โดย ศูนย์ข้อมูลวิชาการ จากเดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม 2554
มีหลายคนสงสัยว่า การคุยโม้ โอ้อวด หรือพูดโกหกเป็นตุเป็นตะบ่อย ๆ อยู่ในข่ายของคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า การคุยโม้โอ้อวดอาจจะเป็นเรื่องจริงแต่เป็นการพูดให้ตัวเองดูมีคุณค่า มีความสำคัญ มีความหมาย มีความสามารถสูงขึ้น แต่การคุยโม้ โอ้อวด เกินจริงก็เข้าข่ายโกหกได้เช่นกัน พฤติกรรมดังกล่าวอาจทำให้เพื่อนฝูงเกิดความเบื่อหน่าย เกลียดขี้หน้า เพราะเป็นการพูดข่มคนอื่น
ส่วนการพูดโกหก เป็นการหยิบเอาเรื่องจริงมาพูดให้เป็นเรื่องไม่จริง หรือเอาเรื่องไม่จริงมาพูดให้เป็นเรื่องจริง ต้องดูว่าการโกหกส่งผล กระทบกับชีวิต หน้าที่ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือไม่ ถ้าไม่สามารถควบคุมได้ โกหกจนเป็นนิสัย กรณีนี้ต้องมองว่าเป็นความผิดปกติที่จะต้องแก้ไข ส่วนจะตรงกับอาการของโรคอะไรต้องว่ากันอีกที
การโกหกมีที่มาหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวรอด หมายความว่า โกหกเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด เช่น ไปทำอะไรบางอย่างแล้วโกหกว่าไม่ได้ทำ โกหกเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์หรือความดีความชอบ และโกหกเพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับมากขึ้น
ในปัจจุบันพบว่า มีเหมือนกันที่พูดโกหกจนเป็นนิสัย จนไม่รู้ว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนเท็จ โดยเฉพาะในยุควัตถุนิยม ความรู้สึกต่อตัวเองเลยด้อยลง ต้องหาอะไรมาทดแทน
อย่างคนที่โกหกว่าบ้านร่ำรวย ทั้งที่ไม่ได้มีเงินทองมากมาย ถ้าโกหกนิด ๆ หน่อย ๆ คงไม่เป็นปัญหาต่อการดำรงชีวิต หรือทำความเดือดร้อนให้กับคนอื่น และไม่ถือว่าเจ็บป่วย อาจเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เฉย ๆ เพราะบางคนก็รู้ว่าตัวเองไม่ได้รวย แต่อยากให้คนเชื่อว่าตัวเองรวย จะได้ชื่นชม ยินดี คนกลุ่มนี้มีปัญหาทางจิตใจ เป็นคนที่ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องทดแทนด้วยการจินตนาการสร้างความเชื่อ หรือความคิดว่าตัวเองวิเศษวิโสกว่าคนอื่น คนกลุ่มนี้มักมีปมด้อย ลึก ๆ หวาดกลัวการไม่ได้รับการยอมรับ ด้วยความจน ความด้อยของตัวเอง ก็เลยสร้างเรื่องขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องไม่จริง แต่โกหกแล้วสบายใจ
กรณีที่โกหกแล้วคุมตัวเองไม่ได้ จนทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะปัญหาทางกฎหมายซ้ำ ๆ ซาก ๆ ก็อาจจะมีความสัมพันธ์กับโรคทางจิตเวชบางโรคได้เช่นกัน อย่างบางคนโกหกว่ามีคนนั้นคนนี้มาชอบ กรณีนี้อาจเข้าข่ายหลงตัวเอง
หากเจอคนที่มีพฤติกรรมคุยโม้ โอ้อวด หรือโกหก ถ้าเขาไม่ทำให้เราเดือดร้อนก็อาจคบหาต่อไป แต่ถ้ามาระรานทำให้เราเดือดร้อน การอยู่ห่าง ๆ จากเขาบ้างอาจจะดีกว่า
ถามว่าคนที่มีพฤติกรรมโกหกจนเป็นนิสัยควรได้รับการรักษาหรือไม่ กรณีเช่นนี้คงต้องใช้วิธีการแก้ไขปรับปรุงตัวเองจะดีกว่า เพราะหากเขาแก้ไขปรับปรุงตัวเอง มันหมายถึงว่า เขาจะได้รับความรักความเข้าใจ มีความสัมพันธ์กับคนอื่นได้ดีขึ้น
สรุปว่า การคุยโม้ โอ้อวด หรือโกหก ล้วนแต่เป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของคนรอบข้าง ปีใหม่แล้วขอให้เลิกซะ.
นวพรรษ บุญชาญ รายงาน