเข้าใจ" และ "การช่วยเหลือ" จากเพื่อนๆ ภายในห้องเรียนเดียวกัน ซึ่ง พญ.อัมพร ได้ให้ข้อคิดเห็นในประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ โดยมองว่า การที่เด็กปกติช่วยเพื่อนพิเศษนั้น จะเป็นการเสริมสร้างคุณธรรมไปด้วยในตัว
        "เด็กๆ หลายคนในปัจจุบัน เวลาที่เจอเพื่อนมีภาวะออทิสติก ผู้ปกครองมักจะบอกว่า อย่าไปเล่นกับเขา เขาเป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้ กลัวถูกรังแก คุณครูช่วยได้ ด้วยการหาบัดดี้ที่ดี ซึ่งบัดดี้ก็มักเป็นเด็กเรียบร้อย เห็นอกเห็นใจ เรียนดี พอเด็กได้คำแนะนำ คำชื่นชมจากคุณครู การทำความดีตรงนี้ก็จะกระจายเป็นเด็กกลุ่มใหญ่ เคยมีเด็กกลุ่มนี้จะมาฟ้อง ไม่มีใครอยู่กลุ่มเดียวกับเขาเลย มาล้อเลียนด้วยคำที่หยาบคายแรงๆ ถ้าครูเข้าไปชี้แจง ทำให้เพื่อนเกิดความเข้าใจกว้างขวาง เด็กที่ได้รับการเข้าใจก็จะเริ่มรู้สึกอุ่นใจ ขณะเดียวกันเด็กที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนก็จะรู้สึกดี ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการให้ และเป็นแหล่งบ่มเพาะคุณภาพเล็กๆ น้อยๆ ได้เลย" พญ.อัมพร กล่าว
         เมื่อมาถึงบรรทัดนี้แล้ว "ไทยรัฐออนไลน์" เชื่อว่า หากทุกๆ ฝ่าย 3 ประสาน บวก 1 คือ พ่อแม่-ครู-แพทย์ และเพื่อนๆ ของเด็ก 4 กลุ่ม ให้ความสำคัญ ให้ความเอาใจใส่ ให้ความเห็นใจ และช่วยกันพัฒนา ชีวิตที่ดี และสภาพจิตใจที่ดีของเด็กๆ ก็จะไม่ไกลเกินเอื้อม...เราจะเดินไปด้วยกัน.

ไทยรัฐออนไลน์


  View : 31.06K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 134
 เมื่อวาน 971
 สัปดาห์นี้ 3,323
 สัปดาห์ก่อน 7,391
 เดือนนี้ 27,258
 เดือนก่อน 57,053
 จำนวนผู้เข้าชม 876,426
  Your IP : 31.13.103.10